ก่อนจะเริ่มต้นเรื่องราวความเห็นของผู้เขียนเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยผู้เขียนขอกล่าวคำขออภัยด้วยต้นฉบับที่หายไปเกือบสองเดือน เนื่องจากผู้เขียนประสบความเจ็บป่วยดังเหตุแห่งอนิจจัง แต่พอเริ่มฟื้นตัวก็เห็นแก่ตัวเสียว่า ความคิดของตนน่าจะช่วยให้เกิดการกระตุ้น การมีส่วนร่วมทางความคิดอันเป็นหลักพื้นฐานของเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
สองเดือนที่ล่วงมามีเหตุการณ์หลายอย่างที่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ และอีกนานัปการที่เรียกได้ว่า “เซอร์ไพรซ์” ที่หลายคนคาดไม่ถึง รวมทั้งนักการเมืองผู้ช่ำช่องวงการเสียด้วยซํ้า ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งซ่อมในเขตเลือกตั้งภาคใต้และเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ความพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐที่ดินแดนด้ามขวานที่คุณธรรมนัสเป็นแพะรับบาปไปเสียแล้วจนน้อยใจขอถูกขับไปอยู่พรรคใหม่ แถมยังมีอาฟเตอร์ช็อกเป็นระยะๆ ต่อจากนั้นอีกต่างหาก
ถึงจะเกี่ยวกับการเมืองอย่างแยกไม่ออก แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับเลือกมองเป็นช็อต นั่นคือ การเก็บภาษีรูปแบบต่างๆที่รัฐบาลเริ่มตาลายจากการกู้เงินมาพยุงเศรษฐกิจและหมดหนทางจะหารายได้มาโปะงบประมาณแล้ว รัฐบาลเลยโยนหินก้อนเบ้อเร่อแบบไม่ถามทางด้วยว่าจะขอเก็บภาษีกำไรจากการจำหน่ายหลักทรัพย์หรือคริปโตเคอเรนซี่ หรือที่เราเรียกกันกว่า “Capital Gain Tax” นั่นเอง สำหรับผู้เขียนแล้ว การเลือกตั้ง ภาษี และการขายฝันถือเป็นเรื่องราวเดียวกัน มันแยกไม่ออก และถึงแม้พรรคพลังประชารัฐจะแตกและยุบแล้วโตใหม่ การเลือกตั้ง ภาษีและการขายฝันก็ยังคงเป็นภาพที่ทุกคนยังคงได้เห็นอยู่ดี วันนี้ผู้เขียนจะขอจำแนกแจกแจงว่า รัฐกำลังทำอะไรอยู่ และจะใช้อำนาจรัฐเพื่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไปสู่ประสิทธิภาพที่ดีกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนหรือเปล่า
บรรยากาศการตีฆ้องร้องป่าวของบรรดานักการเมืองมืออาชีพรุ่นเก๋า นักการเมืองหน้าใหม่ใสแจ๋ว และนักการเมืองที่ไม่ออกหน้าออกตาแต่เก็บอำนาจไว้เบื้องหลังก็เริ่มขยับวางหมากเกมการเมืองในกระดานประเทศไทยกันแล้ว ปี่กลองเร้าใจเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก ตะวันตก ใต้ เริ่มเดินเกมเก็บข้อมูลว่าต้องใช้กระสุนแบบไหน กระสุนเท่าไหร่ กันไปพอสมควรจะเหลือก็แต่กระดานกรุงเทพมหานครที่เป็นเขตปราบเซียนที่วันนี้ใครก็ทำนายยากว่า คนกรุงเทพจะขึ้นฝั่งกับใคร แม้จะดูได้จากการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่อย่าลืมว่า เขตแดนรบมันคนละแบบ กลยุทธ์ที่ใช้ก็ย่อมต่างกันเป็นธรรมดา
แล้วรัฐบาลล่ะ พร้อมหรือยังกับการเลือกตั้งครั้งใหม่? พลเอกประยุทธ์ไม่มีอาการแสดงความพร้อมต่อการเลือกตั้งครั้งใหม่แม้แต่น้อย ตนเองยังคงยืน ยันบริหารประเทศให้ดีที่สุดในฐานะปลัดประเทศไทย แต่ไม่มีใครกล้าจะฝากความหวังไว้มากนัก แล้วสัญญาณอะไรเล่าที่ทำให้นักการเมืองตื่นตัวกันตั้งแต่ต้นยันปลายแถว คำตอบที่ตรงไปตรงมาที่สุดคงเป็น “ทีมเศรษฐกิจที่ง่อยเปลี้ยเสียขาของรัฐบาลประยุทธ์” นี่เอง
นักการเมืองต่างขายฝันกับคนในพื้นที่ว่า “อยู่ดีกินดี” หรือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง” ขายกันมาตั้งแต่ปฏิวัติการปกครองจนกระทั่งบัดนี้ แต่รัฐบาลประยุทธ์กลับไม่มีฝันจะขาย แผงฝันประยุทธ์ว่างเปล่าเดียวดายอย่างเศร้าใจ ถ้าไม่โทษคุณประยุทธ์ก็ไม่รู้จะโทษใครก็เพราะคุณประยุทธ์ใช้คนไม่เป็น โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ที่กุมบังเหียนเศรษฐกิจพาประเทศไทยไปแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในโลกนี้
แล้วทุกวันนี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์กำลังทำอะไรกันหรือ ใช่สุมหัวพาประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วหรือเปล่า หรือกำลังซุ่มวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมก้าวกระโดดอย่างจริงจัง ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงดี แต่กลับใช่เสียเมื่อไหร่เล่า วันนี้สิ่งที่เขาทำ คือ
