“ธปท.”เลิกแล้ว“ธุระไม่ใช่” รวมหนี้พิชิตใจ“คนไทยรอด”

06 ต.ค. 2564 | 00:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ใครจะว่าอย่างไรผมไม่รู้.... แต่ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา “คณะกรรมการ-ผู้บริหาร” ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เปลี่ยนทัศนคติและวิธีการทำงานของ “ธนาคารกลาง” ที่ อาจารย์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย วางกรอบวิธีคิด วิธีการตัดสินใจไว้อย่างยาวนานใน 6-7 ด้าน เพื่อรักษาวินัย อิสระในการตัดสินดำเนินนโยบายทางการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ จนกลายเป็นจารีตประเพณี “Traditional” มาเป็นการจัดการที่ตอบรับกับสถานการณ์อย่างชัดเจน
 

ต่อมามีการปรับ “วิชั่น” ของธนาคารแห่งประเทศไทยใหม่ เป็น core value มาเป็น “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน” ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจเป็นช่วง “ธาริษา วัฒนเกส” เป็นผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อเนื่องมาถึงยุค “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล-วิรไท สันติประภพ” และ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทย์นฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคปัจจุบัน 
 

“ยืนตรง” ผมจำได้ว่า คุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นคนอธิบบายกับผมบริเวณริมน้ำในวังบางขุนพรหมว่า “ยืนตรงนั้นเป็นสัญญาณว่า ธปท. ต้องมีหลักการชัดเจนในสิ่งที่ตัดสินใจด้านนโยบาย ไม่โอนเอียงเพื่อการเมือง แต่ยืนตรงเพื่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจอย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว”
 

การยืนตรงจะทำให้ประชาชน ภาคเศรษฐกิจ และต่างประเทศ เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธา ต่อการตัดสินใจ
 

แน่นอนว่าการยืนตรงในการตัดสินใจดำเนินนโยบายนั้น อาจจะมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีทั้งกลุ่มคนที่พอใจ และกลุ่มคนอาจจะไม่พอใจในสิ่งที่ทำ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองที่ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนตรง 
 

“มองไกล” คือ การตัดสินใจดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่มองไปถึงอนาคตข้างหน้า ไม่ใช่ดำเนินนโยบาที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ตัดสินใจอย่างหนึ่งจะเกิดปัญหาอย่างหนึ่ง เพราะถ้าหน้าที่หลักของธนาคารแห่งประเทศไทยคือ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง เข้มแข็ง การตัดสินใจทางนโยบายต้องเป็นการมองไปที่ระยะยาวไม่ใช่เห็นผลระยะสั้น  คนของธนาคารแห่งประเทสไทยจึงถูกฝึกให้มองยาวไปถึงอนาคตข้างหน้าตลอดเวลา  
 

ผู้บริหารต้องมองให้ออกว่า เมื่อตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะมีปัญหาใดบ้างที่อาจเกิดขึ้นตามมา และจะดำเนินการจัดการปัญหาเหล่านั้นอย่างไรไม่ให้ลุกลามใหญ่โตกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ
 

“ยืนตรง-มองไกล” จึงเป็น DNA ของคนในวังบางขุนพรหมมาอย่างเหนียวแน่น
 

ประเด็นที่หลายคนไม่เห็นแต่ภภาพชัดขึ้นๆ ในปัจจุบัน คือ “ยื่นมือ” และ “ติดดิน” 

“ยื่นมือ” คือ การทำงานร่วมกับผู้คน ภาคเศรษฐกิจสำคัญและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย  
 

“ติดดิน” คือ การปรับการทำงานแบบติดดิน ไม่ใช่อยู่บนหอคอยงาช้างอีกต่อไป 
 

เป็นการปรับตัวในการออกนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงและเกิดผลลัพธ์สำหรับประชาชนทั่วไปทุกคน
 

ผู้คนส่วนใหญ่อาจรู้สึกว่าการตัดสินใจทางนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเรื่องไกลตัว แต่ในปัจจุบันผมว่า สัมผัสได้ และเป็นเรื่องใกล้ตัว เกี่ยวพันกับเงินในกระเป๋าของชาวบ้านจริง
 

ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้ผมเห็นแล้วว่า “ยื่นมือ-ติดดิน” ทำได้จริง นโยบายการกระโจนลงมาจัดการกับระบบการเงินในประเทศ ผ่านการนำเงินเข้ามาอัดฉีดในระบบเศรษฐกิจเป็นครั้งแรก ตามมาด้วยนโยบายการแก้หนี้ที่เกิดขึ้นท่วมประเทศ
 

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 หนี้ครัวเรือนของไทยปรับตัวสูงมากขึ้นและรวดเร็ว จาก 80% ของจีดีพี ในสิ้นปี 2562 มาเป็น 90.5% ของจีดีพี ในไตรมาส 1/2564 มาจนถึงครึ่งหลังของปี 2564 ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยส่อแววเพิ่มขึ้นไปถึง 93.0% ในสิ้นปี 2564 เรียกว่าทั่วหัวระแหงเป็นหนี้กันทั่ว....
 

