ข่าวการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ของ คุณนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรค และอดีต ส.ส.พัทลุง ติดต่อกันหลายสมัย บุคคลที่ผูกพันอยู่กับพรรคมายาวนานถึง 29 ปี ที่ต้องตัดสินใจหันหลังทิ้งพรรคที่ตนรักสุดหัวใจ เพื่อมุ่งหน้าไปร่วมสร้างพรรคใหม่ สู้เพื่อภารกิจใหม่ทางการเมืองที่ คุณนิพิฎฐ์ ประกาศว่า "เป็นสงครามครั้งสุดท้าย" ในชีวิตทางการเมืองของตน ได้สร้างความสั่นสะเทือนทางการเมืองแก่พรรคประชาธิปัตย์อย่างยิ่ง
ที่สำคัญทำให้เกิดอาการช็อคกับคนที่รักพรรคประชาธิปัตย์ และผู้สนับสนุนพรรคจำนวนไม่น้อยทั่วประเทศ ข่าวนี้ทำให้เกิดความงุนงงแก่ผู้คนโดยทั่วไป ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่คนเก่าแก่ บุคคลสำคัญๆของพรรคจำนวนมาก จึงได้ทะยอยโบกมือลาจากพรรค ในยุคที่มีหัวพรรคที่ชื่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ชนิดที่เลือดใหม่ไม่ไหลเข้า แต่เลือดเก่าไหลออกทุกวัน
ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่เคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ บอกตรงๆ ว่าเคยศรัทธาเลื่อมใสในพรรคนี้มาก่อน โดยเป็นผู้เสียเงินค่าบำรุงและเป็นสมาชิกพรรคแบบตลอดชีพ แต่สุดท้ายก็ต้องลาออกจากพรรค ผมได้มีโอกาสทำงานและรู้จักบุคคลสำคัญๆ ทางการเมืองของพรรคหลายท่าน ด้วยความเคารพและชื่นชมในจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองของท่านเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง
หลายท่านจนถึงวันนี้ผมยังให้ความเคารพนับถือ รวมถึง คุณนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ผมให้เกียรติและให้ความเคารพนับถือในความเป็นนักการเมืองคุณภาพ และเป็นผู้มีอุดมการณ์ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทำงานการเมืองด้วยความรู้ ความสามารถ ที่ยึดมั่นในความสุจริตและซื่อสัตย์ เดินตามรอยท่าน ชวน หลีกภัย ผู้เป็นต้นแบบที่ดีแก่ชาวประชาธิปัตย์ตลอดมา อย่างที่คุณนิพิฎฐ์ เปิดเผยต่อทุกคนว่า นายชวน หลีกภัย คือ "เทพเจ้าทางการเมือง" ของตนนั่นเอง ส่วนเหตุผลที่ผมต้องจากมาคงไม่จำเป็นต้องนำมาสาธยาย เพราะคนที่ออกมาจากพรรคทั้งหลายก็เป็นคำตอบในตัวเองอยู่แล้ว
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2489 นับถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาถึง 75 ปี เป็นพรรคการเมืองที่มีลักษณะมวลชน (Mass Party) มากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองไทย ที่มีอายุใก้ลเคียงกับพรรคการเมืองเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียด้วยกันที่สุด อาทิ พรรคคองเกรส ของอินเดีย พรรคก๊กมินตั๋ง หรือพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ มีความเป็นไปได้ที่สามารถจะพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นพรรคการเมืองแห่งชาติได้ (National Party) ถ้าพรรคนี้เดินแนวทางการเมืองของตนที่ถูกต้อง และโดยไม่ละทิ้งประชาชน
แต่ปรากฏการณ์ของพรรคในปัจจุบัน ดูเหมือนจะยิ่งถอยห่างไปจากความเป็นจริง ห่างไกลจากอดีตที่เคยยิ่งใหญ่และได้รับความนิยมอย่างสูงจากประชาชนในอดีตไปทุกที จนแทบไม่น่าเขื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย พื้นที่ภาคใต้อันเป็นฐานที่มั่นสำคัญ ต้องสูญเสียให้กับพรรคการเมืองหน้าใหม่ไปจำนวนมาก พื้นที่กรุงเทพมหานคร ประชาธิปัตย์ไม่ได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียว ถือว่าเป็นยุคที่ตกต่ำที่สุดของประชาธิปัตย์ เมื่อเทียบกับอดีตที่เคยรุ่งเรือง
การที่ประชาธิปัตย์ ต้องเผชิญกับปัญหาที่คนดี คนเก่ง คนสำคัญๆ ของพรรคต่างทะยอยลาออกจากพรรค ชนิดสั่นสะเทือนพรรคอย่างยิ่งเช่นนี้ จึงมิใช่ปรากฏการณ์ปกติธรรมดา สะท้อนให้เห็นว่าพรรคนี้คงมีปัญหาเรื่องการนำอยู่จริง เพราะถ้าไล่เลียงรายชื่อคนที่ออกไปจากพรรคได้แก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค, นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรค, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรองหัวหน้าพรรค, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม, นายนิพิฎฐ์ อิทรสมบัติ
