ยศช้าง ขุนนางพระ 2

29 ม.ค. 2565 | 00:49 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ม.ค. 2565 | 07:53 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

(ต่อจากตอน 1) 

ทีนี้ก็ย้อนกลับมาเรื่องพระ
 

อดีตกาลนานมา พระมหาบุรุษเช่นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นท่านทรงเปนสัพพัญญู ทรงรู้แจ้งโลกและทรงกระทำพันธกิจน้อยใหญ่ได้ในลำพังตัวพระองค์เอง
 

Mission _พันธกิจเหล่านั้นมีอะไร ? และเมื่อพ้นเวลาดำรงขันธ์ของพระองค์แล้ว ผู้สืบสานงานศาสนาต่อจะต้องทำอย่างไร ?  (ในที่นี้จะขอละไว้ไม่พูดเรื่องไตรสรณคมน์ส่วนต้น คือ พระพุทธ และ พระธรรม)

หากจะกล่าวจำเพาะแต่ส่วนพระสงฆ์ที่จะมีหน้าที่เกื้อกูลสืบสาน นักบริหารโบราณคงวางโครงสร้างส่วนๆนี้คร่าวๆไว้อย่างว่า ปริยัติ คือเล่าเรียนศึกษาพระสัทธรรมเพื่อประกาศแก่หมู่ชนได้ทราบ และซึ้ง เพื่อเผยแผ่สืบอายุพระศาสนาต่อไป ปฏิบัติ คือ ลงมือหลีกเร้นบำเพ็ญเพียรทางใจ เพื่อสำเร็จผลพ้นทุกข์_เปนหลักเปนฐานแห่งการพ้นทุกข์อันเปนหัวใจหลักของศาสนาซึ่งรู้กันว่ากระทำได้ยากยิ่ง สองสิ่งประกอบกันเปนปฏิเวธ คือ สำเร็จผลพ้นภัยการเกิด (ใหม่)
 

ทว่าในอดีตกาล พระพุทธองค์ทรงทำพันธกิจเหล่านี้ได้ทุกส่วนพร้อมๆกัน หากเหล่าพระอริยะสาวกพระสาวกน้อยใหญ่ อาจไม่มีคาลิเบอร์เท่าท่าน จึงอาจจำเปนต้องแบ่งงานกันทำ ด้วยศักยภาพ multi tasking ไม่เท่าทันพระองค์ท่าน ขอยกตัวอย่างในที่นี้ให้เห็นภาพ

ในจังหวัดทางใต้ แม่ทัพส่วนปริยัติ ย่อมได้แก่ท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านคิด พูด ถาม เขียน เผยแผ่แนวคิดข้อพระธรรมหลายภาษาระบือไกล ไปยังยูเนสโก มีศิษยานุศิษย์ต่างๆเรียนธรรมเรียนบาลี หาความรู้ทางปริยัติธรรม ตีความเชิงปรัชญาถึงอภิปรัชญา
 

ข้างกองทัพฝ่ายปฏิบัติ ย่อมครอบคลุมไปถึงแต่ไม่จำกัดอยู่เพียงพ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน, พ่อท่านสังข์ วัดดอนตรอ, พ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง, ท่านอาจารย์นำ วัดดอนศาลา ซึ่งเหล่าท่านผู้สำเร็จในกลไกวิทยาศาสตร์ทางจิตอภิญญานี้หลายท่านร่างสังขารกลายเปนหินไม่เน่าเปื่อยจนทุกวันนี้ (ซึ่งเปนคนละประเด็นกับการบรรลุธรรมขั้นสูงสุดอันเกษมเนื่องเพราะบางรูปท่านกำหนดตรงกันข้ามก็มี)
 

เมื่อเห็นภาพความจริงในสังคมและความถนัดถนี่ในสังฆกิจที่แตกต่างไปเช่นนี้ก็จำจะต้องเข้าใจหัวอกผู้บริหารสังฆกิจ โดยจำเพาะองค์สมเด็จพระสังฆราช แต่เดิมมาเมื่อสถานะรัฐชาติมีความเข้มแข็ง มีเจ้านายหลายพระองค์ทราบ_ซึ้งในกระแสพระสัทธรรม เสด็จออกผนวช เมื่อคุณวุฒิวัยวุฒิถึงที่_ได้รับพระราชทานสถาปนา เปนพระสังฆราชเจ้า 
 

