เชื่อว่าหลายท่านคงเคยเข้าร่วมการประมูลต่างๆของหน่วยงานภาครัฐ เพราะเราอาจได้ของที่ยังมีสภาพดีในราคาที่ไม่แพง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้เข้าร่วมการประมูลจะสู้ราคากันแค่ไหนเพียงใดด้วย และแน่นอนว่า ... ก่อนจะเข้าร่วมประมูลก็จะต้องมีการลงทะเบียนหรือปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆที่กำหนดไว้
คดีปกครองน่ารู้วันนี้ ... เป็นเรื่องของผู้เข้าร่วมประมูลซึ่งยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐ (ผู้จัดประมูล) ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายจากการดำเนินการประมูลพัสดุโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคดี
มีประเด็นน่าสนใจว่า ... ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมการประมูลอย่างถูกต้อง แต่ไม่ใช่ผู้ที่จะมีโอกาสชนะการประมูล เช่นนี้จะมีสิทธิเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีการกระทำละเมิดอันเกิดจากการจัดประมูลโดยไม่ชอบได้หรือไม่?
ข้อเท็จจริงของคดีมีอยู่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดี (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ได้จัดให้มีการจำหน่ายพัสดุประเภทรถจักรยานยนต์ที่ใช้งานแล้ว ด้วยวิธีการแข่งขันเสนอราคาด้วยวาจา หรือ การประมูล
โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมการประมูลอย่างถูกต้องเพียง 2 ราย คือ ผู้ถือป้ายเสนอราคาหมายเลข 1 และผู้ฟ้องคดีซึ่ง เป็นผู้ถือป้ายเสนอราคาหมายเลข 2
แต่เมื่อถึงเวลาประมูลได้มีผู้ที่มิได้ลงทะเบียนประมูลรถจักรยานยนต์เข้าร่วมยกป้ายเสนอราคา เพิ่มขึ้นอีก 3 คน ประกอบด้วย ผู้ถือป้าย เสนอราคาหมายเลข 5 หมายเลข 31 และหมายเลข 51 (เป็นผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประมูลรถประเภทอื่น)
ผลการประมูลปรากฏว่า ผู้ถือป้ายเสนอราคาหมายเลข ๕ ซึ่งมิได้ลงทะเบียนเป็นผู้เข้าร่วมประมูลรถจักรยานยนต์ เป็นผู้ชนะการประมูล โดยยกป้ายเสนอราคาที่ 7,000 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงที่สุด
ส่วนผู้ฟ้องคดียกป้ายเสนอราคาที่ 5,800 บาท ขณะที่ผู้ถือป้ายเสนอราคาหมายเลข 1 ยกป้ายเสนอราคาเป็นเงิน 6,800 บาท คณะกรรมการกำหนดราคาขายและพิจารณาผลการประมูลจึงมีคำสั่งรับคำเสนอซื้อรถจักรยานยนต์จากผู้ถือป้ายเสนอราคาหมายเลข 5
ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้โต้แย้งผลการประมูลว่า เป็นการดำเนินการผิดเงื่อนไขการประมูล ซึ่งคณะกรรมการฯได้พิจารณาแล้วเห็นพ้องด้วย และได้ยกเลิกการประมูลครั้งนี้ไปในที่สุด
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่คณะกรรมการฯ ยินยอมให้บุคคลซึ่งมิได้ลงทะเบียนเพื่อประมูลรถจักรยานยนต์เข้าร่วมประมูลด้วยจนชนะราคา ถือเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการประมูลและมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เข้าร่วมประมูล จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกร้องให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ชดใช้ค่าเสียหายแก่ตนเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท
คดีมีประเด็นที่น่าสนใจว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ที่เสนอราคาสูงเป็นลำดับที่ 3 ซึ่งมิใช่เป็นผู้ที่เสนอราคาสูงเป็นลำดับที่ 2 รองลงมาจากผู้ชนะการประมูล ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย กรณีนี้ถือว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับ ความเสียหายจากการกระทำละเมิดอันเกิดจากการประมูลโดยไม่ชอบ ที่มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานของรัฐหรือไม่?
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า การที่คณะกรรมการฯ มีคำสั่งรับคำเสนอซื้อรถจักรยานยนต์จากผู้ถือป้ายเสนอราคาหมายเลข 5 ซึ่งมิได้ลงทะเบียนเป็นผู้เข้าร่วมประมูลรถจักรยานยนต์ ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและผู้ถูกฟ้องคดีได้ยกเลิกการประมูลครั้งดังกล่าวไปแล้ว
โดยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการประมูลที่ไม่ถูกต้อง ย่อมได้แก่ผู้ถือป้ายเสนอราคาหมายเลข 1 ซึ่งเป็นผู้ลงทะเบียนประมูลอย่างถูกต้อง และเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดรองจากผู้ถือป้ายเสนอราคาหมายเลข 5 ซึ่งชนะการประมูล
การที่จะมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดจะต้องปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้มีโอกาสชนะการประมูล ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจาก
การดำเนินการประมูลรถจักรยานยนต์โดยไม่ชอบ จึงถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 755/2563)
สรุปได้ว่า ...แม้จะเป็นผู้ที่เข้าร่วมการประมูล แต่ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีโอกาสชนะการประมูล (เสนอราคาลำดับรองจากผู้ชนะการประมูล) ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดให้ได้รับความเสียหาย จากการดำเนินการประมูลโดยไม่ชอบ และไม่อาจได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานของรัฐผู้จัดประมูล ... นั่นเองครับ
(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)