“คลัสเตอร์โรงงาน”กับผลกระทบที่มากกว่าปิดโรงงาน        

23 มิ.ย. 2564 | 06:18 น.

“คลัสเตอร์โรงงาน”กับผลกระทบที่มากกว่าปิดโรงงาน :  คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3690 หน้า 5 โดย... ดร.ดวงดาว มหากิจศิริ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรม ที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกของไทยมากกว่าที่คิด ในสภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดี โดย WTO คาดการณ์การค้าโลกปี 2564 จะกลับมาขยายตัวที่ 8% หลังจากติดลบที่ 5.3% ในปีก่อน ไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ “คลัสเตอร์โรงงาน” ในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา และ เพชรบุรี และแพร่กระจายไปในหลากหลายประเภทอุตสาหกรรม ทั้งโรงงานแปรรูปไก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง เครื่องใช้ไฟฟ้า และ ถุงมือยาง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นฐานการผลิตสินค้าส่งออกสำคัญของไทย 

ในทางปฏิบัติแล้ว การรักษาระยะห่างในโรงงานและสถานประกอบการที่ต้องอาศัยแรงงานในกระบวนการการผลิตนั้นทำได้ยาก และเมื่อพบการติดเชื้อ ก็จำเป็นต้องยุติไลน์การผลิตบางส่วน หรือหากมีจำนวนมากก็ต้องปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อกักตัวคนงานสกัดการติดเชื้อ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งมอบสินค้า บั่นทอนความเชื่อมั่นของคู่ค้า รวมถึงอาจจำเป็นต้องโดนค่าปรับ 

และเลวร้ายที่สุด ลูกค้าอาจไม่สั่งซื้อและหันไปซื้อจากเจ้าอื่นแทน นอกจากนั้น หากคลัสเตอร์โรงงานอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่มีโครงสร้างของเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศและความเชื่อมโยงที่สลับซับซ้อน ก็จะสะเทือนต่อเนื่องและกระทบส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) นำไปสู่ผลกระทบที่ไม่ได้จบอยู่แค่เพียงการปิดโรงงานเพื่อทำความสะอาด 14 วันเท่านั้น
 

คำถามสำคัญ คือ แนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้จะสดใสอย่างที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ เพราะถึงแม้อุปสงค์ในตลาดที่มีความคืบหน้าในด้านการกระจายวัคซีนอย่างสหรัฐ ยุโรป และจีน จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่การระบาดระลอกล่าสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 เกิดขึ้นไม่เฉพาะกับไทย แต่รวมถึงประเทศในเอเชีย ทั้งมาเลเซีย ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานการผลิตและจิ๊กซอว์สำคัญในห่วงโซ่การผลิตโลก (Global Value Chain: GVC) อีกทั้งการระบาดล่าสุดในมณฑลกวางตุ้งของจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางเรือที่สำคัญ ทั้งท่าเรือเซินเจิ้นและท่าเรือกวางโจว ท่าเรือที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามและห้าของโลก ก่อให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้าจำนวนมาก

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว การดูเพียงตัวเลขจำนวนโรงงานและยอดผู้ติดเชื้ออาจไม่เพียงพอในการประเมินผลกระทบ โดยหากพิจารณาถึงประเภทกิจการโรงงาน ก็จะพบว่า บางโรงงานผลิตสินค้าสำเร็จรูป (Final goods) อาทิ ถุงมือยาง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง บางโรงงานผลิตสินค้าขั้นกลาง (Intermediate goods) อาทิ ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ ที่จะถูกนำไปต่อยอดผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปต่อไป ดังนั้น ยอดผลิตและส่งออกที่ได้รับผลกระทบอาจไม่ได้สะท้อนมูลค่ากิจกรรมการผลิตในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการนับรวมกิจกรรมต้นน้ำและกลางน้ำที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

                                                  +++

งานวิจัยของ Sessomboon (2016) ได้คำนวนหา Vertical Specialization Index (VS Index) เพื่อแสดงถึงสัดส่วนการส่งออกสินค้าว่าทุกๆ มูลค่าการส่งออกไทย 100 บาท มีการใช้ปัจจัยการผลิตขั้นกลางที่นำเข้ามาจากต่างประเทศกี่บาท โดยพบว่าในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนการใช้ปัจจัยการผลิตนำเข้าสูงที่สุดถึง 68% ซึ่งหมายถึงมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศเพียง 32% ในขณะที่ค่า VS Index ของอุตสาหกรรมยางและพลาสติก และอุตสาหกรรมอาหารอยู่ที่ 38% และ 24% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่แท้จริงจากการส่งออกที่สูงกว่า

