รูปแบบธุรกิจ “อุ้มผ่านกำแพง”

08 ส.ค. 2564 | 03:19 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2564 | 10:27 น.

คอลัมน์เล่าตามที่เห็น พูดตามที่คิด โดยดร.สมชาย หาญหิรัญ สมาชิกวุฒิสภา

การแข่งขันในโลกธุรกิจทุกวันนี้ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็จะเจอคู่แข่งรอบทิศ นอกจากจะยากที่จะลงสนามแล้ว แต่ถ้าสามารถออกแบบธุรกิจตัวเองได้ ไม่ว่าสินค้า วิธีการ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ พอที่จะลงสนามฟาดฟันกับเขาได้ และทำท่าจะไปได้ดี แป๊ปเดียว ก็มีคู่แข่งมาเพียบ บางรายใหญ่กว่า เก่งกว่า เงินหนากว่า เทคโนโลยีดีกว่า ก็ทำให้คนเก่งตัวเล็กหน้าใหม่


หลายคนไปไม่ถึงฝัน ทำให้สตาร์ทอัพที่เกิดใหม่ ๆ และประสบความสำเร็จจึงมีอัตราต่ำมาก นี่คือ ความจริงของโลกทุนนิยมเสรีที่โหดร้าย
ความโหดร้ายของโลกทุนนิยมเสรีนั้นไม่เลือกว่าเราจะเล็กหรือใหญ่ หากเราไม่ทันคนอื่น เราก็พังพาบไปได้ง่าย


ยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายรายเป็นตัวอย่างที่ดีให้เรามาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Kodak หรือ Motorola แม้แต่ Nokia ยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่งของโลกมือถือ ที่เคยสร้างรายได้คิดเป็นกว่าครึ่งของ GDP ของฟินแลนด์มาแล้ว วันนี้ยังหายออกไปจากตลาดเฉย ๆ ไม่ใช่ค่อย ๆ หายไป แต่หายไปแบบแว่บเดียว เพราะเพียงแค่คิดผิดว่าคนอื่นไม่เก่งเท่าตน เท่านั้นเอง 


บทเรียนเหล่านี้ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่พยายามดิ้นรนที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเสมอ สร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาตลอด ซึ่งก็ไม่ง่ายสำหรับองค์กรขนาดยักษ์ เพราะต้นทุนสูง แรงจูงใจในการทำก็น้อยกว่าตอนที่ตนเองต้องดิ้นรน ยิ่งบริษัทขนาดใหญ่ที่ครองตลาด ครองใจลูกค้า ยอดขายมากมาย ยิ่งทำให้ขาดแรงจูงใจ สมองตื้อมากขึ้น ใจไม่กล้าจะออกจากเขตสบายใจของตนเอง


ทำอะไร เอาความสามารถที่ตนเองมีอยู่เป็นตัวตั้งต้นในการคิด ทำให้ไปไม่ไกล และหลายบริษัทเริ่มแสดงอาการล้าและถดถอยให้เห็น ดังนั้น ต้องทำให้ตัวเองมีความกระหายและสู้ขาดใจทุกนาทีเหมือนสตาร์ทอัพอีกครั้ง หลายบริษัทจึงกลับไปใช้กลยุทธ์ ”เป็นสตาร์ทอัพอีกครั้ง”
 
 
แต่การที่จะให้ตัวเองคิดและทำแบบสตาร์ทอัพในองค์กรขนาดใหญ่กับคนในองค์กรนั้นไม่ง่าย ไม่มีแรงจูงใจ และสู้แบบเลือดตากระเด็น ทำให้หลายบริษัทออกกลยุทธ์ลงทุนร่วมกับสตาร์พอัพ (Venture Capital) ในรูปแบบการให้ทุนพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ อาจจะใหม่แตกไลน์ธุรกิจ หรือเป็นกิจการที่โยงกับธุรกิจตัวเอง โดยการดำเนินการเองของสตาร์ทอัพ หรืออาจสร้างหน่วยธุรกิจใหม่ของตนเองออกมาจากองค์กร มีระบบการบริหาร การตัดสินใจโดยตนเอง แต่สามารถใช้ระบบนิเวศของตนเองที่มีมากมายมาสนับสนุน ซึ่งยิ่งทำให้สตาร์ทอัพมีโอกาสได้เปรียบคู่แข่งมากขึ้น 

