ไม่มีใครได้ทุกสิ่งที่ต้องการ ในการเปลี่ยนผ่าน ความเป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัว

12 ธ.ค. 2564 | 09:49 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2564 | 16:49 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

การเปลี่ยนผ่านความเป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัวนั้นมีความซับซ้อนทั้งในด้านการเงินและอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งการดำเนินการของครอบครัวในเรื่องเหล่านี้จะทำได้ดีที่สุดเมื่อทุกคนเข้าใจตรงกันในเรื่องของเป้าหมายของการเปลี่ยนผ่านนี้ และโดยทั่วไปแล้วครอบครัวมักจำเป็นต้องพยายามทำสิ่งต่อไปนี้ให้สำเร็จ

 

1. จัดการให้รุ่นอาวุโสออกจากธุรกิจในลักษณะที่ความต้องการทางการเงินหลังเกษียณของพวกเขาได้รับการตอบสนองอย่างสมเหตุสมผล เพราะไม่มีใครอยากวางมือจากการควบคุมธุรกิจของตนโดยปราศจากความชัดเจนของอนาคตทางการเงิน

 

2. ให้โอกาสเจ้าของธุรกิจรุ่นต่อไปในการควบคุมธุรกิจด้วยเงื่อนไขที่สมเหตุสมผล เพื่อให้พวกเขามีโอกาสสร้างมูลค่าให้กับตัวเองในอนาคต

 

3. หากทำในขั้นตอนที่ 1และ 2 ได้สำเร็จจะทำให้ธุรกิจไม่ตกอยู่ในสถานะมีความเสี่ยง และเนื่องจากไม่มีการนำเงินทุนใหม่มาใช้ในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านในครอบครัว ดังนั้นรายได้และกระแสเงินสดในอนาคตของบริษัทจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้เนื่องจากหากการเปลี่ยนแปลงในครอบครัวกดดันบริษัทมากเกินไป ทั้ง 2 รุ่นก็จะประสบปัญหาด้วย

ธุรกิจครอบครัว

นอกจากนี้เนื่องจากดำเนินการเปลี่ยนผ่านในครอบครัว ไม่ได้อาศัยการประเมินมูลค่าหรือโครงสร้างจากบุคคลภายนอก ดังนั้นครอบครัวจึงต้องทำข้อตกลงในลักษณะที่มียุติธรรมและสมเหตุสมผล รวมถึงกำหนดให้ทุกคนยอมเสียสละบ้างและยอมรับว่าจะไม่มีใครได้ทุกสิ่งที่ต้องการเสมอไป ทั้งนี้เนื่องจากความยุติธรรมคือการใช้ดุลยพินิจและเป็นเรื่องของมุมมองของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง

 

ดังนั้นในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านของครอบครัวจึงมักมีความขัดแย้งในเรื่องของความยุติธรรมเป็นเรื่องธรรมดา และข้อพิพาทเหล่านี้มักเกิดจากการที่ทุกคนล้วนเห็นว่ามุมมองของตนนั้นเที่ยงตรงและถูกต้อง ทั้งนี้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมมักเป็นเรื่องของผลประโยชน์ โดยคนรุ่นอาวุโสอาจรู้สึกว่าไม่ได้รับเงินเพียงพอที่จะวางมือจากการควบคุมกิจการ ขณะที่คนรุ่นต่อไปก็รู้สึกว่าตนจ่ายเงินมากเกินไปแล้ว ซึ่งทั้งสองรุ่นมักจะมีเหตุผลของตนเองที่คิดว่าตนนั้นเป็นฝ่ายถูก

 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากดำเนินการเหล่านี้มีลักษณะเป็น “ความร่วมมือ” ดังนั้นทุกคนที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมมือกันอย่างมีเหตุผลและคำนึงถึงเป้าหมายในภาพรวม นั่นคือสุขภาพในระยะยาวและอนาคตของธุรกิจ ซึ่งเมื่อทุกคนมองเห็นเป้าหมายในภาพรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง การเปลี่ยนผ่านก็จะดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่หากทุกคนจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ความต้องการของตนเองเพียงอย่างเดียว สิ่งต่างๆ ก็จะยุ่งเหยิงไปหมด ดังนั้นในตอนเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงควรมีกฎพื้นฐาน ดังต่อไปนี้

 

1. ทุกคนเห็นด้วยกับเป้าหมายในภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยแนวทางต้องมีความยุติธรรมสำหรับทุกคน ซึ่งอาจตรงข้ามกับความยุติธรรมสำหรับตัวบุคคล

 

2. ทุกคนต้องเสียสละเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในภาพรวม ซึ่งหมายความว่าอาจไม่มีใครได้ทุกสิ่งที่ต้องการ

 

ทั้งนี้การเริ่มต้นด้วยกฎพื้นฐานเหล่านี้จะทำให้การเปลี่ยนผ่านในครอบครัวมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งหมายถึงเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและเป็นผลดีต่อความยั่งยืนของธุรกิจต่อไป

 

ที่มา: Vicari, Mario O. September 13, 2021. No One Gets Everything They Want in a Successful Family Ownership Transition. Available: https://www.kmco.com/resource-center/no-one-gets-everything-they-want-in-a-successful-family-ownership-transition/

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,739 วันที่ 12 - 15 ธันวาคม พ.ศ. 2564