ถึงเวลาต้องล็อกดาวน์ เข้มข้นสูงสุด

29 ก.ค. 2564 | 01:25 น.

บทบรรณาธิการ

     ได้เห็นยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ครบ 14 วัน นับจากที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้มข้น 13 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม เป็นต้นมานั้น ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า มาตรการล็อกดาวน์ระยะสั้น ไม่สามารถควบคุมการแพ่ระบาดของไวรัสโควิดได้ ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังพุ่งสูงอยู่ในระดับเกินกว่า 15,000 คนต่อวัน และมีแนวโน้มว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันจะพุ่งขึ้นสูงอีก แม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ จะมีผลไปถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ก็ตาม

     ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พุ่งขึ้นสูงนี้ หากมองแบบที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก เอาแค่มาตรการขอความร่วมมืองดออกจากบ้าน หรือ ให้ทำงานอยู่ที่บ้าน คนส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความร่วมมือ ประเมินได้จากรถยนต์ยังวิ่งเต็มถนน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล เมื่อประชาชนยังออกจากบ้านได้อยู่ เราจึงได้เห็นตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อยังพุ่งขึ้นสูงอยู่ แม้จะมีมาตรการล็อกดาวน์ก็ตาม    

     หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็น โดยเฉพาะกลุ่มบุคลาการทางการแพทย์  มาตรการล็อกดาวน์ระยะสั้นและมาตรการที่นำมาใช้ยังไม่เข้มข้นพอ จึงทำให้ในแต่ละวันมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจะนำไปสู่การล่มของระบบสาธารณสุข ที่ไม่สามารถจัดหาสถานที่ อุปกรณ์ และบุคลากร ที่เพียงพอ จะมารองรับจำนวนผู้ป่วยได้    

     ขณะที่รัฐบาลยังห่วงกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น เลือกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดแบบเบาบาง ไม่สอดคล้องความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิดที่กลายพันธุ์ ที่แพร่กระจายและติดเชื้อได้รวดเร็ว ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้มาตรการเข้มงวดสูงสุด เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด เนื่องจากจะส่งผลดีอย่างมากต่อการป้องกันระบบสาธารณสุขที่กำลังจะล่มสลายหรือรับมือไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

     ที่สำคัญยังเป็นการช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เพราะถ้าระบบสาธารณสุขล่มสลายแล้ว จะเกิดการระบาดของโรคอย่างรุนแรง และจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอย่างก้าวกระโดด

     การประกาศมาตรการเข้มข้นสูงสุด หรือ การล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ จะทำให้ตัวเลขการติดเชื้อและเสียชีวิตลดลง เพื่อจะได้มีเวลาเร่งระดมฉีดวัคซีน จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หลังจากนั้นถึงมาผ่อนคลายมาตรการต่างๆในภายหลัง 

     ถ้าประกาศมาตรการเข้มข้นสูงสุดช้าไป จะเกิดผลเสียหายต่อระบบสาธารณสุข การเจ็บป่วย การป่วยหนัก และชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีคนกล้าออกจากบ้านมาทำมาหากิน เพราะกลัวการติดเชื้อ หาโรงพยาบาลรักษาตัวไม่ได้ เงินที่มีอยู่ก็นำออกมาใช้เท่าที่จำเป็น เมื่อกิจกรรมเดินต่อไปไม่ได้ ผลสุดท้ายก็จะมาสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศล่มไปด้วย

     ถึงวันนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ว่าจะเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ หรือจะยังคงปล่อยให้สถานการณ์วิกฤติครั้งนี้เดินหน้าต่อไป เพราะหลายฝ่ายออกมาเตือนแล้ว ถ้ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดยังเป็นอยู่เช่นนี้ เราก็จะได้เห็นถึงการล่มสลายของระบบสาธารณสุข ควบคู่ไปกับการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจเช่นกัน