หนึ่ง การแสวงหาการขยายฐานภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาลและลดภาระงบประมาณขาดดุลที่ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ด้วยความสัตย์จริงที่สุด ผู้เขียนถูกสอนมาตั้งแต่เรียนวิชาภาษีขั้นต้นว่า เวลาเก็บภาษี ต้องทำให้ง่ายและเร็ว อย่าเก็บแบบซับซ้อนหรือเยอะประเภท หรือประกาศว่าจะเก็บ ไม่งั้นปัญหาจะมากองหน้าบ้าน แต่กลายเป็นว่า ทีมเศรษฐกิจทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผมเรียนซะสิ้นเชิงเลย เมื่อปลายปี 2564 ก็ประกาศว่า รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนหรือ Capital Gain Tax ซึ่งก็ค่อยๆ ปล่อยรายละเอียดมาทีละนิดทีละน้อย ทำเอาชาวบ้านในตลาดหุ้นด่ากันยับ แต่พอหันกลับไปดูเนื้อภาษีที่รัฐจะได้ กลับ ได้รับเพียง 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปีเท่านั้นมันกระจิบกระจ้อยจนไม่รู้จะไปสนใจมันทำไมด้วยซํ้า แถมการเก็บภาษีประเภทนี้จะบั่นทอนประสิทธิภาพของตลาดทุนโดยไม่คุ้มเสีย เมื่อเทียบเนื้อภาษีกับปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละปี น่าค้นหาเสียจริงว่าใครเป็นคนแนะนำกัน
สอง การสนับสนุนแบบไม่จริงใจกับอุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซี่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสองปีที่ผ่านมา ห่านตัวนี้ดูโตเร็วและน่าจะออกไข่เป็นทองคำแน่ๆ มาตรการภาษีกำไรจากการจำหน่ายคริปโตเคอเรนซี่จึงถือกำเนิดขึ้นทันทีในเอกสารประเมินภาษีปี 2564 โดยหลายคนยังไม่ทันตั้งตัว ส่วนตัวผู้เขียนนั้นออกจะเห็นด้วยกับมาตรการทางภาษีของกรมสรรพากรเสียด้วยซํ้า แต่ก็มีหลายประเด็นที่จะต้องขบคิดให้ตกผลึกอย่างแน่แท้เสียก่อน อันประกอบด้วย ประการที่หนึ่ง หน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ และธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นต้น มีท่าทีเช่นไร จะสนับสนุนกันไหมหรือจะลดความร้อนแรงก่อน หรือจะรอดูเชิงไปอีกสักพัก เรื่องนี้ถือเป็นนโยบายที่ควรจริงจังของรัฐบาล ประการที่สอง รัฐบาลควรลดความร้อนแรงจากการลงทุนคริปโตเคอเรนซี่ที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพหรือประสิทธิภาพการผลิตในประเทศไทย แต่ควรทำให้ง่ายที่สุดแม้เนื้อภาษีจะไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สัญญาณที่รัฐบาลส่งผ่านนโยบายภาษีจะทำให้ภาคเอกชนจะต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายใหม่โดยเร็วที่สุด
สาม ยุทธศาสตร์ที่คลุมเครือทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทำเอาภาคเอกชนก็ไม่กล้าจะลงทุน ไม่กล้าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง ได้แต่คอยฟังว่าท่านจะว่าอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่รัฐบาลชักเข้าชักออกหลายครั้งจนทุกอย่างดูไม่แน่ นอนไปเสียหมด ทั้งที่กระแสโลกมันไปแล้ว เมื่อท่านสร้างความไม่แน่นอนหรือเรียกอีกอย่างว่า “ความเสี่ยง” ภาคเอกชนก็จะต้องคิดลดผลตอบแทนให้มากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้ตลาดมีต้นทุนแพงขึ้นไปอีก และท่านก็ไม่มองไปถึงปลายทางที่เมื่ออุตสาหกรรมนี้ตั้งไข่ได้ ประเทศไทยจะได้อะไรบ้าง ไม่ต้องนับเรื่องภาษีที่มันมาอย่างแน่นอนจากการขยายตัว ของเศรษฐกิจ ณ จุดนี้ ผู้เขียนก็ได้แต่เดาว่า รัฐบาลจะไปทางไหนกันแน่
และสุดท้าย ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ขายไม่ได้ ไม่ว่าจะขายแบบไหนก็ไม่ได้ทั้งนั้น ไม่ใช่เพราะทีมท่านไม่เก่ง แต่เพราะทีมท่านไม่เหมาะกับโลกวันนี้ และทีมท่านก็ฟังแต่ไม่ได้ยินเสียด้วย แล้วท่านจะชูทีมนี้สำหรับการเลือกตั้งสมัยหน้ากระนั้นหรือ
ผู้เขียนคาดว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่แม้คนอื่นจะไม่คาดคิด แต่เชื่อเถิดว่า ชื่อชั้นของมือเศรษฐกิจของแต่ละพรรคจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผลการเลือกตั้งแปร เปลี่ยนไปอย่างที่ใครๆ ก็คาดไม่ถึง และคุณประยุทธ์ผู้ใช้คนไม่เป็นก็อาจจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการก่อนที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ประชาชนให้ความไว้วางใจในการเลือกใช้คนเข้ามานั่งในทำเนียบและเชิญคุณประยุทธ์ไปพักผ่อนจริงๆ เสียที