หลังจากที่ผมได้กลับมาจากการไปร่วมงานพิธีรับปริญญาของบุตรชาย ผมก็ได้ดำเนินธุรกิจตามปกติ จนกระทั่งวันหนึ่ง มีอาจารย์แพทย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ได้แวะมาเยือนผมที่บ้าน ในช่วงหนึ่งของการสนทนา ท่านได้พูดกับผมว่าอีกไม่นาน ท่านจะเกษียณอายุแล้ว ท่านยังไม่อยากอยู่ว่างเปล่าโดยไม่ได้ทำงาน แต่ไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรดี เพราะชีวิตนี้ทั้งชีวิต ก็ประกอบอาชีพเดียวคือ “หมอ” ผมเลยเล่าให้ท่านฟังว่าผมได้ไปเห็นธุรกิจบ้านพักคนวัยเกษียณ น่าสนใจมากๆ ท่านจึงฟังผมเล่าเรื่องราวที่ผมได้ไปดูโรงเรียนสอนผู้บริบาลของคุณ อีบิซังมา ท่านสนใจมาก เพราะท่านบอกผมว่าเป็นอาชีพที่จะมารองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่กำลังเริ่มจะเข้ามาสู่สังคมไทยแล้ว (ช่วงที่สนทนานั้น อยู่ในปี 2552-53) และท่านได้ถามผมว่าสนใจธุรกิจนี้หรือเปล่า ผมเลยคิดว่าน่าสนใจนะ แต่ถ้าจะทำธุรกิจ ที่นอกไลน์ที่ผมทำอยู่ ต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ให้ดีที่สุดก่อน
หลังจากวันนั้น อาจารย์หมอก็เริ่มต้นไปพูดคุยกับเพื่อนๆที่เป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน ทุกท่านต่างก็สนใจในธุรกิจนี้เช่นกัน ส่วนตัวผมเอง ก็ได้ไปคุยกับเพื่อนๆเช่นกัน ทุกคนจึงได้รวมตัวกันทานข้าวกัน เพื่อประชุมเบื้องต้นกันก่อน สรุปพวกเราหลายท่าน จึงได้ลงความเห็นว่า ควรจะเข้าไปดูงานที่ญี่ปุ่นเพิ่มเติมอีกครั้ง ผมจึงได้จัดทริปเดินทางเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไปอย่างเป็นทางการ ซึ่งเราไปกันสิบกว่าท่าน และได้เดินทางไปที่เมืองสึซึกะ จังหวัดมิเอะ และไปดูงานทั้งหมดสี่แห่งด้วยกัน ซึ่งแต่ละแห่งก็เป็นของเพื่อนๆผมทั้งหมด แต่ครั้งนี้เป็นการดูงานเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ และมีนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมเดินทางไปด้วย ดังนั้นการซักถามรายละเอียดต่างๆ ผมก็เลยได้รับความรู้ไปด้วย
สิ่งที่แปลกใหม่สำหรับผม คือเมื่อไปดูงานบ้านพักคนวัยเกษียณของคุณอีโต้ซัง เมื่อไปถึงที่นั้น ก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี โดยอีโต้ซัง อดีตท่านเป็นแพทย์มาก่อน พอท่านเกษียณอายุ ท่านจึงได้มาดำเนินธุรกิจนี้ ในขณะที่เราไปดูงานที่ท่าน ท่านได้มีอายุแปดสิบกว่าปีแล้ว แต่ท่านยังกระฉับกระเฉงมาก ท่านพาพวกเราเดินดูสถานที่ด้วยตัวท่านเองเลย บ้านพักดังกล่าวมีความสูงสามชั้น แต่ละชั้นมีการแบ่งแยกลักษณะของผู้พักที่ชัดเจนมาก โดยท่านจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ ที่จริงท่านเรียกว่า “คลัสเตอร์” แต่วันนี้ที่ประเทศไทยถ้าพูดถึงคลัสเตอร์ ทุกคนคงจะนึกถึง คลัสเตอร์ของโรค COVID-19 ไปเสียหมด