จากฐานันดรที่สี่สู่เจ้าของเหมืองหยก (20)

22 พ.ย. 2564 | 02:00 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เขียนเรื่องของแหวนนพเก้าไป ปรากฎว่ามีแฟนคลับหลายท่านสนใจ อยากจะหาซื้อมาใส่จึงได้สอบถามผมมา ผมต้องขออนุญาตเรียนว่า ผมไม่ได้ทำธุรกิจด้านนี้ครับ จึงไม่มีจำหน่ายให้ แต่ถ้าท่านใดสนสนใจ ผมเชื่อว่าท่านหาซื้อได้จากเวปไซต์ต่างๆได้นะครับ เพราะผมเห็นมีโพลต์อยู่มากมาย ข้อควรระวังที่จะต้องบอกเล่ากันก็คือ ในโลกนี้ไม่มีของดีราคาถูกแน่นอนครับ ถ้าราคาถูกมากๆ แสดงว่าคุณภาพต้องเป็นไปตามราคาครับ

 

อีกเรื่องที่อยากจะนำเสนอ ท่านใดเชื่อหรือไม่ก็โปรดใช้วิจารณญาณของท่านพิจารณาเอาเองนะครับ เขาเล่าว่า แหวนนพเก้าเป็นแหวนที่ประจำตัวของเฉพาะตัวบุคคลของแต่ละท่าน เหตุผลเพราะผู้ครอบครองเขาจะดูดวงชะตาราศรีของเขาแล้วจึงสั่งผลิต นอกเสียจากว่า ท่านมีราศรีเดียวกับเจ้าของเดิม จึงจะสามารถใช้ร่วมกันได้ เรื่องนี้ผมไม่ขอยืนยันนะครับ เพียงแต่ฟังเขามาครับ

ก่อนที่จะไปต่อเรื่องของคุณสุวรรณี วันนี้อยากจะนำเอาพลอยที่คล้ายกับหยกอีกตัวหนึ่งที่เคยกล่าวถึง มาเล่าสู่กันฟังนะครับ นั่นคือพลอยอาเวนเจอรีน พลอยชนิดนี้มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ อิตาลี อินเดียและบราซิล มีสีสันหลากหลาย เช่นสีเขียว สีแดง สีส้ม สีเทา สีน้ำเงิน ซึ่งสีเขียวจะมีความคล้ายครึงกับหยกมาก แต่จะเป็นสีเขียวขุ่น เนื้อละเอียด ที่ผสมจากควอตซ์ และไมก้า ซึ่งเป็นสีเขียวตามแบบฉบับของอเวนเจอรีน นั่นคือสีเขียวคริสตัล หรือที่เรียกกันว่า สีเขียวแบบหยกอินเดีย เชื่อกันว่าเป็นพลอยที่นำโอกาส โชค และความรุ่งเรืองมาสู่ผู้ครอบครอง อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความอบอุ่น และผ่อนคลาย เพื่อช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัว มีพลังแห่งการสร้างสรรค์ มีโลกทัศน์ที่ดี อเวนเจอรีน(Aventurine) พลอยสีเขียวขุ่นเนื้อละเอียด เหมาะกับคนที่ทำงานด้านจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เสริมให้เกิดความกล้าแสดงออก หรือที่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ในแถบอเมริกาใต้ โดยเฉพาะที่บราซีล

 

ในช่วงศตวรรษที่ 19  พลอยอเวนเจอรีน(Aventurine) ถูกเรียกว่า "หินแห่งอะเมซอน" เพราะเชื่อว่าแหล่งกำเนิดที่สำคัญเป็นอยู่ที่ประเทศบราซิล โดยคนพื้นเมืองได้นำมาจัดทำเป็นอัญมณีเครื่องประดับและเครื่องรางเฉพาะของชาวอะเมซอนให้กับนักรบในเผ่าของตน และมักจะถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมของวงล้อแห่งการบำบัดรักษา เพื่อนำทางจิตวิญญาณให้เชื่อมต่อกับหัวใจ ในพิธีกรรมนี้ เขาจะนำพลอยอเวนเจอรีนมาประกอบเวทย์มนตร์ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ โอกาสและความโชคดี แฟนคลับทุกท่าน คงต้องใช้วิจารณญาณในการเชื่อนะครับ ก็อย่างมงายก็แล้วกันครับ

