วันนี้... นายปกครองได้นำคดีพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาจ้างมาพูดคุยกัน โดยสัญญาจ้างที่ว่านี้... เป็นสัญญาที่เทศบาลจ้างเอกชนให้ดำเนินการวางท่อระบายนํ้า อันเป็นการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค ซึ่งถือเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้น จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
โดยคดีดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเรียกค่าปรับกรณีผู้รับจ้างส่งมอบงานล่าช้าครับ
เรื่องมีอยู่ว่า... เทศบาลแห่งหนึ่งได้ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ให้วางท่อระบายนํ้าโครงสร้างเหล็ก (คสล.) ในราคา 220,000 บาท ซึ่งจะต้องทำงานให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559 แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ไม่สามารถทำงานเสร็จตามเวลาได้ โดยต่อมาได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มีนาคม 2559 ถึงประธานกรรมการตรวจการจ้างเพื่อขอส่งมอบงานตามสัญญาจ้าง ซึ่งคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานจ้างดังกล่าวแล้ว มีความเห็นว่าปริมาณและคุณภาพถูกต้องครบถ้วน ควรเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เป็นเงินจำนวน 214,720 บาท โดยหักค่าปรับจากการผิดสัญญาเนื่องจากส่งมอบงานล่าช้าออกแล้ว
แต่เทศบาลยังไม่ชำระค่าจ้าง โดยให้เหตุผลว่าอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาเบิกจ่ายเงินเพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เทศบาลชำระเงินค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ตน
คดีมีประเด็นที่ชวนคิดว่า... หากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ ซึ่งผู้ว่าจ้างไม่ได้บอกเลิกสัญญา เมื่อต่อมาผู้รับจ้างทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานแล้ว โดยผู้ว่าจ้างไม่ได้มีหนังสือแจ้งสงวนสิทธิเรียกค่าปรับต่อผู้รับจ้าง ในกรณีเช่นนี้... 1. ผู้ว่าจ้างจะมีสิทธิเรียกค่าปรับตามสัญญาจากผู้รับจ้างได้หรือไม่? และ 2. ผู้ว่าจ้างจะยังไม่จ่ายเงินค่าจ้างโดยอ้างเหตุขัดข้องเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินตามระเบียบได้หรือไม่?
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อครบกำหนดส่งมอบงาน ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับจ้างยังทำงานไม่แล้วเสร็จ และเทศบาล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ยังไม่บอกเลิกสัญญาจ้าง ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการตรวจการจ้างเพื่อขอส่งมอบงานตามสัญญา ซึ่งคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานจ้างดังกล่าวแล้วมีความเห็นว่าปริมาณและคุณภาพถูกต้องครบถ้วนและควรเบิกจ่ายค่าจ้างจำนวน 215,720 บาท โดยหักค่าปรับจากการส่งมอบงานช้าล่ากว่ากำหนด เป็นเงินจำนวน 5,280 บาท ตามข้อ 5 ข และข้อ 15 ของสัญญาจ้าง เทศบาลจึงมีข้อผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ได้ดำเนินการโดยสุจริต
ในส่วนค่าปรับกรณีส่งมอบงานล่าช้านั้น เมื่อมาตรา 381 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้วจะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้”
และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 127 วรรคห้า กำหนดว่า“เมื่อครบกำหนดส่งมอบพัสดุตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรีบแจ้งการเรียกค่าปรับตามสัญญาหรือข้อตกลงจากคู่สัญญา และเมื่อคู่สัญญาได้ส่งมอบพัสดุ ให้หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นบอกสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับในขณะที่รับมอบพัสดุนั้นด้วย”
เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า เทศบาลไม่ได้มีหนังสือแจ้งสงวนสิทธิเรียกค่าปรับแก่ผู้ฟ้องคดี กรณีจึงไม่อาจเรียกเอาค่าปรับตามสัญญาอันเป็นเบี้ยปรับในกรณีที่ส่งมอบงานล่าช้าได้
ดังนั้น เทศบาลโดยนายกเทศมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) จึงต้องชำระเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างจำนวน 220,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยไม่อาจหักค่าปรับจากการส่งมอบงานล่าช้าได้ รวมทั้งไม่อาจอ้างการดำเนินการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างที่ไม่ชอบด้วยระเบียบที่เกี่ยวข้อง อันเป็นขั้นตอนภายในของหน่วยงานผู้ว่าจ้างมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้การปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาจ้างต้องล่าช้าออกไปได้ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 18/2564)
สรุปได้ว่า... เมื่อครบกำหนดส่งมอบงานแล้ว แต่ผู้รับจ้างยังทำงานไม่แล้วเสร็จและผู้ว่าจ้างยังไม่บอกเลิกสัญญาจ้าง ซึ่งต่อมาผู้รับจ้างได้ทำงานจนแล้วเสร็จและมีหนังสือส่งมอบงานโดยคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานจ้างแล้ว ผู้ว่าจ้างจึงมีข้อผูกพันตามกฎหมายและมีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างที่ได้ดำเนินการโดยสุจริต
และผู้ว่าจ้างจะเรียกเอาค่า ปรับตามสัญญากับผู้รับจ้างจากการส่งมอบงานล่าช้าได้ก็ต่อเมื่อได้แจ้งหรือบอกสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาค่าปรับต่อผู้รับจ้าง เมื่อครบกำหนดส่งมอบงานและในขณะที่ได้รับมอบงานจ้างจากผู้รับจ้าง หากไม่มีการแจ้งดังกล่าวก็จะไม่สามารถเรียกเอาค่าปรับตามสัญญาจากผู้รับจ้างได้นะครับ
(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่น ๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)