หุ้นแบงก์ # เข้ายุคดอกเบี้ยขาขึ้น

28 ม.ค. 2565 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2565 | 18:31 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By...เจ๊เมาธ์

*** คอนเฟิร์มจริงจังสักทีว่า ปีนี้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งแน่ๆ แต่ที่เป็นปัญหาก็คือ ไม่มีใครแน่ใจหรือฟันธงได้ว่า หลังจากนี้กรรมการเฟดจะมีมติให้ขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้งที่มีการประชุมหรือเปล่า เพราะปีนี้ยังเหลือการประชุมอีก 7 ครั้ง หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย...หุ้นที่น่าสนใจที่สุด หนีไม่พ้นหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารใหญ่อย่าง SCB KBANK BBL KTB และ TTB ได้อานิสงส์จากการขึ้นดอกเบี้ยไปเต็มๆ
 

หุ้นแบงก์เล็กอย่าง KKP BAY TISCO และ CIMBT ได้รับผลบุญขึ้นดอกเบี้ยของเฟดตามไปด้วย...เน้นแค่ว่า ควรลงทุนระยะกลางถึงยาวเท่านั้น หาจังหวะเข้าลงทุน ลดอาการบาดเจ็บค่ะ  
 

*** ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขึ้นสูงที่สุดในรอบ 8 ปี แต่ ราคาหุ้น PTTEP กลับสวนทาง ต่ำกว่าประมาณการของนักวิเคราะห์อยู่มาก  อาจจะมองกันแหล่งรายได้ของ PTTEP คือปิโตรเลียม  มีรายได้และกำไรผูกอยู่กับปิโตรเลียม ทำให้มองเห็นได้ว่า PTTEP ยังมีรายได้และกำไรที่จะเติบโตไปได้อีกหลายปี เห็นกันชัด ๆ ในผลการดำเนินงานปี 2564  ที่กำลังจะออกมา และถ้าถึงวันนั้นอย่ามาบ่นว่า ตกรถก็แล้วกันนะคะ 
 

*** หุ้น CBG ทิ้งดิ่งต่อเนื่อง ทำใจกันนะ... แต่เจ๊เมาธ์กลับมองว่าถ้าเอาข้อมูลหลายๆ อย่างมาเทียบกันแล้ว ถือได้ว่าหุ้นของน้าแอ๊ดตัวนี้น่าสนใจมากขึ้นพอสมควร เพราะผลดำเนินงานเริ่มกลับตัวชัดเจนขึ้นมาแล้วพอสมควร เพียงแต่หากเอากราฟเทคนิคมาชี้วัด ก็อาจจะแตกต่างออกไปนิดหน่อย เพราะยังไม่เห็นทิศทางของการกลับตัว (TF Day) แต่อย่างใด แต่ก็นั้นแหละกราฟเทคนิคทั้งหลาย จะเป็นการมองอดีตเพื่อเอาข้อมูลมาพยากรณ์อนาคต...และการกลับตัวของกราฟก็จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการเข้าซื้อไปแล้ว
 

ดังนั้น เจ๊เมาธ์จึงมองว่าเป็นโอกาสที่จะควรจะเริ่มหาจังหวะสะสมหุ้นดีราคาถูกอย่าง CBG เอาไว้บ้างนะคะ บอกเลยว่าถ้าหุ้นดี ราคาหุ้นจะขยับเมื่อไหร่ก็ได้เจ้าค่ะ
 

*** ไม่ผิดไปจากที่เจ๊เมาธ์เคยเตือนเอาไว้ว่า ราคาและปริมาณการซื้อขายของ DELTA จะถอยหลังและค่อยๆ หมดแรงลงไป เพราะเมื่อหลุดออกจาก SET50 และ SET100 ไปแล้ว DW ที่เคยใช้อ้างอิงหุ้นราคาแพงอย่าง DELTA ก็จะค่อยๆ หมดอายุไปด้วย  
 

ขณะเดียวกัน ไม่มี DW ที่อ้างอิงราคาหุ้นของ DELTA ตัวใหม่ออกมาจนกว่าจะได้กลับเข้าไปอยู่ในดัชนี SET50 SET100 ได้อีกครั้ง ซึ่งเจ๊เมาธ์บอกตรงๆ ว่า การกลับเข้าไปอยู่ในดัชนีหลักทั้ง 2 ของตลาดหุ้นไทยได้อีกครั้ง ดูท่าจะเป็นเรื่องยากมากสำหรับ DELTA เพราะการเข้า หรือ หลุดออกจาก SET50 SET100 มันไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจาก DELTA แต่มันเกิดขึ้นจากช่องว่างในเรื่องเกณฑ์ในการพิจารณาบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่เข้าเกณฑ์ แต่มีอัตราส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (% Free float) น้อยเกินไป (% Free float ไม่มีกฎควบคุมที่ชัดเจน)
 

ตราบใดที่ทางตลาดฯ ไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ โอกาสที่ DELTA จะกลับไปอยู่ใน SET50 และ SET100 ก็น่าจะยังเป็นไปได้ยาก หรือ เป็นไปไม่ได้นั่นเอง เอาเป็นว่าแฟนๆ ของ DELTA คงต้องทำใจ ไม่ใช่ว่าหุ้นไม่ดีหรือมีปัญหา...แต่น่าเป็นเพราะกระบวณการจัดการที่ยังแก้ไม่ถูกจุดนั่นเอง ประมาณว่า “ถามไม่ตรงคำตอบ” ก็เท่านั้นเองค่ะ

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหุ้นที่จะมาเป็นองค์ประกอบของดัชนีใน SET50 และ SET100 ไว้ชัดเจน โดยอาจสรุปหลักเกณฑ์สำคัญได้ 3 ด้านหลัก

  1. ด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด : เป็นหลักทรัพย์ที่มี Market Capitalization เฉลี่ยต่อวันย้อนหลัง 3 เดือน สูงสุด 200 ลำดับแรก
  2. ด้านสภาพคล่อง :พิจารณาทั้งในด้านมูลค่าการซื้อขาย และ turnover ratio โดยต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำในระยะเวลาที่กำหนด  โดยในส่วนของสภาพคล่องจะนำข้อมูลหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์มาประกอบการพิจารณา โดยจะไม่พิจารณามูลค่าการซื้อขายในเดือนที่หลักทรัพย์เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อให้เกณฑ์ด้านสภาพคล่องสามารถสะท้อนมูลค่าการซื้อขายที่เป็นอย่างสม่ำเสมอและเป็นไปตามสภาพปกติของตลาด
  3. ด้านสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย : มี Free-float ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้ว

DELTA หรือ บจ. ใดๆ ก็สามารถเข้ามาเป็นองค์ประกอบของดัชนี หากผ่านเกณฑ์ 3 ด้านดังกล่าวข้างต้น

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,753 วันที่ 30 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565