ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนที่เป็นแฟนคลับคอลัมน์ทางออกนอกตำรา สอบถามผมมาว่า “ผมติดใจอะไรนักหนากับคดีฟอกเงินที่บริษัท กฤษฎามหานคร ของกลุ่มเสี่ยวิชัย กฤษฎาธานนท์ กู้เงินจากธนาคารกรุงไทยร่วม 9,900 ล้านบาท แล้วไปโยงใยจ่ายเช็กให้กับคนในตระกูลชินวัตร...จึงกัดไม่ปล่อย”
ตามกัดตามจิก ปมใหญ่ที่อื้ออึงอยู่ในขณะนี้คือ การที่สำนักงานอัยการสูงสุด-กรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร และผลจากการสั่งไม่ฟ้องนายพานทองแท้ นี่แหละทำให้คนใกล้ชิดที่เป็นเลขาคุณหญิงพจมาน (ชินวัตร) ร้องขอความเป็นธรรม
ในที่สุด สำนักงานอัยการสูงสุด กลับคำสั่งที่เคยสั่งฟ้อง นางกาญจนภา หงษ์เหิน นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้เป็นสามี มาเป็นการ “สั่งไม่ฟ้อง”.....คดีฐานฟอกเงิน
ถ้าในเดือนนี้เดือนหน้า อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่เห็นแย้งในคดีฟอกเงินจากการรับเช็ค 26 ล้านบาท ที่ติดพันมาจากเงินกู้อันพิสดารจนศาลสั่งจำคุกผู้บริหาร พนักงานธนาคารกรุงไทยราว 25-26 คน ที่อัยการกลับคำสั่งฟ้องมาเป็นคำสั่งไม่ฟ้อง คดีฟอกเงินก็จะเป็นอันสิ้นสุดลงทันที
ข้อกล่าวหาเรื่อง “การรับเงินปากถุง” จากการปล่อยกู้ของธนาคารรัฐจะหายไปจากสารบบคดีของประเทศไทยทันที
ผมพามาดูเรื่องของเงินปากถุงที่ถูกตัดออกมาจากเงินกู้กว่า 10,000 ล้านบาท แก่กลุ่ม บริษัท กฤษดามหานคร ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสรุปพฤติการณ์ว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ให้สินเชื่อกลุ่มกฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เคยจัดอันดับความเสี่ยงไว้ในอันดับ 5 คือ ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ เข้าข่ายทุจริตจึงสั่งจำคุกผู้บริหาร กรรมการธนาคาร และเจ้าหน้าที่สินเชื่อไปร่วม 26 คน มี 3 ก้อน
ก้อนแรก อนุมัติสินเชื่อให้บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ 1,400 ล้านบาท)
ก้อนที่สอง อนุมัติสินเชื่อให้บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด 500 ล้านบาท
ก้อนที่สาม อนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด 1,185 บาท
ศาลเห็นว่า ผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของกฤษดามหานคร ประโยชน์ส่วนตนกับพวก.....แล้วเรื่องเงินปากถุงที่อันอาจลากไปถึงการฟอกเงินและรับของโจร...มันเป็นเช่นไร...
มันพิสดารซับซ้อนอย่างยิ่ง ซับซ้อนซ่อนเงื่อนชนิดที่คนทั่วไปเป็นได้ไอ...คุก คุก กันแน่นอน ขอบอก
เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2546 ธนาคารกรุงไทย ได้อนุมัติสินเชื่อก้อนที่สอง 500 ล้านบาท มีโอนเข้าบัญชีกระแสรายวันของบริษัท อาร์ เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด....
จากนั้น วันที่ 12 ก.ย.2546 บริษัท อาร์ เค โปรเฟสชั่นนัล ได้สั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับฉบับแรก 200 ล้านบาท ฉบับที่สอง 100 ล้านบาท เข้าบัญชีออมทรัพธนาคารไทยธนาคาร ในชื่อ นายวิชัย กฤษดาธานนท์
แอ่น แอ๋น แอ๊น....วันที่ 30 ธ.ค.2546 ได้มีการสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีกระแสรายวันของนายวิชัย สั่งจ่าย “คุณพานทองแท้ ชินวัตร” ลงวันที่ 30 ธ.ค.2546 เป็นเช็คแบบไม่ขีดคร่อม และไม่ขีดฆ่า เพื่อซื้อแคชเชียร์เช็คเลขที่ 0002274 จำนวน 26 ล้านบาท
เช็คเข้าเสร็จในเวลาไม่นานนัก ต่อมาได้ยกเลิกมีการเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าว ในวันที่ 31 ธ.ค.2546 จำได้มั้ยว่าวันอะไร วันที่รัฐบาลนายทักษิณ สั่งให้เป็นวันทำงาน และให้ไปหยุดวันที่ 2 ม.ค.2547 แทนนั่นงัยละครับพี่น้อง
ก่อนจะมีการซื้อแคชเชียร์เช็คเลขที่ 0002275 จำนวน 26 ล้านบาท เพื่อเข้าบัญชี บล.ธนชาต มีการสั่งจ่าย “บริษัท หลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด (มหาชน)” หรือ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาติ” แทน
ดูจะไม่มีอะไรใช่มั่ย...ทางฝ่ายตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบบัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยธนาคาร สาขาบางพลัด ของนายวิชัย พบว่า ก่อนที่จะมีเงิน 300 ล้านบาทเข้ามา บัญชีนี้มียอดเงินคงเหลือแค่ 16,657,162.41 บาท
สืบสาวเส้นทางการไหลของเงินแล้ว จึงน่าเชื่อได้ว่า เงิน 26 ล้านบาท ที่นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คเพื่อสั่งจ่ายเข้าบัญชี บล.ธนชาต เป็นเงินที่มาจากเงินกู้ธนาคารกรุงไทย
แต่ทาง พานทองแท้ ปฏิเสธว่าเป็นเงินซื้อหุ้น ไม่เกี่ยวกัน เป็นเงินฝากซื้อหุ้น และพนักงานอัยการ-ดีเอสไอที่เป็นต้นธารแห่งความยุติธรรม ดันเชื่อ....