ตัวพระองค์ท่านเหล่านั้นแม้นลาเพศฆราวาสแล้ว เมื่อเข้าสู่ระบบการบริหารฝ่ายบรรพชิต ที่บรรพชิตทุกรูปก็ไม่ได้เปนพระทรงอรหันตคุณเสียทุกรูปไปก็คงจำเปนต้องมีระเบียบการปกครองอำนวยการ 


 

ฉันใดก็ฉันนั้น ลาศักดิ์ฝ่ายฆราวาสมาแล้ว ก็ต้องมารับศักดิ์ฝ่ายสมณะ 
 

ทำไม? ก็เรียนแล้วว่าทุกรูปในคณะสงฆ์หาได้ทรงวิทยาสมณคุณทางธรรมเท่าเทียมกันไม่นี่นา
 

บวชเล่น_บวชลอง_บวชครองประเพณี_บวชหนีทหาร_บวชผลาญข้าวสุก _บวชสนุกตามเพื่อน_บวชเลื่อนบวชลอย ก็มีเยอะ บวชอยู่ป่าก็มีบวชอยู่บ้านก็มี 
 

ทั้งนี้ในอดีตกาลจำต้องมีพระมหากษัตริย์ที่เปนผู้อุปถัมภ์กิจการพระศาสนาก็เพราะบางเรื่องฝ่ายพุทธจักรจัดการเองไม่งาม (ด้วยทุกรูปที่เห็นใส่จีวรพระย่อมตกอยู่ใต้บังคับ พรบ. คณะสงฆ์ ออกโดยฝ่ายอาณาจักรทั้งสิ้น ไม่งั้นเข้าเขตพุทธจักรแวบออกเขตอาณาจักร ไป_กลับ_ไป_กลับไปฉวยทำดีทำร้ายเข้าจะเปนผู้ดีผู้ร้ายข้ามแดน ตำรวจตามจับมิได้จะกลายเปนปัญหาความสงบสุขสังคมโดยรวมต่อไป)
 

ในทางบ้านเมืองเราเมื่อผู้นำสงฆ์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชทรงเปนเจ้า สืบสายกษัตริย์ขัตติยะวงศ์มาก่อนไซร้ สมณะในระบบ “ราชการสงฆ์”  จึงเปน ‘ข้าราชการ’ สงฆ์ไปด้วยตามครรลองอย่างนั้น มีการจัดสรรอำนาจการบริหารเปนขั้นชั้นแบบเดียวกับสังคมราชการเพื่อการบริหารพุทธจักรที่สมาชิกไม่มีความสม่ำเสมอทางภูมิสังคม ภูมิธรรมและกิริยาธรรม
 

อันว่าผู้ใดไม่ประสงค์เข้าทำงานตามครรลองนี้ก็อย่ารับเอา “ยศ” จักหลีกลี้หนีไปบำเพ็ญในป่าเขา ก็หาได้มีปัญหาใดไม่ เรียกภาษาคนเขียนก็ว่า “มีหน้าที่ ไร้ตำแหน่ง” 
 

ทว่าในชนหมู่มาก การไร้ตำแหน่งก็ทำให้ชนที่มีภูมิน้อยไม่รับ ไม่สมัครในโอวาท การบริหารคณะสงฆ์ก็จำต้องมี “ขุนนางพระ” ขึ้นมา กษัตราธิราชผู้อุปถัมภก ก็ถวายนิตยภัต สมนาคุณเปนรายเดือนๆอย่างขุนนางฝ่ายอาณาจักรทั่วไป ให้สอดคล้องตามกระแสโลกว่า “มีตำแหน่ง แจ้งหน้าที่” 
 

ในวงสังคมฝ่ายพระก็จะได้ทราบคล้องกัน ปฏิบัติโอนอ่อนตามการณ์ ตามลำดับตำแหน่งหน้าที่กันไป โดยนัยแห่งสังคมและสมาคมของมนุษยชาติ
 

ฉะนั้นที่เปรยกันว่า ไปยกตำแหน่งขุนนางให้พระกัน พระเลยมีอาการอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าว่าลองมองมุมนี้บ้างก็อาจจะเปนกุศลกรรมบท ส่วนรูปใดบ้ายศ บ้าศักดิ์ 555 กระเดี๋ยวก็รู้ผลแห่งความบ้าฯได้เองในภายหลัง

