วันที่ 1 กันยายน 2564 เมื่อเวลา 13:30 น. นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ลงตรวจพื้นที่บริเวณท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาภูเก็ต หมู่ที่1 ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จ.ภูเก็ต เพื่อให้กำลังใจกับผู้ประกอบการเรือประมง ที่จะออกหาปลาได้ในวันที่ 3 สิงหาคมที่จะถึงนี้
ส่วนเรืออีก 17 ลำที่กักตัวอยู่ในทะเลบริเวณเกาะตะเภาน้อย เขตตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ตนั้น เริ่มกักตัวตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2564 จะครบกำหนดวันที่ 3 ก.ย.2564 นี้
ประมงจังหวัดภูเก็ต รายงานว่า ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต(องค์การสะพานปลา) จัดกิจกรรม “ล้างเรือ ล้างท่า ร่วมฆ่าโควิด – 19” จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 2 ตามแผนการแก้ไข ป้องกัน และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในภาคการประมงแบบยั่งยืน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคสัตว์น้ำจากภาคการประมงจังหวัดภูเก็ต แก่สื่อมวลชน ณ ห้องประชุมท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต
จังหวัดภูเก็ตมีท่าเทียบเรือประมง ที่จดทะเบียนกับกรมประมงจำนวน 17 ท่า โดยแยกเป็นท่าเทียบเรือประมงที่สามารถขนถ่ายสัตว์น้ำได้ ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองภูเก็ต จำนวน 10 ท่า ส่วนที่เหลือเป็นท่าเทียบเรือเพื่อการจอดพักเรือประมงเท่านั้น โดยมีการขนถ่ายสัตว์น้ำขึ้นท่าปีละประมาณ 100,000 ตัน มูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท
มีเรือประมงพาณิชย์ จำนวน 352 ลำ มีแรงงานในเรือประมงพาณิชย์ 3,159 คน เป็นแรงงานไทย 1,428 คน และแรงงานต่างด้าวพม่า กัมพูชา และลาว รวม 1,731 คน นอกจากนี้มีแรงงานคัดแยกสัตว์น้ำหน้าท่าเทียบเรือประมง 400 คน
มาตรการการป้องกัน เฝ้าระวัง โรคโควิด 19 ในแรงงานภาคการประมง มีการดำเนินการคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก โดยสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ภูเก็ต มาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถแยกผู้ติดเชื้อออกจากกลุ่ม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างเป็นระบบ มีการจัดตั้งศูนย์พักคอย (Community Isolation) รองรับผู้ติดเชื้อจำนวน 150 เตียง โดยความร่วมมือของพี่น้องชาวประมง สมาคมชาวประมงภูเก็ตร่วมบริจาคเงินและสิ่งของที่จำเป็น ตลอดถึงหน่วยงานราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
ขณะนี้มีแรงงานติดเชื้อเพศชายอยู่ที่ศูนย์พักคอยท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต จำนวน 120 ราย นอกจากนี้มีการจัดเรือพักคอย (Vessel Isolation) จอดที่จุดจอดเกาะตะเภาน้อย อำเภอเมืองภูเก็ต โดยความร่วมมือของชาวประมงทุกคน ณ วันที่ 1 กันยายน 2564 มีเรือจำนวน 18 ลำ แรงงาน 178 ราย แยกเป็นกลุ่มแรงงานติดเชื้อ จำนวน 5 ลำ แรงงาน 36 ราย กลุ่มไม่ติดเชื้อ จำนวน 13 ลำ แรงงาน 142 ราย ทุกคนสุขภาพแข็งแรง
การจัดกิจกรรม ล้างเรือ ล้างท่า ร่วมฆ่าโควิด 19 เป็นการเตรียมพร้อมในการเปิดท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ในวันที่ 3 กันยายน 2564 นอกจากนี้ท่าเทียบเรือประมงเอกชน ได้ร่วมกันทำความสะอาดท่าเรือ เรือประมง พร้อมกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคสัตว์น้ำจากภาคการประมง ว่ามีมาตรฐานและปลอดภัยจากโรคโควิด-19
มาตรการต่าง ๆ ที่จังหวัดภูเก็ตควบคุม ท่าเทียบเรือประมง เรือประมง และแรงงานภาคการประมง จากข้อมูลผลการดำเนินงาน เชื่อมั่นว่าภาคการประมงจังหวัดภูเก็ตจะเข้าสู่ภาวะปกติในวันที่ 6 กันยายน 2564
นายสมยศ วงศ์บุญยกุล นายกสมาคมชาวประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เรือทั้งหมดที่จอดลอยลำอยู่บริเวณท่าเรือประมงภูเก็ตแห่งนี้ พร้อมที่จะออกหาปลาได้เลย เพราะครบกำหนดที่กักตัวแล้ว ในส่วนของเรือประมงอีก 17 ลำที่ไปกักตัวอยู่บริเวณกลางทะเลนั่น เริ่มกับตัวตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็จะครบกำหนดวันที่ 3 กันยายน และลูกเรือทั้งหมดก็พร้อมที่จะออกหาปลาและกลับขึ้นฝั่ง ช่วงเช้าของวันที่ 3 กันยายนเพื่อนำปลามาขายที่สบานป่าเฮงนี้
ในกรณีที่เรือประมงทั้ง 17 ลำ ออกไปกับตัวอยู่บริเวณกลางทะเลนั้น ก็จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนของรัฐที่ต้องมาดูแลแรงงานชาวประมงทั้งหมดด้วย ถ้าท่าเรือใดมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย ก็จะต้องนำกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดไปกักตัวกลางทะเลเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าท่าเรือใดมีผู้ติดเชื้อมาก ก็จะนำผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้าทำการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐจัดไว้ให้ ส่วนลูกเรือทั้งหมดก็นำไปกักตัวแต่เป็นจำนวนน้อย โดยค่าใช้จ่ายเจ้าของแพต้องรับผิดชอบเอง