ธนาคารแห่งประเทศไทยยื่นมือ กระโดดมาจัดทำโครงการสมัครใจปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงเดือน ก.ค.2563 ตอนนั้นผมเกาะติดในเรื่องนี้เก็บข้อมูลมายาวนาน พบว่ามีลูกหนี้ที่เข้ามาตรการนี้ถล่มทลาย 12.5 ล้านบัญชี ทราบข้อมูมล่าสุดงวดเดือน ก.ค.2564 มีลูกหนี้คงเหลือภายใต้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แค่ 5.12 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.35 ล้านล้านบาท ลูกหนี้ที่กลับมาผ่อนชำระได้มากที่สุด คือ สินเชื่อบ้าน และเช่าซื้อ 
 

มาตรการต่อมาที่เข้าไปจัดการคือ การช่วยเหลือกลุ่มโรงแรมและที่พักแก่ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ได้รับความช่วยเหลือภายใต้มาตรการกว่า 2.83 แสนล้านบาท คิดเป็น 65% ของสินเชื่อกลุ่มนี้ ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 61% ผ่านวิธีการพักชำระหนี้  ลดภาระหนี้ระยะสั้น พักทรัพย์พักหนี้ 5% ให้สินเชื่อใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่องไปกว่า 18,000 ล้านบาท...ถือว่าเป็นการติดดิน....
 

พอถึงเดือน ส.ค.2564  มีลูกหนี้สมัครใจพักหนี้อีกราว 3 ล้านบัญชี  มีการออกมาตรการให้สินเชื่อเพิ่มเติม เป็นสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว 106,156 ล้านบาท ลูกหนี้ 34,538 ราย ถือว่าเป็นการกระโดดออกมาช่วยชุบชีวิตจากธนาคารกลางที่เดิมเราไม่ค่อยได้เห็น นอกจากออกนโยบายให้ธนาคารปฏิบัติแล้ว ธปท.ยืนตรง...แต่ตอนนี้ลงมือทำเต็มที่
 

ที่ผมกำลังเห็นและอยากให้คนไทยทุกคนปรบมือให้กำลังใจ และคอยลุ้นแนวทาง “ยื่นมือ-ติดดิน” อีกครั้งคือ ในกลางเดือนตุลาคมนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะออกมาตรการรวมหนี้ (Debt Consolidation) ระหว่างสถาบันการเงินหลายแห่ง มารวมกันของทุกสถาบันการเงิน เพื่อลดหนี้ลดดอกเบี้ยให้กับประชาชนที่เป็นลูกหนี้ จากปัจจุบันให้สิทธิประโยชน์แก่ธนาคารที่ลดภาระดอกเบี้ยลงมาเทียบเท่ากับสินเชื่อที่มีหลักประกันให้กับลูกหนี้ ได้แก่ ผ่อนคลายการจัดชั้นสำรองหนี้ และการนำอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมานับรวมกับค่าธรรมเนียมเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF Fee) 
 

ผมทราบว่า มาตรการใหม่จะช่วยลดน้ำหนักความเสี่ยงของธนาคาร เพื่อสร้างแรงจูงใจและลดต้นทุนการดำเนินงานให้สถาบันการเงิน 
 

เป้าหมายหลักคือ ทำให้หนี้และดอกเบี้ยลดลง
 

เพราะหากลูกหนี้สามารถรวมหนี้สินเชื่อไม่มีหลักประกัน กับ สินเชื่อที่มีหลักประกันได้ จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจากระดับสูงให้ลดลงเหลือต่ำกว่า 10% จากปัจจุบันเพดานหนี้บัตรเครดิตอยู่ที่ 16-18% สินเชื่อบุคคล 25% สินเชื่อจำนำทะเบียน 24% และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ อยู่ที่ 33%  แต่ขอให้เมื่อรวมหนี้แล้วลดดอกเบี้ยลงด้วย แต่เท่าไหร่ผมไม่รู้...
 

แต่แว่วมาว่า “เมื่อรวมหนี้กันแล้ว ไม่ว่าเป็นหนี้ที่มีหลักประกันทั้งก้อน หรือไม่มีหลักประกัน จะถือว่าเป็นหนี้มีหลักประกัน ซึ่งจะทำให้การคิดดอกเบี้ยลดลงตามความเสี่ยงที่ลดลง  โดยเมื่อรวมหนี้แล้วจะมีการกำหนดกรอบการคิดดอกเบี้ยไว้ไม่เกิน 9-10%”
 

ประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับจากการรวมหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยชัดๆ ที่สุดคือ ช่วยลดภาระการชำระหนี้โดยที่ลูกหนี้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ไม่ว่า ค่าธรรมเนียม ค่าบริการอื่น ไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนด และยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลต่อไปได้
 

ข้อดีของการรวมหนี้คือ ใครที่รู้ตัวว่าเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ชักหน้าไม่ถึงหลัง จ่ายหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำก็แล้ว กดบัตรโน้นไปโปะบัตรนี้ก็แล้ว แต่สถานการณ์ทางการเงินไม่ได้ดีขึ้น
 

การรวมหนี้จะเป็นทางออก เพราะเรานำหนี้ที่เรามีอยู่จากหลายที่มารวมไว้ที่เดียวกัน เพื่อปิดหนี้ดอกแพงทั้งหมด แล้วมาเลือกผ่อนเป็นรายงวดในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง 
 

นโยบายแบบนี้การทำงานแบบนี้แหละครับที่พาประเทศไทยรอด อย่ารอฝ่ายการเมือง ธนาคารกลางรีบทำเลยครับ ประชาชนจะหายใจคล่องมากขึ้นกว่านี้เยอะแน่ครับ