สิทธิในการฟ้องขอให้ตรวจสอบ ‘ความปลอดภัยของโรงงาน’

07 ต.ค. 2564 | 04:58 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2564 | 11:58 น.

สิทธิในการฟ้องขอให้ตรวจสอบ ‘ความปลอดภัยของโรงงาน’ : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,720 หน้า 5 วันที่ 7 - 9 ตุลาคม 2564

อุทาหรณ์จากคดีปกครองในฉบับนี้... เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “สิทธิในการฟ้องคดีปกครอง” โดยเป็นกรณีพิพาทที่เกี่ยว ข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้หน่วยงานของรัฐผู้มีหน้าที่ทำการตรวจสอบความปลอดภัยของโรงงานที่ตนเห็นว่าอาจเกิดอันตรายขึ้นได้

 

คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นวิศวกรของบริษัทซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานพิพาทและมีบ้านพักอาศัยอยู่ในโซน ที่ตั้งของโรงงานดังกล่าว ซึ่งเป็นโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงแยกก๊าซอีเทนและ โรงงานผลิตสารฟีนอล ได้มีหนังสือร้องขอให้หน่วยงานของรัฐตรวจสอบความปลอดภัยของโรงงานดังกล่าว โดยอ้างว่าไม่มีเสาเข็ม เพื่อใช้รองรับโครงการขนาดใหญ่ จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการทรุดตัว และอาจมีการรั่วของก๊าซไวไฟซึ่งจะส่งผลให้เกิดการระเบิดที่รุนแรงได้ รวมทั้งถังนํ้ามันหรือสารเคมีเหนือพื้นดินในโรงงานครบกำหนดอายุใช้งาน 5 ปีแล้ว

 

เมื่อไม่มีการแจ้งผลให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ทำการตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรง และความเสี่ยงภัย จากวัตถุอันตรายของโรงงานดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ 

 

คดีมีประเด็นที่น่าสนใจว่า ...ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลปกครองหรือไม่?   

 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อพิพาทตามฟ้องเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดี ปกครอง พ.ศ. 2542 

 

โดยผู้ฟ้องคดีอ้างว่าถังนํ้ามัน หรือ สารเคมีเหนือพื้นดินในโรงงานครบกำหนดอายุใช้งาน 5  ปี ที่จะต้องทำการตรวจสอบตามประกาศกระทรวงพลังงานฯ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการดำเนินงานของผู้ประกอบอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย รวมทั้งการดำเนินการที่เกี่ยวกับการสาธารณสุขหรือที่กระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม 

 

เมื่อผู้ฟ้องคดีมีบ้านพักและ พักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ตั้งของโรงงานและเห็นว่าตนมีโอกาสได้รับอันตรายต่อชีวิตและร่างกายจากรังสีความร้อนในระยะ 2,000 เมตร หากถังนํ้ามัน หรือ ถังสารเคมีของโรงงานเกิดการระเบิด เนื่องจากไม่ได้รับการตรวจสอบซ่อมบำรุง ตามรายงานประเมินอันตรายรุนแรงและผลกระทบของโรงแยกก๊าซฯ

 

พิพาทในชั้นนี้จึงถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อน หรือ เสียหาย โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อน หรือ ความเสียหายของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวนั้น เป็นกรณีที่ศาลมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ โดยดำเนินการตรวจสอบและแจ้งผลให้ผู้ฟ้องคดีทราบ 

 

 

สิทธิในการฟ้องขอให้ตรวจสอบ ‘ความปลอดภัยของโรงงาน’

 

 

ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ 

มีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไป อีกว่า ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาการฟ้องคดี หรือไม่ ?

 

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า แม้การฟ้องคดีนี้จะเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ แล้ว แต่เมื่อข้อหาตามฟ้องเป็นกรณีที่อาจส่งผลกระทบที่อันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบโรงงานเป็นระยะทางถึง 2,000 เมตร ได้ หากถังนํ้ามันหรือถังสารเคมีดังกล่าวมีการชำรุด รั่วไหลหรือระเบิดเนื่องจากมิได้มีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงตามมาตรฐาน 

 

การฟ้องคดีนี้จึงย่อมเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทุกคน ที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ในบริเวณรัศมี 2,000 เมตรโดยรอบโรงงานทั้งสาม การรับคำฟ้องไว้พิจารณาจึงเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ จึงกลับคำสั่ง ของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คส. 12/2563) 

 

สรุปได้ว่า... ผู้ฟ้องคดีซี่งมีบ้านพักและพักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ตั้งโรงงาน ถือเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้หน่วยงานผู้มีหน้าที่ทำการตรวจสอบความปลอดภัยของโรงงานที่เห็นว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายและระเบียบกำหนดไว้ 

 

และแม้ว่าจะยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลเห็นว่าการฟ้องคดีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วย เช่น เป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่มีบ้านพักโดยรอบโรงงาน ศาลก็มีอำนาจที่จะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้แม้พ้นระยะเวลาการฟ้องคดีแล้วนั่นเองครับ... 

 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)