จากยอดติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ศบค.มีมติขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มจาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินของไทยอย่างหนัก ไม่สามารถเปิดทำการบินเส้นทางบินภายในประเทศได้ ทำให้รายได้เป็นศูนย์ ส่งผลให้ทุกสายการบินต่างประสบปัญหาวิกฤตสภาพคล่อง
แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการสายการบิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในขณะนี้สมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วย 7สายการบิน ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, ไทยสมายล์, นกแอร์, ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท อยู่ระหว่างเจรจากับสำนักงานประกันสังคม ถึงการขอสินเชื่อในโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้าง ระยะที่ 2 (ปี63-64) ซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพยุงการจ้างงาน
แต่ติดเงื่อนไขว่าสินเชื่อดังกล่าวซึ่งมีวงเงินอยู่ไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท จะปล่อยให้เฉพาะสถานประกอบการรายเล็กได้สูงสุดรายละไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อสถานประกอบการเท่านั้น
ในขณะนี้เราอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอให้รัฐขยายการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ผ่านสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการนี้กับสำนักงานประกันสังคม เพื่อครอบคลุมธุรกิจรายใหญ่ให้ปล่อยกู้เกิน 1 พันล้านบาทได้ด้วย เพื่อให้สายการบินมีโอกาสที่จะไปยื่นขอใช้สินเชื่อดังกล่าว ซึ่งจะต้องมีการนำเรื่องเข้าครม.เพื่อขอแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าว แต่ติดปัญหาว่ายังไม่มีเจ้าภาพที่จะรับไปดำเนินการ
“ที่ผ่านมา 7 สายการบินมีความต้องการซอฟต์โลนอยู่ที่ 5 พันล้านบาท เพื่อพยุงการจ้างของพนักงาน 2 หมื่นคนโดยร้องขอให้กระทรวงการคลังสนับสนุนซอฟต์โลนตั้งแต่มี.ค.63 จาก 2.4 หมื่นล้านบาท
ล่าสุดลดลงเหลือ 5 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาการจ้างพนักงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเอ็กซิมแบงก์ก็ยืนยันว่าจะไม่ให้ความช่วยเหลือสายการบินในลักษณะซอฟท์โลนที่จะเป็นดอกเบี้ยอัตราเดียวกัน
แต่จะให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณีตามฐานะการเงินที่แตกต่างกัน เช่นพักเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการเติมสภาพคล่องก็จะพิจารณาเป็นรายกรณีไป ทั้งๆที่สิ่งที่สายการบินต้องการในขณะนี้คือซอฟท์โลนเพื่อให้เรามีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง
แต่อย่างไรก็ตามถ้ามีการแก้ไขเรื่องของข้อจำกัดของการขอสินเชื่อในโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างของประกันสังคมได้ เอ็กซิมแบงก์ ก็เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการนี้ก็อาจจะปล่อยกู้ให้สายการบินในช่องทางนี้ได้”
อย่างไรก็ตาม ก่อนโควิดมีบางสายการบินต่างๆ ที่เป็นลูกค้าของเอ็กซิมแบงก์ก็ได้รับปล่อยสินเชื่อ อย่างไทยแอร์เอเชีย ได้รับสินเชื่อมา 2 พันล้านบาท และการพักเงินต้นหรือลดต้นดอกเบี้ย แต่ก็เป็นมาตรการที่เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีก่อนเกิดสถานการณ์โควิด แต่หลังจากเกิดโควิด ก็ยังไม่ได้สินเชื่อเพิ่มเติมออกมาแต่อย่างใด
นอกจากการพึ่งพาช่องทางการหาแหล่งเงินใหม่จากประกันสังคมแล้ว สายการบินต่างๆ ก็ต้องดิ้นรนในการเพิ่มสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่ายอย่างหนักในช่วงที่ไม่สามารถทำการบินได้
ไม่พ้นแม้แต่การบินไทยที่ล่าสุดอยู่ระหว่างการประกาศขายอสังหาฯรวม 10 แห่ง อาทิ สำนักงานสีลม, หลานหลวง, อาคารรักคุณเท่าฟ้า ดอนเมือง ที่จะเปิดให้เสนอราคาวันที่ 19-25 ส.ค.นี้ คาดว่าดันเงินไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านบาทเข้าบริษัทก.ย.นี้
ขณะที่นกแอร์ก็อยู่ในขั้นตอนดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเจ้าหนี้ได้โหวตแผนผ่านแผนฟื้นฟูกิจการให้นกแอร์ไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา
ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่3,702 วันที่ 5-7 สิงหาคม พ.ศ.2564