ประกาศใช้ข้อบังคับการนําเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์ เพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ของ “สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2564 กลายเป็นประวัติศาสตร์ของอารยะขัดขืนต่อนโยบายการทำงานของรัฐบาลของมหาวิทยาแห่งนี้ ให้เป็นที่ประจักษ์ของสังคมอีกครั้งหนึ่งว่า “ธรรมศาสตร์รักประชาชน”
ปรากฏการณ์ของบรรดาสภากรรมการมหาวิทยาลัยที่มีมติเป็น “เอกฉันท์” เห็นชอบให้ประกาศใช้ “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการ จัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564” ซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยได้ลงนามประกาศใช้ข้อบังคับดังกล่าวในวันที่ 16 ส.ค. 2564 แบบทันทีนั้น ถือว่าไม่ธรรมดา
เป็นการประกาศปฏิวัติ อารยะขัดขืนในการจัดการของรัฐเหมือนกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป๊ะ...
ไม่แน่ว่า นี่อาจเป็นกระดานหกในการปฏิวัติการบริหารจัดการภาครัฐของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ยึดติดกับกระทรวงสาธารณสุข เป็นกาวตราช้างจนขาดความยืดหยุ่นอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติ
เราจึงได้ “วัคซีนพ่อทุกสถาบัน” อย่างวัคซีนสำรอง-ชิโนแวค มาฉีดเป็นวัคซีนหลักให้ผู้คนในประเทศ ทดแทนวัคซีนหลักอย่าง “แอสตร้าเซนเนก้า” และวัคซีนตัวอื่นๆ ที่มีคุณภาพในการต้านทานโรค รักษา สร้างภูมิคุ้มกันโรคไวรัสวายร้ายให้แก่คนไทย
คำประกาศปลดแอกว่า...มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และคณะวิชาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพจำนวนมาก ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรง ในการให้บริการแก่สังคมในเรื่องการ ป้องกัน การแก้ไขปัญหาและการรักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ดังนั้น สภามหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สามารถเสนอต่ออธิการบดี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการตามข้อบังคับนี้ ให้สามารถจัดหา ผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือขออนุญาตและออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งอื่นที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้อง ทั้งที่ดำเนินการในประเทศและกับต่างประเทศได้
การดำเนินการต่าง ๆ ตามที่ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฉบับนี้กำหนดให้สามารถกระทำได้ จะต้องเป็นไปเพื่อการป้องกันหรือบำบัดโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมและฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการ ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนได้รับเป็นสำคัญ
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฉบับนี้ มีผลในวันถัดจากวันที่ลงนามประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 และมหาวิทยาลัยจะได้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้บุคคล องค์กรที่เกี่ยวข้องได้ ทราบต่อไป
คำประกาศดังกล่าว จึงเป็นการเปิดทางให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่มีการเรียนการสอน การบริการด้านการแพทย์ที่มีศักยภาพในประเทศ ได้ลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของช่องทางในการจัดหาวัคซีน ยา เครื่องมือทางการแพทย์ ในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศ แทนที่จะพึ่งพิงกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีน องค์การอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย และจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้เพียงอย่างเดียว จนทำให้ประเทศติดกับดักขาด “วัคซีน” ในการดูแลประชาชน
ผมได้สอบถามกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าในการเสนอวาระนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนั้น ใครเป็นผู้เสนอ มีใครเป็นผู้คัดค้าน หรือ แสดงความเห็นบ้าง...
ปรากฏว่า วาระนี้ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนปัจจุบัน เป็นผู้เสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประธานสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธาน
เชื่อหรือไม่ กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 29 คน ที่แต่ละคนทรงคุณค่าในแผ่นดิน ไม่มีใครคัดค้าน ทุกคนยกมือเห็นชอบพรึ่บ...แบบเอกฉันท์
หลังจากนี้ไปจะมอบหมายให้ ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นผู้ดำเนินการประสานกับองค์กรเอกชน และผู้ผลิตวัคซีนจากต่างประเทศมาสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศต่อไป
แว่วว่า “โนวาแวกซ์-จอห์นสัน&จอห์นสัน-ไฟเซอร์” คือเป้าหมายที่มีการเจรจากันขณะนี้
ผมอยากบันทึกไว้ตรงนี้ว่า นี่คือ มหาวิทยาลัยของรัฐ ที่มีสำนึกความรับผิดรับชอบต่อสังคมถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ ที่สังคมไทยควรปรบมือ และคารวะในความหาญกล้าขัดขืน ลุกขึ้นยืนท่ามกลาความมืดมิดของสังคม ที่ไร้ความหวังจากการทำงานของรัฐ
“แหล่งศึกษา ร่มเย็น เด่น ริมสายชล
เราทุกคน รัก ดุจ หัวใจ
ปลูกยูงทอง ไว้เคียงโดม มุ่งประโลม โน้มใจรัก
ธรรมจักร นบบูชา เทิดไว้....
เหลืองแดง แสงธรรม...ศาสตร์ วิไล
ปก แผ่ ไป ใน ทุกทาง...
สัญลักษณ์ ดี เด่น เห็นกระจ่าง
อย่า จืดจาง รัก ร่วมทาง กันไป...”
แล้วใครบ้างที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการประกอบด้วย ศ.(พิเศษ) ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด ศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร อดีตซีอีโอปตท.และการบินไทย นางเกศรา มัญชุศรี อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ศ.ดร.จรัญ จันทลักขณา เมธีวิจัยอาวุโส สกว. รุ่นแรก อดีตรองประธานกรรรมการบริหาร (Board of Trustee) ของสถาบัน ILRI (Inrtenational Livestock Research Institute)
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ นายนนทิกร กาญจนะจิตรา อดีตเลขาธิการ กพ. ศ.ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย อุปนายกสภา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ศ.ดร. พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.พิชยพันธุ์ ชาญภูมิดล อดีตเอกอัครราชทูต ไทยประจำประเทศบราซิล และอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอินโดนีเซีย และอดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ดร.พินิจ บุญเลิศ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ปทุมธานี นายมานิจ สุขสมจิต สื่อมวลชนอาวุโส
ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรการแข่งขันทางการค้า ศ.(พิเศษ) หิรัญ รดีศรี ผู้ปลุกปั้นและสร้างบรรษัทภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคม ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
รศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาล รองอธิการบดี รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี รศ.โรจน์ คุณอเนก ผู้อำนวยการสถาบัน รศ.ดร.กมล บุษบา ผศ.นพ.วีระยุทธ โถวประเสริฐ นายเสริม กัลยารัตน์ ผู้แทนพนักงานมหาวิทยาลัย สายสนับสนุนวิชาการ
ผศ.ดร.อารี เทเลอร์ ประธานสภาอาจารย์ นายสิทธิชัย พันเศษ ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย รศ.ดร.สมชาย สุภัทรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง รศ.อานนท์ มาเม้า ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย ...ขอคารวะ...
ทั้งหมดนี้คือผู้กล้าลุกขึ้นมาหาเสื้อเกราะมาป้องกันตัวให้กับประชาชนคนไทยในภาวะสงครามโรค....ในขณะที่หน่วยงานรัฐไร้ประสิทธิภาพในการจัดหามาดูแลประชาชนให้ครอบคุมทั่วประเทศ
ประกาศแล้วเดินหน้า อย่าทำให้คนไทยผิดหวัง...ลุย