รู้หรือยัง “RCEP”มีผลแล้ว ภาษีเหลือ 0% ใน 15 ประเทศ

05 ม.ค. 2565 | 08:04 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2565 | 15:10 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

คนไทยหลายคนยังไม่ทราบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ตกลงเปิดเสรีการค้าตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ผ่านมาตรการลดภาษีนำเข้าและส่งออกกับ 15 ประเทศสมาชิก ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ หลังจากใช้ความพยายามในการเจรจากันยาวนานกว่า 8 ปี
     

ภายใต้กรอบ RCEP จะมีการลดภาษีนำเข้าในสินค้ากว่า 2 หมื่นรายการ จะลดอัตราเหลือ 0 ทันที ขณะที่ยังมีหลายรายการที่จะทยอยลดภาษีจนเหลือ 0% ในปีที่ 10 และปีที่ 20   

การเปิดเสรีการค้าตามข้อตกลง RCEP นั้น ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2,200 ล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มีจีดีพีรวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ  


คิดไม่ออกใช่มั้ยครับว่าจำนวนเท่าใด ผมประมาณว่าน่าจะราว 817.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 30% ของจีดีพีของโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 326 ล้านล้านบาท คิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก...มหาศาลมั้ยครับ 

ผมจำได้ตอนที่จบการเจรจาในเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 36 ในประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทย เป็นประธานอาเซียน หลังเจรจายาวนานมาตั้งแต่ปี 2012 ได้มีการลงนามความตกลงกันภายใต้การนำของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ทำหน้าที่ประธาน  


มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ระบุว่า “RCEP  เป็นความร่วมมือทางการค้าระดับภูมิภาคครั้งยิ่งใหญ่ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาค” มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้
     

หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน บอกว่า “ข้อตกลง  RCEP จะช่วยนานาประเทศรับมือกับความท้าทายจากลัทธิกีดกันทางการค้า มีความหลากหลายของสมาชิก และมีศักยภาพมากที่สุดของโลก”
 

ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ประกาศว่า “นี่คือความตกลงการค้าเสรีฉบับประวัติศาสตร์ เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคุณภาพ มาตรฐานสูง เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปสู่การค้าที่เสรีมากขึ้น” 
     

ว่ากันว่า การเปิดตลาดสินค้าของ RCEP อยู่ที่การลดภาษีสินค้าในกลุ่มที่ไม่เคยลดภาษีใน FTA ฉบับอื่นมาก่อน นับเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม  
     

กลุ่มสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากจะอยู่ใน 5-6 กลุ่ม....
 

* กลุ่มสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น
 

* กลุ่มอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่นๆ
 

* กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย จักรยานยนต์ ยานยนต์/ชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก/ผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
 

* กลุ่มบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง เอนิเมชั่น
 

* กลุ่มการค้าปลีก 
     

RCEP ยังช่วยให้ไทยมีโอกาสได้อานิสงส์เม็ดเงินลงทุนในอนาคตต่อยอดการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมอย่าง HDDs IC วงจรพิมพ์  
     

ผลทางตรงที่ไทยจะได้รับคือ การลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอ่อนไหว/อ่อนไหวสูงของประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ล้วนเปิดโอกาสให้แก่สินค้าศักยภาพของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้สินค้ากลุ่มดังกล่าวยังคงมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าอยู่ แม้จะมี FTA ระหว่างอาเซียนกับคู่ภาคีหรือ Plus 5 คือ อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ 
     

ดังนั้น ผู้ส่งออกอาจต้องพิจารณาเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงที่ให้ประโยชน์คุ้มค่ากว่า
     

อย่างไรก็ตาม สินค้าไทยมีโอกาสทำตลาดในจีนและเกาหลีใต้ได้มากขึ้น โดยมีสินค้าอ่อนไหวหลายรายการได้ประโยชน์จาก RCEP ด้วยการลดภาษีที่มากกว่า FTA อาเซียน-จีน และ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ตลาดจีน ได้แก่ สับปะรดแปรรูป ลำไยกระป๋อง น้ำมะพร้าว ยาสูบ เม็ดพลาสติก ยางสังเคราะห์ เครื่องเสียง และอุปกรณ์ไฟสำหรับรถยนต์ ตลาดเกาหลีใต้ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ อาหารทะเลสด/แปรรูป เนื้อไก่ เนื้อหมู ไม้ปาร์ติเคิลบอร์ด ข้าวโพดหวาน  
     

นอกจากนี้ สินค้าไทยได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากตลาดญี่ปุ่น ไทยมีความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) นับว่า มีการลดภาษีให้สินค้าไทยมากที่สุด ดังตัวอย่างการส่งออกกล้วยของไทยได้โควตาปลอดภาษี เมื่อเทียบกับ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นที่ยังมีอัตราภาษีสูงกว่า และ RCEP ยังคงอัตราภาษีไว้ที่ระดับ 20%   
     

ผลลัพธ์ทางอ้อมนั้น จะทำให้สินค้าขั้นกลางของไทยที่ทำตลาดได้ดีอยู่แล้วมีโอกาสขยายตัวได้ดีขึ้นอาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 
     