รูปแบบนี้ทำให้สตาร์ทอัพหลายรายสามารถทะลุกำแพงการผูกขาดในธุรกิจด้านการตลาด เทคโนโลยี หรือทุนที่ยักษ์ใหญ่เจ้าของตลาดกันไว้อยู่ เพราะสตาร์ทอัพรายใหม่ที่เข้ามามียักษ์ใหญ่อีกตน (และได้ประโยชน์ร่วม) คอยช่วยเหลืออยู่ ในขณะเดียวกันบริษัทพี่เลี้ยงก็สามารถได้ประโยชน์จากสตาร์ทอัพและธุรกิจใหม่เหล่านี้ในการสนับสนุนธุรกิจหลักของตนเองได้ ทั้งการร่วมลงทุน การใช้บริการธุรกิจ หรือการเชื่อมโยงกับสินค้าบริการหลักของเราเอง


วันนี้มียักษ์ใหญ่หลายรายกำลังใช้รูปแบบธุรกิจเหล่านี้กับสตาร์ทอัพ ยกตัวอย่าง Xiaomi ของจีนที่เป็นเจ้าพ่อของสมาร์ทโฟนเบอร์ 4 ของโลก และโดดเข้าเป็น 1 ใน 500 ของ Global Fortune ได้หลังจากตั้งบริษัทได้สิบปีกว่า ๆ และเป็นบริษัทที่อายุน้อยที่สุดของทั้งหมดอีกด้วย 


Xiaomi รู้ว่าเป็นการยากที่สตาร์ทอัพจะเข้าสู่ตลาดได้ง่าย ๆ แม้ว่าสตาร์ทอัพจะมีไอเดียดี Photo-type สินค้าดี 
แต่การที่ Scale-up ไปสู่ธุรกิจเต็มตัวนั้น ต้องการทุน ความรู้อื่น ๆ เช่น ด้านธุรกิจ การตลาด การผลิต การบริหารคนของตนเอง และลูกค้า ฯลฯ ซึ่งบ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้คือจุดตายของคนตัวเล็กในมหาสมุทรธุรกิจมาตลอด และในขณะเดียวกัน Xiaomi ก็รู้ว่าธุรกิจสมาร์ทโฟนนั้นเริ่มอิ่มตัว และตนเองกำลังปรับธุรกิจหลักให้เป็น 3 ส่วน คือ สมาร์ทโฟน กิจการ IoT และการให้บริการ Internet โดยวางเป้ารายได้ส่วนใหญ่มาจากสมาร์ทโฟน แต่กำไรส่วนใหญ่ให้มาอยู่ที่ Internet จึงประกาศ
ในงานเปิดตัวในการระดมทุนของตนเองที่ตลาดหุ้นฮ่องกงว่า Xiaomi เป็นบริษัท internet และจะทำกำไรจาก Hardware ร้อยละ 5 ไม่เกินจากนี้ เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าถึง “ของดีในราคาที่เอื้อมถึงได้”

 
เพื่อเป็นการขยายตลาดของตนเอง Xiaomi ใช้อุปสรรคของสตาร์ทอัพมาสร้างธุรกิจของตนเอง โดยตั้ง Xiaomi Ecosystem และ Xiaomi Ecological Chain ขึ้นมา เพื่อให้สาร์ทอัพสามารถมาร่วมงานกับตนเองในเชิงธุรกิจได้ โดยในส่วนของ Xiaomi Ecosystem บริษัทจะลงทุนร่วมกับสตาร์ทอัพในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ หรือเป็น Business Unit ใหม่ของตนเองที่แยกออกมาทำธุรกิจเอง แต่ใช้ทุกอย่างของบริษัทแม่ทุกอย่างในเชิงธุรกิจ รวมทั้งการผลิต และเป็นชับแบรนด์ (Sub-Brand) ของ Xiaomi ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 90 แบรนด์ ในหลายร้อยสินค้า อาทิ สมาร์ทโฟน ยี่ห้อ 21KE, Black Shark, SUNMI, QIN, and Pocophone หรือเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ Mijia, Roborock, MiniJ, SWDK, VH, SmartMi, MiiiW Technology, Aller, TINYMU, Xprint และผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งแต่ละชนิดก็มีหลายยี่ห้อ  