เลยขอเรียกเป็นกลุ่มๆดีกว่าครับ แต่ละกลุ่มจะจัดให้ผู้พักที่เป็นเพศเดียวกัน โรคประจำตัวแบบเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการดูแลรักษานั่นเอง และแต่ละกลุ่มอยู่รวมกันแค่ 9 ห้องๆละหนึ่งคน ดังนั้นจึงไม่แออัดจนเกินไป ภายในกลุ่มจะมีห้องสันทนาการ ซึ่งเป็น ห้องนั่งเล่น และมีห้องประกอบอาหารเล็กๆง่ายๆ ที่ไม่ได้ใช้แก๊ส และมีผู้บริบาลประจำหนึ่งคน ผู้ช่วยผู้บริบาลอีกหนึ่งคน รวมสองคนไว้คอยดูแลความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุไปด้วย ทั้งคอยจัดการอาหารการกิน จัดการทุกๆเรื่องที่ผู้สูงอายุต้องการ
ในห้องสันทนาการก็จะมีโต๊ะใหญ่พร้อมเก้าอี้ 10 ตัววางไว้กลางห้อง ที่น่าสังเกตคือผู้สูงอายุที่นี่ ล้วนแล้วแต่อายุมากๆทั้งนั้น ดังนั้นจึงเห็นผู้สูงอายุบางท่านนั่งบนเก้าอี้รถเข็นแล้ว บางท่านก็ถือเครื่องช่วยพยุงเดินด้วย บางท่านก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดี แต่ทุกท่านก็ได้รับการดูแลอย่างดี การรวมตัวบนโต๊ะกลางห้องในวันนั้น ผมได้เห็นมีการสอนวาดภาพของผู้บริบาล ซึ่งมือของผู้สูงวัยบางท่านที่ใช้หยิบดินสอก็ไม่ค่อยจะสะดวกเท่าไหร่ แต่ก็พยายามหยิบจับขึ้นมาวาดรูป รูปภาพที่ได้ออกมาก็ไม่ได้สวย แต่ก็ต้องบอกว่าท่านก็พยายามอย่างเต็มความสามารถของท่าน ก็มองจากสีหน้าของท่าน ดูเหมือนว่าท่านจะชื่นชมในฝีมือของตนเองไม่น้อยเลยครับ
มีอีกห้องที่เราได้ไปเยียมชม ซึ่งเป็นห้องสำหรับที่เป็นผู้สูงวัย ที่เป็นผู้หญิง เห็นผู้บริบาลกำลังสอนการพับกระดาษเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โอ ริงามิ” ซึ่งเขาจะใช้กระดาษที่มีสีสันหลากสี มีความสวยงามมาก ที่น่าสนใจคือมีบางท่านที่กำลังพับนกกระเรียง ที่เป็นสัญญาลักษณ์สัตว์ประจำชาติของญี่ปุ่นอยู่อย่างคล่องแคล่วและมีความสุขมาก บางท่านก็กำลังพับเป็นรูปปลา บางท่านก็พับเป็นรูปเต่า บางท่านก็พับเป็นรูปกบเป็นต้น ผมก็ได้เข้าไปสนทนากับผู้สูงวัยท่านหนึ่งหรือ “โอบาซัง” และพูดว่า “นกกระดาษที่พับสวยนะครับ ท่านจะเอาไปทำอะไรเหรอ ขอผมไปเป็นที่ระลึกสักชิ้นได้มั้ยครับ” ท่านก็ให้นกกระเรียงผมมาหนึ่งตัว และบอกว่าอีกไม่กี่วันจะมีเทศกาลบูชาที่ศาลเจ้าประจำเมือง ท่านจะนำเอาไปผูกไว้ที่ต้นหลิวที่ศาลเจ้า เพื่อขอพรให้คุ้มครองผู้คนในเมืองนี้ ก็น่ารักดีนะครับ
ในวันนั้นเราเยี่ยมชมสถานบริบาลผู้สูงวัยอยู่เกือบสามชั่วโมง และยังได้ฟังคำบรรยายจากคุณหมออีโต้ซัง ที่กรุณามาเล่าถึงประสบการณ์ของท่านให้ฟังด้วยครับ อาทิตย์หน้าผมจะเล่าถึงสถานบริบาลอีกแห่งให้ฟังนะครับ ซึ่งแห่งนั้นก็มีสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยครับ เราจะได้รู้ว่าที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น เขามีสถานที่เช่นนี้ไว้คอยรองรับชีวิตของผู้สูงวัยอย่างไรครับ