มาเรื่องของคุณสุวรรณีต่อดีกว่านะครับ ในช่วงที่ยื่นขอใบอนุญาตสัมปทานเหมืองหยกนั้น ช่วงแรกๆก็ผ่านไปได้ด้วยดี เพราะท่านผู้ใหญ่ใจดีเพื่อนของพ่อสามีช่วย แต่ทุกอย่างไม่ได้มาด้วยฟรีๆ เธอต้องจ่ายเบี้ยบ้ายปลายทางเยอะพอสมควร เธอเล่าว่า ทุกโต๊ะต้องมีการนำใส่ซองหรือไม่ก็ต้องมีของขวัญไปให้ อีกทั้งของฝากจากเมืองไทยที่เธอเตรียมไปอีกมากมาย ผมก็เลยบอกเธอว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับผู้ที่มาติดต่อราชการทุกคน ที่จะต้องมีน้ำใจไมตรีกับคนทำงานตลอด ซึ่งในประเทศเมียนมาถือว่าเป็นเรื่องปกติมาก แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว อาจจะแปลกไปนิดครับ ที่สำคัญหลังจากที่ยื่นเอกสารไปแล้วไม่นาน ผู้ใหญ่ท่านนั้นก็ถูกโยกย้ายตำแหน่งไปอยู่ที่อื่น โดยท่านไม่ได้ฝากงานต่อให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เธอและคุณพ่อของสามีต้องเดินเรื่องใหม่เกือบจะทั้งหมด ที่ได้ใช้จ่ายไปแล้ว ก็ต้องเริ่มใหม่อีกรอบ ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ คนที่มาใหม่ไม่ได้มีความสำพันธ์หรือรู้จักมักจี่กับคุณพ่อของสามีเธอเลย เรื่องเลยต้องถูกทิ้งไว้คาราคาซังอยู่นาน จนสุดท้ายผู้ใหญ่คนเดิมทราบทีหลัง จึงรีบเข้ามาดำเนินการให้ใหม่อีกครั้ง จึงจะสำเร็จลงไป ในขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปในตอนหลังๆนั้น ก็ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้  อ้อยถึงปากช้าง ไม่มีทางคายคืนกลับมาได้ครับ ยังโชคดีที่สามารถได้ใบอนุญาตกลับมาสู่มือได้

 

หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตทำเหมืองหยก เธอจึงรีบระดมสรรพกำลังและแรงงาน เพื่อเดินทางเข้าไปอยู่ที่เหมือง ซึ่งด้วยความที่เธอเป็นคนต่างชาติ แม้จะมีสามีเป็นชาวเมียนมาก็ตาม ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะเธออาจจะยังใหม่ต่อประเทศนี้มาก จึงไม่ทราบถึงวัฒนธรรมของชนชาติพันธุ์ของประเทศเมียนมา ดังนั้นในช่วงแรก ที่จำเป็นที่จะต้องระดมพลแรงงานอย่างเพียงพอ ดังนั้นเธอจึงได้เปิดรับแรงงานโดยไม่กำหนดชาติพันธุ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดปัญหาใหญ่ไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชาติพันธุ์ที่มาจากฝั่งตะวันตกของประเทศ ที่มีชนชาวอิสลามเป็นส่วนใหญ่ พอมาอยู่รวมกันก็เกิดการทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำ บ้างเรื่องเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตามเธอเล่าว่าบางครั้งถึงขั้นเลือดตกยางออกเลยทีเดียว ต่อมาเธอจึงได้เปลี่ยนรับเฉพาะแรงงานที่เป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์เดียวกัน เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านั้น ซึ่งผมก็บอกเธอไปว่า ชนชาติพันธุ์ที่มีปัญหาและเข้ากับกลุ่มอื่นๆไม่ได้ น่าจะมีไม่มากนัก ถ้าจำปํนจริงๆ ควรจะหลีกเลี่ยงการับชนชาว “กะลา” หรือแขกมากกว่า เพราะเราไม่รู้ว่าเขาเป็นแขกแบบไหน เพราะแขกก็ไม่ใช่ว่าจะมีปัญหาทั้งหมด กลุ่มที่ดีๆก็มีอยู่เยอะ กลุ่มที่ไม่ดีก็มี แต่หากจับพลัดจับพูลไปรับบ้างกลุ่มที่มีปัญหาเข้า  เราอาจจะต้องปวดหัวอย่างที่คุณสุวรรณีเป็นก็เป็นไปได้ครับ

 

อาทิตย์หน้าผมจะเล่าต่อเรื่องของปัญหาในเหมืองนะครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