อีกส่วนคือ Xiaomi Ecological Chain เป็นธุรกิจที่ไม่ใช่ของ Xiaomi มีการดำเนินงานอิสระทุกอย่าง ผลิตสินค้าเอง ทำแบรนด์เอง แต่พึงพาระบบสนับสนุนต่าง ๆ ของ Xiaomi รวมทั้งเรื่องคุณภาพเพื่อสร้างความมั่นใจกับตลาด รวมถึงการใช้ช่องทางการจำหน่ายและการตลาดของ Xiaomi บางครั้งก็เป็นแบรนด์ใหญ่ ๆ ของคนอื่น แต่ส่วนมากจะเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สตาร์ทอัพยังไม่แน่ใจว่าไอเดียนี้จะได้รับการยอมรับในตลาด เลยออกมาวางขายในสายของ Xiaomi แล้วค่อยระดมทุนไปหากมีคนสนใจลงทุนหรือนำไปขยาย ยี่ห้อดัง ๆ ของกลุ่มนี้ก็คือ xiaomiyoupin ฯลฯ 


ธุรกิจรูปแบบนี้เหมือนกับผู้ใหญ่อุ้มเด็กข้ามกำแพง เพราะการเข้าสู่ธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพนั้นเหมือนมีกำแพงใหญ่และสูงกั้นอยู่ คนตัวเล็ก หากไม่มีบันไดให้ปีนหรือมีคนช่วยอุ้ม โอกาสที่ข้ามได้ยากมาก จึงไม่แปลกใจที่อัตรารอดและสำเร็จของสตาร์ทอัพในแบบลุยเดี่ยวถึงตายเกือบหมด และวันนี้มีสินค้าในกลุ่มนี้ของ Xiaomi กว่า 200 แบรนด์วางขายในร้านเครือข่ายและคิดเป็น 75% ของทั้งหมด และมีแบรนด์ Xiaomi เพียง 25% เท่านั้น

แต่ที่สุดยอดก็คือ สินค้าเกือบทั้งหมดนั้น ต้องพัฒนาขึ้นมาภายใต้มีหลักการที่สำคัญคือการเชื่อมกับปรัชญาและภาพลักษณ์ของ Xiaomi คือ เป็นนวัตกรรมใหม่และราคาไม่แพง โดยสินค้าที่สมาร์ท IoT นั้นมีระบบที่สามารถเชื่อมกับสิ่งอื่น ๆ ภายใต้ระบบปฏิบัติงาน MIUI ของ Xiaomi ส่งผลทำให้ Xiaomi มีฐานลูกค้าที่ใช้บริการ internet สูงขึ้นทุกปี ซึ่งทั้งนี้การบริการ Internet เป็นธุรกิจสำคัญที่ทำกำไรให้มากที่สุด ซึ่งในปี 2020 นั้น Xiaomi มีรายได้ 245.9 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 19.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน และกำไรขั้นต้นเป็น 36.8 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 28.7% จากปีก่อน โดยกำไร 97% ของทั้งหมดมาจาก AIoT และการบริการ internet


