“นวัตกรรม” ความหวังและทางรอดของธุรกิจไทย วิกฤติโรคระบาดโควิด 19 ได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรง รวดเร็ว และเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทยในทุกระดับและทุกภาคส่วน ในขณะเดียวกัน “นวัตกรรม” ก็เป็นสิ่งที่รับรู้โดยทั่วกันว่า จะช่วยนำไปสู่หนทางแห่งความรอดของเศรษฐกิจไทยในโลกหลังโควิด
ไม่ว่าจะเป็นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) เพื่อการเจริญเติบโตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
สถานการณ์การลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของไทยที่ผ่านมา มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2564 (Global Innovation Index 2021: GII 2021) โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) ซึ่งเป็นการจัดอันดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไทยอยู่อันดับที่ 43 จากทั้งหมด 132 ประเทศ ปรับดีขึ้น 1 อันดับจากปีก่อนหน้า เป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงค์โปร์ (อันดับ 8) และมาเลเซีย (อันดับ 36) แซงหน้าเวียดนามซึ่งอยู่อันดับที่ 44
ในด้านตัวเลขค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา (Gross Domestic Expenditure on R&D: GERD) ผลการสำรวจโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่า มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 193,072 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.14 ของ GDP ในปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 จากปีก่อนหน้า
โดยที่กรอบเป้าหมาย GERD ถูกวางไว้อยู่ที่ร้อยละ 2 ของ GDP หรือประมาณ 370,000 ล้านบาท ภายในปี 2570
การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาไม่ได้หมายถึงความสำเร็จด้านนวัตกรรมเสมอไป ตัวชี้วัดความสำเร็จด้านการวิจัยและนวัตกรรมของไทยในระดับมหภาคนี้ ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยนำพาธุรกิจไทยให้รอดพ้นจากวิกฤติโควิด 19
นอกเหนือจากการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาแล้ว การยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ของธุรกิจยังขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและรูปแบบของกิจกรรมนวัตกรรมรวมไปถึง “การแพร่กระจาย” (Diffusion) และ “การนำเทคโนโลยีไปใช้” (Adoption) ไม่จำกัดอยู่แค่เพียง “การสร้างสรรค์” (Invention) ที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมเท่านั้น
การทำ R&D ในไทยมีความแตกต่างและกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออก เมื่อลองพิจารณาข้อมูลระดับจุลภาคอย่างการสำรวจการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย หรือ Research Development Innovation (RDI) Survey โดย สอวช.นั้น พบว่า สัดส่วนของธุรกิจไทยที่มีการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) แตกต่างกันออกไป
โดยพบสัดส่วนของธุรกิจที่มีการทำ R&D มากในบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติร่วมทุน บริษัทที่ส่งออก โดยอุตสาหกรรมอาหาร เคมี และพลาสติกมีสัดส่วนของธุรกิจที่มีการทำ R&D สูงสุด 3 อันดับแรก
(รูปที่ 1) และไม่พบความแตกต่างของสัดส่วนการทำ R&D ระหว่างบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (High- technology industry) และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีตํ่า (Low-technology industry) (รูปที่ 2) ซึ่งข้อค้นพบนี้แตกต่างจากผลการศึกษาทั่วไปในกลุ่มประเทศ OECD ที่มักพบสัดส่วนของธุรกิจที่ลงทุนใน R&D มีสูงมากกว่าในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
ธุรกิจไทยที่ลงทุนทำ R&D และประสบความสำเร็จในการทำนวัตกรรมสินค้า / บริการ หรือ พัฒนากระบวนการผลิตยังคงมีสัดส่วนที่ตํ่า การลงทุนด้านวิจัยพัฒนาไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จด้านนวัตกรรม ซึ่งหมายรวมถึงการยกระดับการผลิตสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) โดยการออกสินค้าหรือบริการใหม่ หรือการปรับปรุงสินค้าหรือบริการเดิมอย่างมีนัยสำคัญ รวมไปถึงการปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้า (Process Innovation) รวมถึงกระบวนการให้บริการและการขนส่งเป็นต้น
ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ธุรกิจไทยส่วนใหญ่ไม่มีการทำวิจัย หรือ นวัตกรรมทางด้านผลิตภัณฑ์/การปรับปรุงกระบวนการ (ร้อยละ 57.1/ร้อยละ 59.4) และมีธุรกิจไทยส่วนน้อยมากที่ไม่ได้มีการทำ R&D แต่มีนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์/กระบวนการ (ร้อยละ 7/ร้อยละ 4.7)
ในขณะที่สัดส่วนของธุรกิจที่ทำ R&D แต่ไม่ได้มีรายงานถึงความสำเร็จด้านนวัตกรรมสินค้าบริการ/กระบวนการสูงถึงร้อยละ 25.7/ร้อยละ 31.8 และธุรกิจที่ลงทุนทำ R&D และประสบความสำเร็จในการทำนวัตกรรมสินค้าบริการ/กระบวนการ มีสัดส่วนแค่เพียงร้อยละ 10.2/ร้อยละ 4.1 ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดเท่านั้น
ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญและสนับสนุนกระบวนการความเชื่อมโยงระหว่างการวิจัยพัฒนาไปสู่การสร้างนวัตกรรม การทำนวัตกรรมแท้ จริงแล้วมีความสลับซับซ้อน การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่นำไปสู่ความสำเร็จ ด้านนวัตกรรมคิดเป็นสัดส่วนน้อยมากของธุรกิจไทยทั้งหมด
ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่จะกำหนดความสำเร็จด้านนวัตกรรม จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสำเร็จด้านนวัตกรรมอย่างตรงจุด รวมไปถึงปัญหาและอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ เพื่อให้นวัตกรรมนำไปสู่การยกระดับผลิตภาพของธุรกิจไทย และ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้สามารถก้าวผ่านมรสุมวิกฤติการณ์โควิด และอยู่ได้อย่างยั่งยืนภายใต้สถานการณ์ โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว