จากฐานันดรที่สี่สู่เจ้าของเหมืองหยก (23)

13 ธ.ค. 2564 | 00:00 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีเพื่อนแฟนคลับส่งไลน์มาถามว่า การเจียระไนหยก หรือแกะสลักหยก เขานิยมทำเป็นรูปแบบอะไรบ้าง เอาเป็นว่าการเจียระไนนั้น ผมยังไม่ทราบมีการเจียระไนหรือเปล่า? แต่ที่แน่ๆ การแกะสลักนั้นมีอยู่ค่อนข้างจะหลากหลายครับ แต่ละประเทศก็มีความนิยมที่แตกต่างกันไป ความหมายของการแกะรูปแบบก็แตกต่างเช่นกัน ผมจะขอนำมาเล่าให้อ่านเท่าที่ผมเข้าใจนะครับ หากผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยด้วยเช่นกัน
 

ในประเทศจีนนั้นหากเป็นหยกก้อนเล็กๆ มักจะนิยมแกะสลักเป็นรูปต่างๆ มากมายกว่าประเทศอื่น เช่น น้ำเต้า ซึ่งคำออกเสียงของน้ำเต้ามาจากภาษาจีนกลางว่า “หูหลู” หมายความถึงความอุดมสมบูรณ์ หรือบ้างก็นิยมแกะเป็นรูปเจ้าแม่กวนอิม บ้างก็นิยมแกะเป็นรูปพระสังกัจจายน์ ที่หมายถึงมีความสุข หรือบ้างก็แกะเป็นรูปค้างคาว ภาษาจีนเรียกว่า “เปี่ยนฟู” หมายความถึงความสุขเช่นกัน อีกรูปหนึ่งที่เห็นบ่อยๆคือรูป ฮก หลก ซิ่ว ถ้าแปลเป็นไทยก็คือ ความสุข ความเจริญทางลาภยศ อายุวรรณะ นั่นเองครับ
 

บ้างคนก็ชอบที่จะให้แกะเป็นรูปเหรียญที่มีรูอยู่ตรงกลาง ถ้าใครเคยเห็นเหรียญโบราณประเภทนี้ห้อยคอคนจีนไว้ ซึ่งผมเคยถามเพื่อนฝูงบางคนที่เขาห้อยคออยู่ ว่าห้อยเพื่ออะไร? เขาบอกว่า เพื่อไว้พูดผ่านรูเสมือนปี่สวรรค์ไว้สื่อสารกับเทวดาฟ้าดิน ขอพรโชคลาภ ก็อย่าไปเชื่อมากนะครับ ส่วนหินหยกก้อนใหญ่ๆ ก็นิยมนำมาแกะสลักเลียนแบบหยกผักกาดขาว หรือหยกรูปเนื้อหมูสามชั้น ที่เป็นโบราณวัตถุสำคัญของประวัติศาสตร์จีนครับ ส่วนกำไลข้อมือ รายละเอียดมีเยอะมากไว้ครั้งต่อไปจะเล่าให้ฟังนะครับ
   

ในส่วนของคนไทย ส่วนใหญ่จะชอบการแกะสลักเป็นพระพุทธรูป เอาไว้แขวนคอ มีหมดเกือบทุกปางละครับ แต่ที่นิยมก็ปางสมาธิ กับพระพุทธชินราช แล้วยังมีที่นิยมแกะสลักเป็นรูป 12 นักษัตร คนที่นับถือเจ้าแม่กวนอิม ก็จะนิยมเช่าซื้อมาแขวนคอเช่นกันครับ ถ้าเป็นหินหยกก้อนใหญ่ๆ ก็จะมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป หรือไม่ก็เป็นองค์สมเด็จรัชกาลที่ 5 พระรูปทรงม้า นำเอาไว้บูชาเป็นสิริมงคลไปครับ  
 

ส่วนคนญี่ปุ่น ก็เห็นการแกะสลักรูปถั่วแระสองเมล็ดอยู่ติดกัน เรียกว่า “เอะดา มาแมะ” แล้วนำมาใช้ในพิธีการทางศาสนาชินโต ซึ่งถ้าจะให้เล่า คงจะยึดยาวมาก จะทำให้คนที่ติดตามเรื่องของคุณสุวรรณีเสียอรรถรสไป แต่ผมจะขออนุญาตนำมาเล่าในคราวต่อไปนะครับ
 

