เปิดประเทศ 1 พ.ย.64 ปั๊มชีพจรเศรษฐกิจ

30 ต.ค. 2564 | 23:30 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย... ว.เชิงดอย

+++ คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3727 ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 3 พ.ย.2564 “ว.เชิงดอย” ประจำการรายงานสถานการณ์บ้านเมืองทุกแง่มุม เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม


+++ น่ายินดีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ “โควิด-19” ของประเทศไทยโดยรวม ถือว่า “ดีขึ้น” ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ณ วันที่ 27 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่  8,452 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ต้นปี 63 มีจำนวน 1,875,315 ราย ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ 98,096 ราย ผู้ป่วยรักษาหายสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 1,758,297 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 57 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 18,828 ราย


+++ สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ณ วันที่ 27 ต.ค.2564 พบว่ายอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดใหม่ใน 50 เขต มีจำนวน 702 ราย ต่ำกว่าระดับพันรายมาหลายวันแล้ว โดย เขตลาดพร้าว มีผู้ติดเชื้อนำโด่ง 80 ราย ตามด้วย บางบอน 55 ราย และ ราชเทวี 48 ราย ขณะที่เขนบางกอกใหญ่ และ เขตบางคอแหลม ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

+++ ส่วนการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ภาคใต้ พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยง กรมควบคุมโรค อัพเดทว่า แนวโน้มการติดเชื้อในพื้นที่  4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแนวโน้มทรงตัว และค่อยๆ ลดลง โดยสาธารณสุขได้เร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยง กลุ่มนักเรียนนักศึกษา และแรงงานในพื้นที่ โดยมีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งในพื้นที่ เป็นการระบาด ในครอบครัว ชุมชน โดยเฉพาะในตลาด ร้านอาหาร ร้านน้ำชา


+++ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง แสดงความมั่นใจว่า การเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 2564 จะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 โตได้ไม่ต่ำกว่า 1% หลังจากช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทย ขยายตัวได้ 2% โดยเชื่อมั่นว่าช่วงครึ่งปีหลังตัวเลขเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย ที่ได้รับแรงหนุนจากการเปิดประเทศ ขณะเดียวกันภาคการส่งออกก็มีทิศทางที่ดี แต่ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ยังต้องติดตาม แต่แม้จะ “เปิดประเทศ” แล้ว แต่ก็มองการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้หลายภาคส่วนยังประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในปี 2565 ต่างกันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6-8 ล้านคน

+++ ด้านผู้บริหารที่ดูแลการท่องเที่ยว ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประมาณการณ์ว่า หลัง “เปิดประเทศ” 1 พ.ย.2564 เปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศความเสี่ยงต่ำแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือ ไฮซีซั่น 5 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ พ.ย.2564-มี.ค.2565 จำนวน 1.1 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้รายงานต่อนายกฯและที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แล้ว


+++ ขณะเดียวกันคาดการณ์ว่า ตลอดปี 2564 ประเทศไทยจะมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวประมาณ 3.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 6 หมื่นล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ล้านคน แนวโน้มตัวเลขนี้ยังเป็นไปได้ โดยเพิ่มจากคาดการณ์เดิมซึ่งอยู่ที่ 1 แสนคน และคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะใช้จ่ายราว 60,000 บาทต่อคนต่อทริป ส่วนรายได้จากตลาดในประเทศคาดมี 3.2 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยวไทยจำนวน 60 ล้านคนต่อครั้ง ใช้จ่ายคนละประมาณ 4,000 บาทต่อคนต่อทริป


+++ เมื่อมีการ “เปิดประเทศ” ผ่อนคลายมาตรการ ธุรกิจ ห้างร้าน สถานประกอบการณ์ต่าง ๆ สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ ผลที่จะตามมาก็คือ “ภาคแรงงาน” ก็จะกลับเข้าสู่ระบบ กลับมามีงานทำ มีรายได้ เลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคยซบเซามาร่วม 2 ปี ก็จะกลับมาคึกคัก คืนชีวิตชีวา  


++++ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีแรงงานถูกเลิกจ้าง แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม คือ 1. แรงงานในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 2.5 ล้านคน 2. แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาดและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน และ 3.การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19  เช่น การปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะมีแรงงานได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้าน …เมื่อ “เปิดประเทศ” และสถานการณ์โควิด-19 ทุเลาเบาบางลง ก็หวังว่า “ชีพจรเศรษฐกิจ” ของประเทศไทย จะกลับมาสูบฉีดให้เกิดความคึกคักดังเดิมต่อไป