เตรียมความพร้อม สู่ธุรกิจครอบครัวอายุยืน 

18 ก.ค. 2564 | 23:11 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย  อภิศักดิ์กุล  คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ธุรกิจครอบครัวมีความต้องการอย่างหนึ่งที่คล้ายกันคือหวังให้บริษัทของตนเติบโตและพัฒนาต่อไป แต่เมื่อธุรกิจครอบครัวผ่านไปหลายชั่วอายุคน แนวโน้มที่ผลประโยชน์จากความเป็นเจ้าของก็จะถูกแบ่งออกไปให้กับสมาชิกในครอบครัวที่มีจำนวนมากขึ้น จึงมีหลายเรื่องที่ครอบครัวต้องทบทวนและสร้างความชัดเจน

 

เรื่องแรกคือ คำจำกัดความของคำว่าครอบครัว หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ละเอียดอ่อนและจำเป็นต้องแก้ไขในธุรกิจครอบครัว คือการจำกัดความคำว่าครอบครัว เนื่องจากการบริหารความเป็นเจ้าของบริษัทนั้นค่อนข้างง่ายในรุ่นแรกๆ แต่หลังจากเข้าสู่ในรุ่นที่ 4 ด้วยจำนวนคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นจะทำให้จัดการได้ค่อนข้างยาก

 

สำหรับบางครอบครัวการยึดถือตามสุภาษิต "เลือดข้นกว่าน้ำ" จะเป็นตัวกำหนดกรอบการทำงานขององค์กร โดยมอบตำแหน่งให้เฉพาะทายาทสายตรงของผู้ก่อตั้งเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์จากความเป็นเจ้าของ ซึ่งการกีดกันคู่สมรสหรือบุตรบุญธรรมออกจากการมีส่วนร่วมในบริษัทก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

 

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่า การนำสมาชิกในครอบครัวขยายเข้ามาสามารถทำให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงทักษะและความสามารถต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อการเติบโตของธุรกิจได้

 

แต่ถึงกระนั้นการเปิดโอกาสให้บุตรบุญธรรมเข้ามาทำงานในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นลูกเลี้ยงโดยการแต่งงานหรือกระบวนการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมอื่นๆ ก็อาจเป็นเรื่องท้าทายสำหรับธุรกิจครอบครัวบางราย

 

นอกจากนี้บางครอบครัวอาจไม่เต็มใจที่จะมอบหุ้นส่วนให้แก่บุตรบุญธรรมเพราะกลัวว่าจะเกิดปัญหาในภายหลังหากความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ล้มเหลว อย่างไรก็ตามหากธุรกิจครอบครัวต้องการให้บุคคลที่ไม่ใช่ทายาทสายตรงเข้าร่วมในธุรกิจ

เตรียมความพร้อม สู่ธุรกิจครอบครัวอายุยืน 

ก็จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบรวมถึงมีข้อกำหนดในการซื้อ-ขายที่เคร่งครัดเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในบริษัท ซึ่งจะทำให้สามารถซื้อคืนหุ้นได้ง่ายในกรณีที่มีการหย่าร้าง หรือการแยกตัวออกจากครอบครัวด้วยสาเหตุอื่นๆ

 

เรื่องต่อมาที่ต้องพิจารณาจริงจังคือ การสร้างระบบการมีส่วนร่วม มีหลายวิธีที่ธุรกิจครอบครัวจะสามารถกำหนดโครงสร้าง เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนแต่ละรุ่นได้ เช่น การมีคณะกรรมการที่มีข้อกำหนดให้หมุนเวียน มีระยะเวลาที่ชัดเจนในการตัดสินใจ

 

เพื่อลดปัญหาขอขวดการตัดสินใจของบริษัท มีระบบการที่ให้โอกาสตัวแทนของครอบครัวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าไปเป็นสภาครอบครัว/กรรมการบริษัท หรือมีการประชุมผู้ถือหุ้นที่เป็นทางการทุกปี เป็นต้น ซึ่งโครงสร้างเช่นนี้สามารถส่งเสริมการเป็นตัวแทนจากครอบครัวได้

 

นอกจากนี้การวางแผนที่ดีในการจัดทำเอกสารที่ใช้ในการกำกับดูแลองค์กรยังสามารถป้องกันบริษัทจากการหยุดชะงักได้ หากเกิดเหตุการณ์ที่โชคร้ายเกิดขึ้นกับสมาชิก แม้ไม่มีวิธีแก้ปัญหาใดที่สามารถใช้ได้กับทุกธุรกิจครอบครัว

 

แต่ด้วยการคิดและการพิจารณาอย่างรอบคอบ เอกสารการกำกับดูแลองค์กรจะสามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดการกับสถานการณ์เหล่านี้ได้ก่อนที่จะกลายเป็นวิกฤติต่อไป

 

เรื่องสุดท้ายคือ การพัฒนาคนรุ่นใหม่ การฝึกอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกรุ่นใหม่อาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยอาจอยู่ในรูปแบบของการศึกษา และการแต่งตั้งสมาชิกในครอบครัวที่อายุน้อยให้เป็นคณะกรรมการที่มีส่วนได้เสียต่ำ (เช่น คณะกรรมการการกุศล) ซึ่งพวกเขาจะได้รับการฝึกฝนภาคปฏิบัติโดยไม่ต้องเสี่ยงกับผลกำไรของบริษัท

 

อย่างไรก็ตามข้อจำกัดด้านเวลาและระยะทางของสถานที่จัดประชุมคณะกรรมการอาจเป็นอุปสรรคในการมีส่วนร่วมของสมาชิกคณะกรรมการรุ่นใหม่ได้ เนื่องจากธุรกิจครอบครัวหลายแห่งยังคงใช้ข้อบังคับเดิมที่ออกแบบมาก่อนที่จะมีการนำระบบการสื่อสารสมัยใหม่มาใช้

 

แม้การเข้าประชุมด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าร่วมในการประชุมทุกเดือนหรือทุกไตรมาส หากสมาชิกรุ่นใหม่ได้รับกำหนดการของครอบครัวอย่างกระทันหันหรือกำลังทำงานอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจของครอบครัวอยู่

 

ดังนั้นการอำนวยความสะดวกในการประชุมด้วยการประชุมทางไกลผ่านวิดีโอสามารถกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้หากไม่มีการสนับสนุนตามรุ่นวัย บริษัทอาจต้องค้นหาเจ้าของจากภายนอกครอบครัวหรือหารือเรื่องการเลิกกิจการ

 

ซึ่งการสืบทอดธุรกิจโดยคนภายนอกครอบครัวอาจต้องอาศัยการวางแผนและการปรับตัวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในการเปลี่ยนถ่ายหน้าที่การทำงานไปให้กับพนักงานที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว

 

ดังนั้นธุรกิจครอบครัวที่กำลังมองหาการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ควรเริ่มวางแผนล่วงหน้าเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,697 วันที่ 18 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564