รัฐต้องหนุน “แฟคตอรี่แซนด์บ็อกซ์” ต้นแบบ “ทำงานปลอดภัย” ยุคโควิด

02 ก.ย. 2564 | 08:09 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2564 | 17:19 น.

บทบรรณาธิการ

     ศบค.ย้ำว่า ข้อกำหนดใหม่ล่าสุดที่ให้บางกิจการกลับมาเปิดบริการ  ไม่ใช่การปลดล็อกหรือคลายล็อก หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดต่ำกว่าวันละ 2 หมื่นรายลงมาเป็นลำดับ แต่เป็นการ “ปรับมาตรการ” เพื่อทดสอบแนวทางการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 โดยจะทะยอยออกแนวปฏิบัติสำหรับกิจกรรมต่างๆ ในเดือนก.ย.เพื่อวัดผล ซึ่งเป็นการปรับตัวสู่วิถีปกติใหม่ทั้งในชีวิตประจำวันและการประกอบกิจการงานต่างๆ

     เรื่องนี้ผู้ประกอบการผลิตในภาคเอกชน ทำโครงการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม(Factory Sandbox) ภายในสถานประกอบการไปแล้ง โดยนำร่องทดลองในโรงงานขนาดใหญ่ที่จ้างแรงงานมากว่า 500 คน ระยะแรกเริ่มที่จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร ชลบุรี จากนั้นจะขยายไปยังอยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีโรงงานเข้าร่วมแล้ว 46 แห่ง พนักงาน 92,000 คน

     การดำเนินการขับเคลื่อนภายใต้ 4 หลักการสำคัญคือ 1.ตรวจพนักงานทุกคนเพื่อคัดกรองแยกผู้ป่วยไปรักษา และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ 2.ภายในโรงงานจัดให้มีศูนย์กักแยก (Factory Isolation) และฮอสพิเทล สำหรับผู้ติดเชื้อสีเขียว มีโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง 3.เร่งจัดฉีดวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 ให้พนักงาน และ 4.ปรับโรงงานและพนักงานให้อยู่ภายใต้มาตรการคุมโรคเฉพาะที่ (Bubble&Seal) ไม่ให้ปะปนกับคนอื่น ทั้งในโรงงานและที่พัก

     โครงการ Factory Sandbox จะช่วยรักษาเสถียรภาพการผลิตให้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคส่งออกที่มีมูลค่าถึงเดือนละกว่า 7 แสนล้านบาท ป้องกันคลัสเตอร์โรงงานจากการติดเชื้อ สร้างสมดุลระหว่างมาตรการสาธารณสุขกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้า สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งรักษาระดับการจ้างงานในภาคผลิตเพื่อการส่งออกได้กว่า 3,000,000 ตำแหน่ง 

     โดยที่การส่งออกเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวเดียวที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ และการระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลกระทบทั้งกว้างและลงลึกกว่าก่อนหน้า แต่ยังไม่กระทบต่อภาคการผลิตเพื่อส่งออกในภาพรวม สะท้อนจากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือนก.ค.ยังขยายตัวได้ 3.41% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงถึงชั่วโมงทำงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ค. 2564 อยู่ที่ 91.41 ขยายตัวเพิ่ม 5.12 % โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ห้า จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

     การระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ที่เร่งตัวจนมีผู้ติดเชื้อใหม่วันละกว่า 20,000 คน ในช่วงก่อนหน้า แม้จะผ่านจัดสูงสุดและเริ่มปรับลดเป็นลำดับ แต่ยังเป็นความเสี่ยงที่พร้อมกลับมาปะทุใหม่ได้ทุกเมื่อ ผู้ประกอบการจึงเสนอโมเดล Factory Sandbox เพื่อรักษาความต่อเนื่องการผลิตในโรงงานไว้ให้ได้ หากตัวแบบนี้ได้ผลจะเป็นแนวทางการบริหารจัดการโรงงานแม้มีการระบาดโรคติดเชื้อในอนาคตต่อไปได้

     อย่างไรก็ตาม การทำ Factory Sandbox มีภาระต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ อาทิ ค่าเครื่องมือเครื่องใช้ในการตั้งศูนย์พักคอยในโรงงาน (FAI) โรงพยาบาลสนาม ที่พักพนักงานที่ต้องไม่ปะปนกับคนอื่น ชุดตรวจคัดกรอง (ATK) ที่ต้องใช้ต่อเนื่อง รัฐควรต้องช่วยรับภาระให้งบอุดหนุนบางส่วน และหากจะให้ขยายผลเป็นแนวปฎิบัติทั่วไปของโรงงานในอนาคต ต้องเข้ามาดูแลเรื่องราคาอุปกรณ์ใช้สิ้นเปลืองต่าง ๆ เหล่านี้ให้ลดลง ซึ่งจะช่วยให้รายกลางจนถึงเล็กสามารถดำเนินการได้ด้วย จึงจะเป็นความเข้มแข็งของภาคการผลิตไทยในวิถีปกติใหม่ ที่ผลิตได้ปลอดภัยแม้ในสถานการณ์ระบาดโควิด-19