ต่อจากเรื่องของคุณสุวรรณีต่อนะครับ การดำเนินไปของชีวิตมนุษย์ แต่ละคนย่อมมีวิถีของการเดินทางทางแตกต่างกันออกไป คุณสุวรรณีเองก็เช่นเดียวกัน ในช่วงหนึ่งของชีวิต ที่ดูออกคล้ายกับจะราบรื่น แต่ก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหรืออุปสรรคค่อนข้างจะเยอะ บ้างครั้งก็คาดไม่ถึงก็มี ซึ่งถ้าเป็นอยู่ในประเทศไทยเรา มักจะไม่ค่อยจะได้พบเจอ แต่ที่ประเทศเมียนมานั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติของชีวิตประชาชนคนธรรมดามากๆเลยครับเลยครับ

สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการดำเนินกิจการของชาวเหมืองหยก หรือแม้แต่เหมืองอัญมณีอื่นๆ คือการเปลี่ยนแปลงจากเจ้าหน้าที่ ที่มักจะเกิดขึ้นเกือบทุกๆปี เพราะที่นั่นการโยกย้ายพนักงานเจ้าหน้าที่จะมีการโยกย้ายบ่อยมากๆ เกือบทุกหกเดือนจะโยกย้ายกันหนึ่งครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในการดำรงค์ตำแหน่ง หรือสถานะของข้าราชการ ทำให้ทางการต้องมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความคุ้นเคยกันกับกลุ่มนายทุน เพราะถ้าคุ้นเคยกันแล้ว การรับสินบาทคาดสินบนก็จะเกิดขึ้นเสมอ
 

แต่สิ่งที่ตามมาก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากแก่ผู้ประกอบการโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกครั้งที่มีการโยกย้ายข้าราชการที่ดูแลเหมืองหยก ก็จะทำให้คุณสุวรรณีที่เป็นผู้ประกอบการ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากข้าราชการ ก็จำเป็นที่จะต้องหาช่องทางทำความรู้จักกับข้าราชการรายใหม่ที่ถูกโยกย้ายเข้ามารับหน้าที่ แน่นอนก็ต้องมีสินกำนัลเป็นธรรมดา ซึ่งคุณสุวรรณีเล่าว่า ทุกครั้งก็ต้องทำใจ และต้องนำเอาค่าใช้จ่ายนั้น มาเป็นต้นทุนในการคิดราคาค่าหยกไว้เสมอ นี่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยครับ
 

มีอยู่ปีหนึ่ง ในขณะที่การค้าเริ่มมีปัญหา เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น การหาหยกก็เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น เผอิญว่าเสมือนเทวดาฟ้าดินเป็นใจ คุณสุวรรณีเธอขุดได้หินหยกก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง ที่หลานชายของสามีใช้ไฟฉายอันเก่าๆ ส่องลงไปที่ก้อนหยกนั้น แล้วเดินมากระซิบบอกเธอว่า น่าจะมี “หัวใจหยก” อยู่ภายใน ขอให้เงียบๆไว้ก่อน แต่ที่ไหนได้ เจ้าพวกแรงงานที่อยู่แถวนั้น ก็เริ่มมีคนกุลีกุจอเข้ามาช่วย จึงเริ่มมีคนแสดงตนเข้ามาช่วยจับช่วยหามมากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เธอเองก็ใจหายแว๊บเหมือนกัน แต่พอไปถึงที่เพิงพักที่บนเหมืองหยก ภูเขาปะกัน ก็มีคนแขกอินเดียเข้ามาเจรจาขอซื้อ โดยให้ราคาสูงพอสมควร แต่เธอก็ใจแข็งไม่ยอมขาย จนกระทั่งเธอได้ขนเอาหินหยกที่หนักอึ้งก้อนนั้น กลับมาถึงบ้านพัก เธอจึงได้ให้คนงานเปิดหน้าหินหยกดู ปรากฏว่าใช้ไฟฉายส่องลงไปดู ก็เห็นแสงสว่างสีเขียวงดงามโผล่ขึ้นมาให้เห็น เธอจึงรำพรรณว่า โชคดีที่ไม่ได้ขายไปก่อนในตอนที่อยู่บนภูเขา หากขายไปคงจะเสียดายแย่เลยครับ
 

ต่อมาเธอได้นำเอาก้อนหินหยกก้อนนั้น ส่งไปประมูลเพื่อจำหน่ายออกไปให้แก่ชาวสิงคโปร์ ก็ปรากฏว่าสนนราคาที่เธอได้มา คิดเป็นเงินไทยก็มากมายถึงเลขแปดหลักเลยทีเดียวครับ ทำให้เธอฟื้นคืนชีพในชั่วข้ามคืนเลยครับ อย่างไรก็ตาม เธอก็ไม่ลืมแบ่งเงินก้อนโตออกมาบริจาค ให้คนยากไร้จำนวนหนึ่งเช่นกันครับ
 

อาทิตย์หน้า ผมจะนำเอาเรื่องความนิยมหยกของชาวญี่ปุ่นมาเล่าให้ฟังนะครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