สิทธิพิเศษของผู้สูงวัย

31 ก.ค. 2564 | 01:19 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2564 | 08:24 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อหลายวันก่อน ผมได้รับโทรศัพพ์จากเพื่อนรักท่านหนึ่ง โทรมาเล่าให้ผมฟังว่า “คุณรู้มั้ยว่าผมขึ้นรถเมล์สาย....พอผมจะชำระค่าโดยสาร กระเป๋ารถเมล์ก็ถามผมว่า ลุงๆ อายุเท่าไหร่แล้ว” ผมจึงบอกเขาว่า กระเป๋ารถเมล์คงจะเห็นสภาพคุณมั้ง เขาถึงได้เรียกคณว่าลุง เขาตอบว่า “พอผมตอบว่า 65 ปีแล้ว” กระเป๋ารถเมล์บอกว่า “ลุงเก็บเงินไว้เถอะ ทางเราไม่เก็บเงินผู้สูงอายุหรอก ฟรี...”  เฮ้อ...พอเราย่างเข้าสู่อายุหกสิบปี สิ่งที่เราจะได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาลและผู้คนทั่วไป นั่งรถสาธารณะก็ได้ลดครึ่งราคา ทำอะไรก็พิเศษไปหมด ซึ่งบอกตรงๆว่าผมไม่ค่อยอยากจะได้รับสิทธินั้นเลย นั่นทำให้ผมรู้สึกว่าแก่แล้ว ผมยังรู้สึกว่าผมยังกระฉับกระเฉงอยู่เลย
      

ผมเชื่อว่าไม่ว่าที่ไหนในโลกนี้ เขาต้องให้สิทธิพิเศษกับผู้สูงวัยเป็นธรรมดา แต่หากเราจะมองดู ผู้สูงวัยแม้จะได้สิทธินั้น แต่ผู้ที่จะได้มากกว่านั้น คือผู้สูงวัยที่เป็นผู้พิการนั่นเอง สถานบ้านพักผู้สูงวัย หรือบ้านพักคนชราในประเทศญี่ปุ่น ที่ผมไปเยี่ยมชมเป็นแห่งที่สองนี้ เป็นของเพื่อนในสโมสรโรตารี่ที่เป็นคู่มิตรกับสโมสรที่ผมสังกัดอยู่ ซึ่งเป็นแห่งที่สองที่เราไปเยี่ยมชม ในการไปดูงานครั้งนี้ ที่นี่มีความพิเศษกว่าที่อื่น เพราะสถานที่นี้เขามีการแบ่งเอาผู้สูงอายุที่มีอาการเจ็บป่วยในโรคเดียวกัน มาพักอยู่ในกลุ่ม(คัสเตอร์)เดียวกัน ที่เห็นอยู่มีหลากหลายอาการป่วย แต่ที่เช่นกัน ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือกลุ่มที่มีอาการป่วย “อัลไซเมอร์” ครับ กลุ่มที่เราเข้าไปดูนั้น เป็นการแยกออกจากกลุ่มอื่นๆโดยสิ้นเชิง โดยจะทำประตูที่ใช้รหัสในการล็อคประตูทั้งด้านนอกและด้านใน ผมถามผู้บริบาลที่พาเราเข้าไปชมว่า ทำไมต้องทำประตูที่พิเศษกว่ากลุ่มอื่นๆ เขาบอกว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยอาการหนัก ทั่วๆไปความจำจะไม่มีหลงเหลืออยู่แล้ว เวลาเดินออกไปข้างนอก มักจะหาทางกลับบ้านไม่เจอ ดังนั้นทางสถานที่นี้จะไม่อนุญาตให้ผู้สูงอายุลักษณะนี้ออกไปข้างนอกคนเดียวเด็ดขาด แต่ก็อีกแหละส่วนใหญ่มักจะชอบออกไปโดยพลการ ไม่บอกให้ใครรู้เสียด้วยสิ ดังนั้นจึงต้องทำประตูที่ใช้รหัสมาเป็นที่ป้องกันไม่ให้ผู้พักในนั้นออกมาข้างนอกได้ ผมก็พูดว่า เขาสามารถเปิดประตูออกไปได้เองก็ได้นี่ครับ ผู้บริบาลบอกว่า เลขรหัสสามตัวขึ้นไป ผู้สูงวัยที่มีอาการอัลไซเมอร์ ก็จะจำไม่ได้แล้ว ถ้าเขาจำได้ก็แสดงว่าเป็นบุคคลที่หายป่วยเป็นปกติแล้วละ 