และไม่นับรวม คุณณัฏฐพล ทีปสุวรรณ คุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กับบรรดา ส.ส., ส.ก. อีกจำนวนมาก ที่ต่างหันหลังทิ้งพรรคไปแล้วก่อนหน้า ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นอยู่กับพรรคมายาวนาน สภาพการณ์ดังกล่าว จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่พรรคมิอาจหยุดเลือดมิให้ไหลออกจากพรรค โดยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากผู้บริหารและหัวหน้าพรรค ในการจัดการกับปัญหาและรับมือกับสถานการณ์ที่สั่นสะเทือนพรรคดังกล่าวลงได้
ปรากฏการณ์ที่เลือดใหม่ไม่ไหลเข้า เลือดเก่าไหลออกไม่หยุดของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัยของพรรคๆ นี้ ยกเว้นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของพรรคคือ ช่วงปี 2535-2544 ยุคที่มี นายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นเลขาธิการพรรค เท่านั้น ที่พรรคประชาธิปัตย์ ประสบความสำเร็จสูงสุด ที่สามารถทำให้ นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึงสองสมัย คือ
ครั้งที่ 1 เมื่อ 23 กันยายน 2535-12 กรกฎาคม 2538 ( 2 ปี 292 วัน) ครั้งที่ 2 เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2540-9 กุมภาพันธ์ 2544 ( 3ปี 92 วัน) ซึ่งถือเป็นยุคที่ผู้นำพรรคและผู้บริหารพรรค เป็นทีมที่ลงตัวที่สุด มีการนำที่เข้มแข็งเป็นเอกภาพที่สุด และมีการสร้างแนวร่วมของพรรคและความสัมพันธ์ที่ดีกับมวลชนนอกพรรค รวมถึงการสามัคคีกับกลุ่มและพรรคการเมืองอื่นๆ พรรคทำได้ดีที่สุด ไม่ปิดกั้นและคับแคบ ไม่ทำลายพันธมิตรทางการเมืองของตน จึงทำให้พรรคได้รับการสนับสนุนและยอมรับในบทบาทการนำในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี มีคนดีคนเก่งจำนวนมากหลั่งไหลมาร่วมงานกับพรรค จนประสบความสำเร็จในทางการเมือง
จึงพอจะสรุปได้ว่า สิ่งที่เป็นปัญหาและจุดอ่อนของพรรคการเมืองลักษณะมวลชน (Mass Party) ที่ไม่มีนายทุน ไม่มีเถ้าแก่เป็นเจ้าของพรรคอย่างพรรคประชาธิปัตย์ จึงขึ้นอยู่กับ “บารมี” ของคนเป็นหัวหน้าพรรค และทีมบริหารพรรคเป็นสำคัญ คนที่เป็นผู้นำหรือหัวหน้าพรรคต้องมีบารมีในการนำ (Charisma Leadership) ต้องสามารถหลอมรวมจิตวิญญาณของคนในพรรค และต้องรู้จักสามัคคีประชาชน ทำให้ทั่วทั้งพรรคเป็นเอกภาพ สามัคคีกันบนพื้นฐานอุดมการณ์ของพรรคได้ หัวหน้าพรรคต้องไม่คับแคบ ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก การกระจายอำนาจ แบ่งบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบภายในพรรคเป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อจะเป็นพรรคการเมืองของประชาชน ต้องสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชน ร่วมทุกข์ร่วมสุขร่วมต่อสู้กับประชาชน
พรรคประชาธิปัตย์เคยมีมวลชนสนับสนุนจำนวนเรือนแสนเรือนล้านทั่วประเทศ ในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. แต่ผู้นำพรรคก็ไม่รู้จักสามัคคีประชาชน ในที่สุดมวลชนนับสิบๆ ล้านทั่วประเทศ ต่างหันหลังให้กับพรรค หันไปสนับสนุนลุงตู่ เหตุเพราะพรรคไม่เคยให้ความสำคัญและใส่ใจประชาชนเหล่านั้น แถมในยุคที่พรรคเป็นรัฐบาล ยังตั้งข้อหาดำเนินคดีกับประชาชนเหล่านั้นเสียอีกว่าเป็นผู้ก่อการร้าย จึงเป็นการทำลายโอกาสแห่งความยิ่งใหญ่ของพรรค ให้จบลงอย่างน่าเสียดาย
นี่คือปัญหาที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ต้องติดกลับดักความถดถอยของตนมาจนถึงวันนี้ ดังนั้น ถ้าคิดจะก้าวเดินไปข้างหน้า กลับมาสู่เส้นทางแห่งความถูกต้อง ทำให้พรรคเป็นพรรคของมวลชนโดยแท้จริง พรรคต้องสลัดตนให้พ้นกลับดัก ทำลายวัฒนธรรมเก่าๆ และแนวคิดทางการเมืองที่ผิดพลาด สรุปบทเรียนความล้มเหลว และหันมาปรับปรุงการนำพรรคเสียใหม่อย่างจริงจังเท่านั้น พรรคจึงจะหยุดปัญหาเลือดหยุดไหลลงได้ และจึงจะได้รับความนิยมศรัทธาจากมหาชน
เพราะประชาธิปัตย์ คือ พรรคของมวลชน หากปราศจากการสนับสนุนของประชาชน พรรคก็ไม่อาจบรรลุภารกิจทางการเมืองให้สำเร็จได้ จึงขอฝากเป็นข้อคิดกับชาวประชาธิปัตย์ ด้วยความเป็นกัลยาณมิตรครับ