ผ่าทางตันด้วยฝันที่เป็นไปได้!

23 ก.ค. 2564 | 22:09 น.

ผ่าทางตันด้วยฝันที่เป็นไปได้! : คอลัมน์ เปิดมุกปลุกหมอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3699 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 25-28 ก.ค.2564 โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล

เพื่อนผมฝันว่า “สักวันข้าจะต้องเป็นนักวิ่งมาราธอนในกีฬาโอลิมปิกให้ได้ ถ้าได้เข้าแข่งขันจริงๆ ก็จะขอวิ่งสบายๆ จะวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนท้ายสุด”

 

ผมร้อง อ้าว! ไปคำหนึ่ง มันแถลงอุดมการณ์อันใหญ่หลวงต่อว่า “คนที่วิ่งเข้าเส้นชัยแรกสุด เขาจะได้รับเสียงปรบมือจากกองเชียร์ประเทศเขาเองเป็นส่วนใหญ่ คนที่วิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนท้ายสุด เขาจะได้รับเสียงปรบมือจากคนชมทั้งในสนาม คนชมเขาปรบมือให้คนแรกว่า เก่งจัง คนชมเขาปรบมือให้คนท้ายสุดว่า นี่ไง…สปิริตนักกีฬา!”

 

เออ…นะ ในมุมนี้ก็จริงของมัน ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ถ้ามีนักกีฬาทีมชาติคนไหนทำแบบนี้ต้องแขวนพระรอดสัก 3 องค์ ไม่งั้นคงจะรอดพ้นจากสหบาทากองเชียร์ได้ยาก

 

มันถามผมว่า “แอบฝันไรอยู่วะ?” ผมบอกว่า “ฝันว่าอยากเป็นเทวดา” มันถามว่า “เพื่ออะไร?” ผมแถลงปณิธานอันใหญ่หลวงกับมันสั้นๆว่า “จะได้ไม่ต้องอาบน้ำ!” (ฮา!)


 

ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกมีชาวฝรั่งเศส ชื่อ นายฟรังซัว  อังรี ตุรแปง (Turpin) บันทึกไลฟ์สไตล์ชาวสยามไว้หลายดอก อาทิ จุดอ่อนของชาวสยาม คือ เป็นคนเฉื่อยชาเกียจคร้านอันแก้ไม่หาย ย่อท้อ ไม่ชอบทำอะไรที่ลำบากยากเย็น ไม่ชอบทำของยาก ไม่ยินดียินร้าย ไม่ลุกลี้ลุกลน ไม่ออกกำลังบริหารร่างกาย เพราะว่าทำให้เหน็ดเหนื่อย ชาวสยาม เป็น ศัตรู กับ ความเหน็ดเหนื่อย และ ความยากลำบาก ดูเหมือนจะมีชีวิตอยู่เพื่อจะกินและสืบเผ่าพันธุ์เท่านั้น (ฮา!)

 

คนสยามมักจะเหลาะแหละไม่ยอมรับหลักการและผลที่เกิดจากหลักการ จิตใจไม่ค่อยได้รับการฝึกฝน จึงไม่เคยแยกว่า อะไรดีและอะไรดีที่สุด ประพฤติโดยไม่นึกจะคิดไตร่ตรองหาเหตุผล มักจะเป็นนายที่กระด้างไม่ค่อยรู้วิธีบังคับบัญชาคน

 

จุดแซ่บจี๊ดทะลวงใจที่สุดคือ ถ้อยคำร้อยองศาที่ ตุรแปง จี้ตรงๆ ลงบนหูดในสมองว่า การศึกษาของสยามขาดวิชารู้จักคิดหาเหตุผล คนสยามพยายามจะไม่คิด เพราะว่า ความคิดทำให้เหน็ดเหนื่อย!

 

ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า ถ้าผมคิดจะมีแฟน ก่อนจะตกลงปลงใจให้ตรวจสอบความคิดเธอสักนิดลองถามเธอว่า 2 คูณ 2 เท่ากับ เท่าไหร่? ถ้าเธอตอบว่า 4

 

แสดงว่า หัวคิดเธอถูกกักบริเวณอยู่ในกรอบถ้าเธอตอบว่า 2 x 2 = 2 + 2  2 x 2 = 4 x 1  2 x 2 =   ยกกำลัง 2 2 x 2 = 8 ÷ 2  2 x 2 = 8 - 4  2 x 2 = √16 ให้สันนิษฐานไว้ 2 สถาน หนึ่ง เธอแตกฉานมาก สอง เธอบ้าไปแล้ว (ฮา!)