หลังจากที่เดินเข้าไปเยี่ยมชมเข้าไปด้านใน ผมเห็นมีผู้สูงอายุท่านหนึ่ง พูดจาด้วยอาการกรรโชกโฮกฮากมาก แต่ผู้บริบาลที่ดูแลอยู่ ก็ไม่ได้แสดงกริยาอาการอะไรตอบโต้เลย  ผมจึงกระซิบถามผู้บริบาลว่า มีความรู้สึกว่าเขากำลังโกรธอะไรเหรอ เขาตอบว่า ไม่มีอะไรหรอก นั่นเป็นอาการปกติธรรมดาของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เพราะส่วนใหญ่ของอาการ บางครั้งเขาจะควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ บางครั้งก็มีหยิกข่วนผู้บริบาลบ้าง บางครั้งก็ทุบแขนบ้าง เป็นเรื่องปกติมาก ดังนั้นผู้บริบาลทุกคนต้องใช้ความอดทนในการให้การดูแลตลอดเวลา ทุกคนต้องคิดไว้ในใจเสมอว่า ผู้สูงวัยเหล่านั้นมีอาการไม่ปกติ เพราะท่านแก่แล้ว ต้องให้สิทธิพิเศษแก่ท่าน 
        

ห้องต่อมาที่ทางผู้บริบาลพาคณะของเราไปเยี่ยมชม คือห้องสำหรับผู้สูงวัยที่อยู่ในอาการติดเตียง ซึ่งผมเองก็เคยพบเห็นในสถานพยาบาลใประเทศไทยมาก่อน แต่ครั้งนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นไม่เหมือนกับประเทศไทยหลายอย่าง แม้จะเป็นลักษณะเดียวกันกับที่ประเทศไทย แต่อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับดูแลผู้สูงวัยติดเตียงนั้น ค่อนข้างจะเป็นอุปกรณ์อัตโนมัติมากกว่าที่ใช้ในประเทศไทยครับ การจัดวางเตียงก็ไม่แออัดเหมือนที่ผมเคยเห็นในบ้านเรา ที่นั่นเขามีการกำหนดให้จำนวนผู้ป่วยติดเตียงต่อผู้บริบาลในอัตราส่วน 4:1 เพื่อให้มีการดูแลอย่างทั่วถึงนั่นเองครับ ซึ่งในบ้านเรา ผมเห็นบางแห่งเขาไม่ค่อยจะคำนึงถึงสัดส่วนนี้เท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะว่าต้องการลดต้นทุนกระมั้ง

หลังจากดูเสร็จ เดินลงมาเดินผ่านห้องโถงใหญ่ จะเห็นเวทีที่มีการแสดงของนักดนตรี กำลังบรรเลงดนตรีอยู่ ผมถามว่า ดีจังเลยนะ ลงทุนจ้างนักดนตรีมาเล่นให้ผู้สูงอายุด้วย เขาตอบว่า ที่มาแสดงอยู่นั้นเป็นอาสาสมัคร เขามาแสดงให้ฟรี เหมือนเป็นการกุศลนั่นแหละ ต้องบอกว่าดีมากเลยครับ เสียดายที่ผมยังไม่อยากได้สิทธิพิเศษในการใช้บริการ เพราะยังไม่อยากแก่ครับ