รูปแบบธุรกิจแบบนี้ทำให้เราเห็นสินค้าของ Xiaomi มีตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ และยอดขายเติบโตต่อเนื่องในธุรกิจหลักของตนเอง โดยระบบปฏิบัติการ MIUI ในปี 2020 มีคนใช้ 111 ล้านคน หรือเพิ่มกว่า 14% จากปีที่ผ่านมา และอุปกรณ์ IoT เชื่อมต่อบนแพลตฟอร์ม AIoT ของ Xiaomi เพิ่มเป็น 324.8 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 38.0% เมือเทียบกับปี 2020 และยอดรายรับเพิ่มทุกธุรกิจหลัก ในขณะเดียวกันสตาร์ทอัพจากประเทศจีนหลายรายก็เกิดในตลาดโลกเต็มตัวและเพิ่มในมากขึ้นทุก ๆ ปี 


รูปแบบธุรกิจนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นในหลายแห่ง เช่น ในเกาหลีที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีไม่ว่าซัมซุง แอลจี หรือเกีย ก็มีรูปแบบของธุรกิจเช่นนี้เหมือนกัน แถมยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐอีกด้วย เพียงแต่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จจำนวนมากมายและรวดเร็วเหมือนจีน อาจเป็นเพราะสตาร์ทอัพของจีนนั้น เติบโตบนฐานของการแข่งขันที่เรียกว่าทะเลเลือด มีการลอกเลียนกันมาก ของใหม่ออกมาแป๊ปเดียวก็มีของคล้าย ๆ ออกมา ทำให้ผู้คิดค้นต้องคิดค้นของใหม่ตลอดเวลา และบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนส่วนมาก เช่น Lin Jun ของ Xiaomi ก็เป็นสตาร์ทอัพมาก่อน


เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทำให้เข้าใจหัวอกและความต้องการของสตาร์ทอัพเป็นอย่างดี ในขณะที่เกาหลีใต้นั้น ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่เติบโตมาจากมรดกของรุ่นพ่อรุ่นแม่ ทัศนคติของการทำธุรกิจที่ยังดึงอำนาจและผูกขาด พยายามดึงให้บริษัทขนาดเล็ก


อยู่ใต้อุ้งมือของตัวเอง ซึ่งก็เหมือนกับหลายประเทศในแถบนี้ ทำให้การพัฒนาของสตาร์ทอัพที่ทะลุขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่นั้นมีน้อยมาก ซึ่งเศรษฐีที่เกิดขึ้นในเกาหลีนั้นกว่า 62% มาจากการรับมรดก แต่ของจีนมีเพียง 2.5% ส่วนของไทยนั้น ผมไม่อยากคิดเลยว่าเกือบ 100% หรือไม่ นึกไม่ออกเศรษฐีที่อยู่ในระดับต้น ๆ มาจากการสร้างตัวเองกี่ราย ส่วนมากก็มีนามสกุลคุ้น ๆ ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่หรือก่อนหน้านั้นแล้ว 
    

ตอนนี้ในบ้านเราก็มีคนทำธุรกิจนี้หลายแห่ง ไม่ว่า True หรือ ธนาคารต่าง ๆ ที่มีหน่วยธุรกิจที่แสวงหาสตาร์ทอัพเก่ง ๆ ในสาขาใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจของตนเองหรือธุรกิจใหม่ ๆ มาเพื่อพยุงหรือสนับสนุนการปฏิวัติธุรกิจหลักของตนเองให้ไปต่อได้ในเวทีการแข่งขันที่รุนแรงและเปลี่ยนไปเร็ว แถมยังเดาทิศทางได้ยากอีกด้วย และซึ่งทำให้การออกเดินทางของสตาร์ทอัพยิ่งยากลำบากและเสี่ยงมากขึ้น ความร่วมแบบนี้ ต้องการให้ยักษ์ใหญ่ของเรามีทัศนคติในการมองคนตัวเล็กแบบเพื่อนธุรกิจ ไม่ใช่เหยื่อในอุ้งมือ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับคนตัวเล็ก และสตาร์ทอัพก็ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างจะยั่งยืนได้ต้องเดินด้วยรุปแบบพันธมิตรธุรกิจที่ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่การกุศล ที่เรียกร้องกันแบบฟรี ๆ