ในวัยเด็กผมชอบอ่านนิทานทวีปัญญา ขอคัดเรื่องสั้นที่ถือว่าเด็ดขาด หนุ่มห้าคนไปเรียนนานาวิชามาจากพราหมณ์ หนึ่งในหลายวิชา คือ การเสกให้ฟื้นจากความตายได้ เรียนจบก็เดินทางกลับ ระหว่างทางเขาเจอกระดูกเสือโคร่ง ทั้งห้าอยากจะลองวิชาจึงนั่งล้อมวงกระดูกเสือโคร่ง แล้วร่วมกันเสกภาวนาจนเสือโคร่งที่ตายฟื้นคืนชีพมาใหม่ ทั้งห้าคนดีใจที่เสกให้ฟื้นได้จริง เสือโคร่งก็ดีใจที่ได้กินนักเสกผู้ตกเป็นเหยื่อทั้งห้า (ฮา)
หัวหน้าทีม ผู้ร่วมทีม ผลลัพธ์
หัวไว หัวไว วิวัฒน์
หัวไว หัวช้า วิวาท
หัวช้า หัวไว วิเวก
หัวช้า หัวช้า วินาศ
ผมสงสัยมานานว่า กุลา คือ ใคร ทำไมเขาถึงตั้งชื่อพื้นที่แห่งนั้นว่า ทุ่งกุลาร้องให้ วันหนึ่งนั่งรถแท็กซี่ คนขับเป็นคนร้อยเอ็ด จึงคุยกันเรื่องนี้ เขาบอกว่าเรื่องนี้มีหลายตำนาน ตัวเขาจะเล่าตำนานที่เขาฟังจากผู้เฒ่า
ว่า ปู่กับหลานเดินทางหลงเข้าไปในท้องทุ่งที่เวิ้งว้าง เดินไปสักพักก็ชักจะจับทิศจับทางไม่ได้ วนเวียนหลงอยู่ในทุ่งนั้นจนเสบียงหมด แบกหลานจนหมดแรง หิวก็หิว เมื่อยก็เมื่อย ปู่จึงเทหลานทิ้งเอาไว้กลางทุ่ง หลานมีชื่อว่า
กุลา หลานหมดปัญญาจะช่วยตัวเองจึงร้องให้จนสิ้นใจคาทุ่ง เขาจึงเรียกว่า ทุ่งกุลาร้องให้ (ตึ่ง…โป๊ะ) เล่าจบ
แท็กซี่ก็ถามผมว่า ถ้าตุณโดนปู่ทิ้งอย่างนั้น สมมุติว่ารอดตายทั้งคู่ คุณจะคบต่อไหม คำถามนี้สะกิดความทรงจำ
ผมนึกถึง วาทกรรมการปฐมนิเทศ ของ อาจารย์ ที่ ม.ฮาร์วาร์ด พูดกับลูกศิษย์ ยอมรับเลยว่า ความคิดขั้นเทพ
“จงคิดเสมอว่าในโลกนี้มีคนห้าคนที่จะฉลาดกว่าเราเสมอ 1.ครูของเรา 2.รุ่นพี่ 3.เพื่อนของเรา 4.เด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง 5.คนแปลกหน้าที่เราที่อาจจะพบได้ในรถไฟฟ้าใต้ดิน
การรับสมัครผู้มาเรียนแต่ละคนที่นี่ คณะกรรมการพิจารณาอย่างเข้มงวดว่าเก่งพอไหม เก่งแบบไหน เป็นคนน่าสนใจไหม ทำอะไรมาบ้าง มีความคิดที่จะคืนให้สังคมไหม หรือ คิดถึงแต่ตัวเอง
ทุกคนในที่นี้เราเลือกมาแล้วว่าแต่ละคนสุดยอดในเรื่องที่ต่างๆ กันไป ไม่มีใครซ้ำใคร ทุกคนเก่งกันคนละแบบ อาจารย์ขอมอบ “เพื่อนๆ กลุ่มนี้” ให้เป็นของขวัญล้ำค่าในวันเปิดเรียน ขอให้พวกเราไปทำความรู้จักกันเอาเอง บอกได้ว่า “เจ๋ง” ทุกคน
อยู่ที่นี่ต้องช่วยกันเรียน ไม่มีใครต้องแข่งกัน เพราใช้คะแนนอิงเกณฑ์ ขอให้ทุกคนจงหันซ้ายหันขวา แล้วยิ้มให้เพื่อนใหม่ข้างๆ ครูเชื่อว่าในกลุ่มนี้จะมีหลายคนที่กลายเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของกันไปจนวันตาย
แบรดลีย์ บีล การ์ดอเมริกันฟุตบอลคนดัง ที่เป็นทุกอย่างของ ทีมวอชิงตัน ให้ความเห็นเรื่อง “ทีม” ไว้หลายแง่มุม ถ้าทำตามที่ แบรดลีย์ บีล ชี้แนะ กลุ่ม จะกลายพันธุ์เป็น ทีม ผมหยิบเอาจุดเป็นจุดตายที่น่าจะทำให้ THAI poor TEAM ซ้ำซาก เอามาส่องสัก 2 จุด
1. สำรวจความคิดเห็นของกันและกันอย่างตรงไปตรงมา
2. จงเคารพเพื่อนมนุษย์ของคุณ
ผมเอาใบแจ้งค่าบริการรายเดือนที่พนักงานของรัฐ เขาส่งมาเตือนให้รีบไปจ่ายเพราะเลยวันนัดหมาย แต่ยังไม่ได้ไปชำระ คนยืนเข้าแถวอยู่บริเวณหน้าเคาน์เตอร์ แถวแรกก็จะเป็นคนที่มาจ่ายตรงเวลา ยืนหันไปหมุนมาหน้าตาแจ่มใส ผมอยู่กลางแถวที่สองซึ่งเป็นพวกที่ “จ่ายล่าช้า” เพราะ “ช้า” นี่แหละ เขาถึง ส่งใบเตือนไปตาม “ล่า” (ฮา)
ดูออกว่าคนในแถวนี่ยืนหน้าแห้งไม่ค่อยจะหันไปสบตาใคร เพราะรู้ตัวดีว่าช่วงนี้เขาเป็น VIP คือ Veer If Poor “ผกผันการชำระถ้าคล้อยไปเป็นคนเคยรวย” (ฮา) ขยับเดินกันไปสักพักก็ถึงคิวผม ผมส่งใบทวงให้พนักงาน เธอรับไปดูแล้วพูดเสียงดังได้ยินกันทั่วว่า
“ยอดเงินนิดเดียวเอง ทำไมถึงจ่ายช้า?”
น่าเห็นใจเธอ เธอไม่ได้เรียนกับ อาจารย์ ที่ ม.ฮาร์วาร์ด เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าหาก ผู้นำ ไม่ได้ “ปรับ” คนในทีมก็ไม่สนใจจะ “ปรุง” การปฏิบัติงานจะเปลี่ยนรูปทรงจาก ทีม คืนสภาพสู่การเป็น กลุ่ม แบบไม่รู้ตัว