                              ผ่าทางตันด้วยฝันที่เป็นไปได้!

ผมมีความเห็นว่า ไลฟ์สไตล์นอกกรอบ ไม่จำเป็นต้องถีบใครออกจากกล่อง ให้เขาอยู่อย่างมีความสุขในกล่อง ขอเพียงแค่นำเข้า ชุดความเชื่อที่สร้างสรรค์และเหมาะสม มาใช้ในกล่อง กล่องใบนั้นก็จะเปลี่ยนไป


 

คิดนอกกรอบ คือ การฝันถึงวิธีที่ต่างจากเดิมโดยไม่ทิ้งเป้าหมายที่มุ่ง และแก่นสารของเรื่องที่หมายจะทำ

 

แนวคิดเรื่องนี้นักบริหารไม่รู้ไม่ได้ ย้อนอดีตไปหลายเฮือก บริษัทจะเชิญผมบรรยายให้ หัวหน้างาน ฟังเกี่ยวกับการบริหารเชิงกลยุทธ์ การจัดการภายใต้ข้อจำกัด ทศวรรษนี้ เริ่มเน้น การบริหารเชิงสถานการณ์ กันมากขึ้น

 

หมอ Gen B รักษาคนไข้ตามสาเหตุของโรคที่เช็คได้ว่าเป็น แต่เดิมจ่ายยายอดนิยมยี่ห้อเหวี่ยงแหกินแล้วเกิดอาการข้างเคียง ต่อมา หมอ Gen Y รักษาคนไข้ตามอาการของโรค มุ่งตรงต่อผลแต่ละอาการที่เกิดขึ้นหรืออาการที่เกี่ยวข้องกับโรค ไม่ได้มุ่งครอบจักรวาลดิ่งไปที่สาเหตุของโรคแต่เพียงจุดเดียว คนไข้ชื่นชมกันยกใหญ่ว่าหมอเปลี่ยนจากดักแด้มาเป็นผีเสื้อกันแล้ว

 

ผมอ่านบทความของ อ.พัฒนะ มรกตสินธุ์ เล่าความคิดไว้ว่า 1 2 3 4 ได้ผลลัพธ์เท่ากับเท่าไหร่? คำตอบเสื้อโหลคือ 10 อาจเป็นคำตอบที่ถูก แต่ก็อาจจะไม่ใช่ 10 เพราะว่า โจทย์ไม่ได้กำหนดวิธีคำนวณไว้ถ้าจะตอบว่า 1 + 2 + 3 + 4 = 10 1 + 2 + 3 - 4 = 2 1 + 2 + 3 x 4 = 24 1 + 2 - 3 + 4 = 4 1 x 2 x 3 x 4 = 24 1 + 2 x 3 x 4 = 36 ถือว่าใช่ทั้งสิ้น

 

คำถาม เปิดประตูปล่อยแมว แบบนี้ เป็นคำถามที่คนไทยชอบ จะตอบแมวๆ แบบไหนก็ได้ ไม่มีเงื่อนไขแข่งขันกดดันให้สู้กับคู่แข่ง อย่าไขว้เขวเฮฮาว่าคำถามนี้กระจอก คำถามทำนองนี้ เขาเปิดโอกาสให้เราแข่งขันกับตัวเราดูว่า เราจะถูลู่ถูกังลากสมองไปได้สักกี่น้ำ

 

การเปลี่ยนแปลงกรอบไลฟ์สไตล์ภายใน 7 ก้าว ของ เยอรมนี เคนท์ เธอ แนะว่า ฝันมัน จินตนาการถึงมัน คิดดู ปลูกมัน กลายเป็นมัน ใช้ชีวิต เป็นเจ้าของมัน

 

หลักใดๆ ถ้าใช้อย่าง ฉลาด และ สะอาด เห่กันไม่จบ