รอลุ้นข่าวดี “โควิด-19” กลายเป็นโรคประจำถิ่น

16 ม.ค. 2565 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2565 | 09:11 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3749 ระหว่างวันที่ 16-19 ม.ค.2565 “ว.เชิงดอย”ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ต่อประเทศชาติเช่นเคย 


*** เรื่องที่จะต้องเกาะติด ติดตามสถานการณ์กันไปทุกระยะก็คือ ไวรัสไวร้ายโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.รายงาน ณ วันที่ 12 ม.ค.2565 ภาพรวมของการระบาดยังต้องคอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 7,681 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้ว 2,292,290 ราย หายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 3,350 ราย หายป่วยสะสม 35,641 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) ผู้ป่วยกำลังรักษาตัว 66,283 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย

*** พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. สรุปสถานการณ์ ณ วันที่ 12 ม.ค.2565 ว่า ช่วง 2-3 วัน การติดเชื้อโควิดของไทยมีทิศทางทรงๆ และเหมือนจะลดลงอย่างช้าๆ  น่าจะเป็นผลมาจากมาตรการต่างๆ เพื่อชะลอและควบคุมการระบาด ถ้าคิดเป็นการติดเชื้อต่อแสนประชากรในช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีใหม่จนถึง 12 ม.ค. อยู่ที่ 100 ต่อ 100,000 ส่วนการเสียชีวิตในการระบาดระลอกเดือน ม.ค.2565 พบว่าความรุนแรงของโรคน้อยกว่าระลอกเดือน เม.ย.2564 ส่วนหนึ่งมาจากความครอบคลุมในการได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น


*** ผู้ช่วยโฆษก ศบค.บอกว่า ตัวเลขที่เป็นสัดส่วนของคนที่ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ที่ 1 ต่อ 1,000 ราย ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ความรุนแรงของโรค ดูจากผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตลดลง ซึ่งการที่จะเป็น “โรคประจำถิ่น” จะมีลักษณะแบบนี้ คือ เราจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับโรคได้ แต่โควิดแตกต่างจากโรคประจำถิ่นอื่นๆ เพราะการใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับโรคให้ได้ ต้องเป็น “ชีวิตวิถีใหม่” ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่นอกบ้าน อยู่ห่าง ล้างมือเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือถ้าเราได้รับเชื้อ ก็จะไม่แพร่เชื้อไปให้ใคร บ้านเรายังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อสายพันธุ์ “โอมิครอน” 

*** ดังนั้นความรุนแรงของ “โอมิครอน” ถ้าเทียบกับ “เดลต้า” ถือว่าน้อยกว่าเดลต้ามาก …ลักษณะของโรคลดความรุนแรงลง ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการได้รับวัคซีน ระบบการดูแลรักษามีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ จากข้อมูลทั้งอัตราผู้ป่วยหนัก อัตราการเสียชีวิต ก็อยู่ในระดับที่ต่ำ และจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ถ้ายังเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล หรือมาตรการของสถานที่  Covid Free Setting ก็จะมีความหวังว่าในปีนี้โรคนี้จะเปลี่ยนจาก “โรคระบาด” มาเป็น “โรคประจำถิ่น”


*** ขณะที่ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาอธิกายถึงความหมายของคำว่า “โรคประจำถิ่น” ว่า  หลังจากการแพร่ระบาดถึงขั้นสูงสุดของการระบาดแล้ว “โรคระบาด” จะปรับเปลี่ยนกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” หรือโรคระบาดตามฤดูกาลของของประเทศ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ดังนี้ 1.เชื้อลดความรุนแรง เช่น อัตราเสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลงเหลือ 1 ราย จากผู้ติดเชื้อ 1,000 ราย 2.ประชาชนมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี เช่น การฉีดวัคซีน การติดเชื้อก่อนหน้า 3.ประเทศนั้นๆ มีระบบการบริหารจัดการ การดูแลรักษา และควบคุมหรือชะลอการระบาดได้อย่างดี (ตัวอย่างที่ดีในประเทศไทย และอีกหลายๆ ประเทศ) …สรุปได้ว่า “โรคประจำถิ่น” เป็นโรคที่เกิดขึ้นประจำเฉพาะบริเวณพื้นที่นั้น ๆ มีการแพร่กระจายและสามารถคาดเดาอัตราการติดเชื้อได้ เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โรคเอดส์ 


*** “ว.เชิงดอย”ก็หวัง อยากให้ “โควิด-19” แปลงกายจาก “โรคระบาด” เป็น “โรคประจำถิ่น”โดยเร็ว และการจะเป็นเช่นนั้นได้ “คนไทย” ทุกคนต้องช่วยกัน ใครที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด ก็ไปฉีดซะ ใครที่ฉีดแล้วก็ต้องไป “ฉีดบูทส์” เข็มต่อๆ ไป ขณะที่การใช้ชีวิตประจำวันก็ต้อง “การ์ดไม่ตก” ปฏิบัติตัวตามที่สาธารณสุขแนะนำ ซึ่งจะเป็นทั้งการป้องกันตนเอง และคนรอบข้าง ถ้าทุกคนช่วยกัน เชื่อว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตอยู่กับโรคโควิด-19 ไปได้แน่นอน... 


*** “ของแพง” เป็นเสียงบ่นของประชาชนที่เกิดขึ้นกันทั้งบ้านทั้งเมือง เมื่อสินค้าจำเป็นประจำวันที่ประชาชนต้องใช้ ต้องกินแพงขึ้น ก็ส่งผลให้ “ค่าครองชีพ” ของประชาชนสูงขึ้นไปด้วย ในขณะที่ “รายได้” ยังคงเดิม หรือบางคนอาจจะประสบปัญหาตกงาน หรือมีงานทำแต่รายได้ไม่พอเลี้ยงตัวเองจาก “พิษโควิด-19” ที่เกิดขึ้น หากรัฐบาลไม่เร่งหาทางช่วยเหลือบรรเทา คนก็อาจจะ “เบื่อรัฐบาล” กันทั้งบ้านทั้งเมือง...ก็คอยดูกันไปว่ามาตรการที่ “รัฐบาลลุงตู่” คลอดออกมาเพื่อแก้ไขปัญหา “หมูแพง” หรือสินค้าอื่นๆ ที่ราคาแพง จะแก้ไขได้ประสบความสำเร็จหรือไม่ และใช้เวลานานแค่ไหน...