ทว่าหากใครมีสติลองย้อนไป พิจารณาจากคำตัดสินของศาล โดยเฉพาะ นายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา และเจ้าของสำนวน ที่ให้ความเห็นและวินิจฉัยเรื่องเส้นทางการเงินในคดีนี้ ตอนตัดสินเอาผิดผู้บริหารธนาคารกรุงไทยรวดเดียว 26 คน เขียนไว้ละเอียดว่า
“…เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2546 นายธีรโชติ พรมคุณ พนักงานของจำเลยที่ 20 (บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)) ได้ซื้อแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท โดยหักจากบัญชีของจำเลยที่ 25 (นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร) สั่งจ่ายนายพานทองแท้ ชินวัตร และนำเข้าบัญชีของนายพานทองแท้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 184-0-47447-0 แต่ในวันเดียวกันมีการยกเลิกรายการ
ครั้นวันรุ่งขึ้นนายธีรโชติซื้อแคชเชียร์เช็ค 26 ล้านบาท สั่งจ่ายบริษัทหลักทรัพย์
ธนชาต จำกัด (มหาชน) เพื่อชำระค่าหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางเกศินี จิปิภาพ มารดาของนางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขาส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยาของนายทักษิณ ขณะนั้น
ต่อมานางเกศินี ได้สั่งจ่ายเช็ค 1.8 ล้านบาท เข้าบัญชีของนายพานทองแท้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน
แต่นายพานทองแท้ ชี้แจง ว่า จำเลยที่ 26 นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ฝากนายวันชัย หงส์เหิน สามีนางกาญจนาภา หงษ์เหิน) ซื้อหุ้นบริษัท ช.การช่าง จำกัด ผ่านบัญชีของนางเกศินี ครบกำหนดชำระหุ้นเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2546
โดยก่อนครบกำหนดชำระค่าหุ้น เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2546 จำเลยที่ 26 โทรศัพท์มาแจ้งว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่นำแคชเชียร์เช็คค่าหุ้น 26 ล้านบาท เข้าบัญชีของตนเพื่อฝากโอนให้บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต ตนเกรงว่าอาจล่าช้าชำระไม่ทันกำหนด จึงแนะนำให้จำเลยที่ 26 ชำระเงินให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต โดยตรง
จำเลยที่ 26 จึงยกเลิกธุรกรรมที่นำแคชเชียร์เช็คฝากเข้าบัญชีของตน
ศาลเห็นว่า เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ทางปฏิบัติในการซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์นั้น ผู้จะซื้อขายหลักทรัพย์จะต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์และจะต้องแจ้งเลขที่บัญชีธนาคารให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์โอนเงินเข้าบัญชีเมื่อมีการสั่งขายหลักทรัพย์ หรือให้บริษัทหลักทรัพย์หักเงินจากบัญชีเมื่อมีการสั่งซื้อหลักทรัพย์
แม้นายพานทองแท้ จำเลยที่ 26 มีความสนิทสนมกัน ต่างก็มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตัวเอง หากจำเลยที่ 26 ได้ฝากนายวันชัยซื้อหุ้นตามที่อ้าง จำเลยที่ 26 ย่อมสามารถโอนเงินค่าหุ้นเข้าบัญชีธนาคารของนายวันชัยหรือโอนเข้าบัญชีธนาคารของบริษัทหลักทรัพย์ได้โดยตรงอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 26 ต้องนำเงินไปซื้อแคชเชียร์เช็คฝากเข้าบัญชีธนาคารของนายพานทองแท้เพื่อฝากชำระค่าหุ้นให้นายวันชัยอีกทอดหนึ่ง
ข้ออ้างของนายพานทองแท้ฟังไม่ขึ้น....
แต่ในปี 2561 อัยการสั่งไม่ฟ้อง นายพานทองแท้ และ นางเกศินี จิปิภพ มารดาของนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานไม่พอที่จะสั่งฟ้อง และพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก็เห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน เนื่องจากยังขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน
วันที่ 12 ตุลาคม 2561 พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า การที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายพานทองแท้ กรณีเช็ค 26 ล้านบาท ฐานสมคบและร่วมกันฟอกเงิน พนักงานสอบสวนดีเอสไอจึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากยังขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน
แต่ในส่วน นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยาของนายทักษิณ กับนายวันชัย หงษ์เหิน สามี อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องฐานสมคบ และร่วมกันฟอกเงิน เฉพาะการรับเช็ค 26 ล้านบาท ก่อนที่นางกาญจนาภา และ นายวันชัย จะถูกออกหมายจับ หลังหลบหนีคดีออกไปนอกประเทศ ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.2561
7 ตุลาคม 2564 นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดแถลงข่าวกรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งกลับคำ “สั่งยกฟ้อง”ในคดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย กรณีแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท ในส่วนของ นางกาญจนาภา
หงษ์เหิน และนายวันชัย หงษ์เหิน ผู้เป็นสามี โดยได้ส่งหนังสือความเห็นกลับคำสั่งเป็น
“สั่งไม่ฟ้อง”
ตอนนี้จึงเหลือแค่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า จะโต้แย้งความเห็นของพนักงานอัยการที่กลับความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้หรือไม่ ถ้าไม่เห็นแย้ง คดีฟอกเงิน จากการับเงินปากถุงจากการปล่อยกู้เงินของแบงก์รัฐ
ก็จบเห่....
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3725 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 24-27 ต.ค.2564