คำถามที่น่าชวนคิดต่อก็คือการมีส่วนร่วมในสายพานการผลิตโลกในระดับที่แตกต่างกันนี้มีส่วน “ช่วย” หรือ “ซ้ำเติม” ภาคการส่งออกไทยอย่างไร การประเมินผลกระทบจากคลัสเตอร์โรงงานที่เกิดขึ้น จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะในไทย แต่รวมถึงประเทศต้นทางและประเทศปลายทางของกระบวนการผลิตสินค้า ดังรูปที่ 1 ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตโลกกับผลกระทบต่อการค้าจากสถานการณ์ระบาดโควิด19 ในที่ต่างๆ 

โดยงานศึกษาของ Espitia et al. (2021) พบว่าการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตโลกทำให้ผู้ส่งออกต้องเผชิญความเสี่ยงจากการระบาดที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ (foreign shocks) แต่ในขณะเดียวกันมีส่วนช่วยลดทอนความเสี่ยงจากการระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศ (domestic shocks) จากการที่ผู้ผลิตสามารถกระจายความเสี่ยงผ่านการใช้ปัจจัยการผลิตนำเข้าทดแทนการใช้วัตถุดิบในประเทศที่ได้รับผลกระทบ แต่หากการแพร่ระบาดของไวรัสเกิดขึ้นในประเทศต้นทางและปลายทางด้วยก็จะสร้างความเสียหายต่อการค้าเป็นทวีคูณจากห่วงโซ่อุปทานที่ชะงักงัน

นอกจากนี้ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain Management ที่นิยมนำปรัชญาการผลิตและส่งมอบสินค้าตามเวลาและปริมาณที่ต้องการ หรือ Just in time (JIT) production เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดจากการลดค่าใช้จ่ายในการสำรองวัตถุดิบ/สินค้าคงคลัง ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดีนี้มักตกเป็น “จำเลย” ที่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดถูกซ้ำเติม การปิดโรงงานเพื่อสกัดการแพร่ระบาดในครั้งนี้อาจนำไปสู่การส่งมอบที่ล่าช้าหรือการขาดแคลน (shortages) โดยเฉพาะในสาขาการผลิตของไทยที่ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่เกิดขึ้นจากการอ้างว่ามีการผลิตแบบ JIT ไม่ได้มีต้นเหตุมาจากไวรัสโควิด โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ปรากฏการณ์ชิพขาดตลาดในปัจจุบัน ที่นำหลักการ JIT ไปใช้ในทางปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง การลดต้นทุนไม่ได้หมายความถึงการกำจัดสต็อก “ทั้งหมด” และบางครั้งการเก็บสต็อก “ส่วนเกิน” ก็มีความจำเป็นในบางกิจกรรมของห่วงโซ่อุปทาน ดังกรณีของโตโยต้าที่เป็นต้นแบบของการใช้หลักการ JIT แบบยืดหยุ่น ทำให้โตโยต้าเป็นผู้ผลิตรถยนต์เพียงรายเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติชิพขาดแคลนเนื่องจากมีการเก็บสต็อกชิพนาน 2- 6 เดือน เหตุเพราะชิพมีกระบวนการวงจรธุรกิจ (Lead time) ที่ยาวมาก 

คลัสเตอร์โรงงานที่ไม่ได้มีแค่การปิดโรงงาน แต่ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภายใต้ห่วงโซ่การผลิตที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น การดึงงานบางส่วนกลับภูมิลำเนา (Reshoring) อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่การสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพ (Efficient) และการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง (Resilience) การผลิตแบบ JIT ร่วมกับการวางแผนเพื่อความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Plan: BCP) จึงเป็นสิ่งสำคัญในโลกหลังโควิด

รูปที่ 1 การมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตโลกกับผลกระทบจากไวรัสระบาดในที่ต่างๆ

                                        +++

       
ที่มา: อ้างอิงจาก Espitia et al. (2021)
เอกสารอ้างอิง
Espitia, A, A Mattoo, N Rocha, M Ruta and D Winkler (2021), “Pandemic trade: COVID-19, Remote Work and Global Value Chains”, Policy Research working paper no. WPS 9508, World Bank.

Sessomboon, P. (2016), ‘Decomposition Analysis of Global Value Chain’s Impact on Thai Economy’, BESSH International Academic Conference Proceedings, Tokyo, 26–27 March