 
ท่านพุทธทาส นั้นเดิมท่านชื่อเงื่อม ฉายา อินทปัญโญ ดำรงสมณศักดิ์สุดท้ายก่อนมรณภาพ เปนพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโกษาจารย์ พ่อท่านคล้าย ฉายา จันทสุวัณโณ ดำรงสมณศักดิ์ พระครูพิสิฐอรรถการ พ่อท่านสังข์ ฉายา เรวโต ดำรงสมณศักดิ์พระครูเรวัตศิลคุณ พ่อท่านคลิ้ง ฉายา จันทสิริ ดำรงสมณศักดิ์พระครูภาวนาภิรมย์ท่านอาจารย์นำ ฉายา ชินวโรวัดดอนศาลา เมื่อมรณภาพลงแม้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จมาพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง_ ท่านอาจารย์นำ “ไม่ดำรงสมณศักดิ์”
 

พระที่มีภูมิธรรมดีแล้ว ไม่หวั่นไหว เปนที่ทรงคุณแต่ intrinsic value คุณค่าภายในของท่าน ไม่ใยดีกับมูลค่าหน้าตั๋ว ticket value ตรงนี้ต่างหากที่เปนปริศนาธรรมที่ต้องขบให้แตก
 

บางท่านรับสมณศักดิ์ลำดับน้อย ไม่ทะยานอยากไปได้ชั้นมาก บางท่านได้รับสมณศักดิ์สูงมาก ชิงกราบไหว้ค่าภายในท่านที่ไร้สมณศักดิ์บางท่านอาวุโสไร้สมณศักดิ์ ชิงกราบไหว้อ่อนอาวุโสทรงสมณศักดิ์บางท่านแถวอยุธยารับยศแล้วมีเหตุให้ต้องคืน เมื่อขอถวายใหม่ท่านก็มิได้รับตำแหน่งอีก ฯ:-
 

การทำงานเปนทีมในยุคนี้อาจเห็นได้ในกรณีศึกษาพื้นที่ภาคเหนือ เชียงรายในยุคนี้ พระอริยชาติ แม้อายุเพียงสามสิบชาวบ้านเรียก ครูบา มี ฉายาอริยจิตโตเน้นงานปฏิบัติ วิปัสสนาธุระ พัฒนาพื้นที่และศาสนสถาน ได้รับพระราชทานยกเปนพระราชาคณะที่ พระภาวนารัตนญาณ (วิ.) ซึ่งเรื่อง ( วิ.) และเรื่อง “ยก” จะมีโอกาสได้เขียนเล่าต่อไป
 

ในขณะที่ พระวุฒิชัย ฉายา วชิรเมธี อายุแก่กว่านิด ท่านเรียกตัวเองย่อว่า ว. วชิรเมธี เน้นงานปริยัติคันถธุระ มีสมณศักดิ์เปนพระครูอย่างฐานานุกรม ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์พระอารามหลวง เพิ่งได้เลื่อนเปนเจ้าคุณไม่นานนี้
 

จับมือกันเดินงานพระพุทธศาสนา มีพระอาจารย์ พบโชค ติสสวังโส ผู้เน้นการปฏิบัติและสงเคราะห์ชาวบ้านร่วมทีม โดยท่านสุดท้ายนี้ในคราวเดียวกัน ยังไม่มีสมณศักดิ์_ขุนนางพระ แต่ทำหน้าที่ของตนต่อชาวเขาชาวเราไม่ลดละทั้งข้าวปลาและการศึกษา ต่อมาจึงได้เปนเจ้าคุณ ที่พระไพศาลประชาทร
 

ตรงนี้จึงสรุปลงที่ว่า ลงคิดจะเปนนักบวชล่ะก็ต้องเลือกดูอีกระหว่างจะ conformist (ตามระบบ) กับ non- conformist (นอกระบบ) เปนเครื่องท้าทายความสามารถในการละสังโยชน์ที่ยิ่งใหญ่มาก 
 

และแม้ว่าเลือกทางหนึ่งทางใดไปแล้วยังต้องควบคุมประคองใจไม่ให้ยินดีกับโลภหลง และเสื่อมยศตามโลกธรรมแปดที่ทยอยมาลองใจทุกขณะอีกเล่า ในหนทางอันยาวไกลกว่าจะสิ้นภพจบชาติไปต้องขัดเกลากิเลสยิ่งใหญ่ทุกเวลานาที


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 18 ฉบับที่ 3,753 วันที่ 30 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565