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจาก  RCEP ทันทีคือ ทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่โดยไทย มีการค้าและการลงทุนมากกว่า 50% อยู่ในตลาดของสมาชิก โดยในด้านการค้า ประเทศคู่เจรจาจะลดภาษีให้ไทยเป็น 0% รวมทั้งหมด 39,366 รายการ  
     

ผมแยกให้เห็นโอกาสเพิ่มเติมดังนี้ ออสเตรเลีย 5,689 รายการ จีน 7,491 รายการ ญี่ปุ่น 8,216 รายการ เกาหลีใต้ 11,104 รายการ และนิวซีแลนด์ 6,866 รายการ 
     

รายการสินค้าทั้งหมดจะยกเลิกภาษีเป็น 0% ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับจำนวน 29,891 รายการ หรือ 75.9% ของรายการสินค้าที่จะยกเลิกภาษีทั้งหมด และสินค้าที่ประเทศคู่เจรจาจะทยอยลดภาษีภายใน 10-20 ปี อีกจำนวน 9,475 รายการ 
     

มาดูโอกาสกันให้ดีที่นี่ สินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดเพิ่มเติม มีทั้งหมด 653 รายการ จากจีน 33 รายการ ญี่ปุ่น 207 รายการ  
     

และได้รับอานิสงส์จากเกาหลีใต้ 413 รายการ โดยสินค้าที่เกาหลีใต้เปิดตลาดเพิ่ม เช่น ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้งมันสำปะหลัง สินค้าประมง พลาสติก เครื่องแก้ว ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ด้ายทำด้วยยางวัลแคไนซ์ รถจักรยาน เครื่องยนต์เรือและส่วนประกอบ กระเบื้อง ซีเมนต์ เป็นต้น ญี่ปุ่น เช่น สินค้าประมง ผัก ผลไม้ปรุงแต่ง แป้งสาคู น้ำมันถั่วเหลือง กาแฟคั่ว น้ำผลไม้ เป็นต้น และจีน เช่น พริกไทย สัปปะรดแปรรูป น้ำมะพร้าว ตัวรับสัญญาณโทรทัศน์ สไตรีน ชิ้นส่วนยานยนต์ กระดาษ เป็นต้น    
     

ส่วนการลดภาษีเกาหลีใต้ จะลดภาษีผลไม้สดหรือแห้ง เช่น มังคุด และทุเรียน และผลไม้และลูกนัตอื่น ๆ แช่แข็ง จาก 8-45% เหลือ 0% ภายใน 10-15 ปี น้ำสับปะรด จาก 50% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี 
     

สินค้าประมง เช่น ปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง และปลา กุ้งแห้ง ใส่เกลือหรือแช่น้ำเกลือ ลดภาษีจาก 10-35% เหลือ 0% ภายใน 15 ปี 
     

ประเทศญี่ปุ่น จะลดภาษีศุลกากรให้กับผักปรุงแต่ง เช่น มะเขือเทศ ถั่วบีน หน่อไม้ฝรั่ง และผงกระเทียม จาก 9-17% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี สับปะรดแช่แข็ง จาก 23.8% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี และกาแฟคั่ว ลดภาษีจาก 12% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี 
     

ขณะที่จีนจะลดภาษีสับปะรดปรุงแต่ง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว และยางสังเคราะห์ จาก 7.5-15% เหลือ 0% ภายใน 20 ปี ชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่าง ที่ปรับกระจกในรถยนต์  ลวดและเคเบิ้ล สำหรับชุดสายไฟที่ใช้ในรถยนต์ ลดจาก 10% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี เป็นต้น  
     

ขณะเดียวกัน จะมีโอกาสด้านการค้าบริการและการลงทุน เพราะกฎระเบียบอาร์เซ็ป ได้ลดหรือยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคบริการ หรือการลงทุนที่ไม่ใช่ภาคบริการ เช่น มาตรการ ขั้นตอนในการขอรับใบอนุญาต และการตรวจสอบคุณวุฒิ คุณสมบัติของผู้ให้บริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเกินจำเป็น จะช่วยส่งเสริมการออกกฎระเบียบและมาตรการด้านการลงทุนมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจนเกินจำเป็น นักลงทุนไทยสามารถจัดตั้งกิจการและลงทุนในประเทศของสมาชิกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  
     

ในทางดีก็ต้องมีผลกระทบที่ไทยจะต้องเสียประโยชน์ด้านการค้าเช่นกัน “อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินไว้ก่อนหน้าว่า อาร์เซ็ปจะทำให้การส่งออกไทยเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจทำให้ไทยขาดดุลการค้าอาร์เซ็ปเพิ่มขึ้นเป็น 15,014 ล้านดอลลาร์  จะขาดดุลให้กับประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย บรูไน  
     

นอกจากนี้ ไทยก็ต้องเผชิญการแข่งขันการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรง กับประเทศสมาชิกแน่นอน โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจหลักที่จะช่วยยกระดับให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม S-Curve เช่น การผลิตเซนเซอร์อัจฉริยะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดนาโน ชิปประมวลผลสินค้า และสินค้า IOT ฯลฯ
     

RCEP ที่เปิดตลาดการค้าเสรีกว้างขึ้น จึงเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ไขว่คว้า ไปหาพิกัดกลุ่มสินค้าที่ได้รับสิทธิ์การลดภาษีออกมาแล้ว...ลุยไปเลย อย่ารีรอ ช้าไปเจอดีนะพี่น้องไทย