งัดข้อรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดดเดี่ยว“พล.อ.ประยุทธ์”

11 ก.พ. 2565 | 01:00 น.

คอลัมน์ ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

แทบไม่น่าเชื่อว่า ระยะเวลา 3 ปีกว่า ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เป็นการเชื่อมต่อการเดินทาง จากคูคต สะพานใหม่ ปทุมธานี มายังใจกลางกรุงเทพมหานคร และลากยาวออกไปยังชุมชนเคหะฯ จ.สมทุรปราการ กำลังเข้าสู่บั้นปลายของรัฐบาล
 

เมื่อรัฐมนตรีทั้งหมด 7 คน นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวฯ จากพรรคภูมิใจไทย ที่มีจำนวนส.ส.ราว 59 คน และเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ทำหนังสือขอลาประชุมพร้อมกันด้วยการบอยคอตไม่เข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อคัดค้านกรณีที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ ครม.ให้พิจารณาเห็นชอบในการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บมจ. บีทีเอสซี บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เป็นเวลา 30 ปี แลกกับการรับภาระหนี้ การลงทุนในระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถ การลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าราว 1 แสนล้านบาท และให้มีการเก็บค่าโดยสารสูงสุดในอัตรา 65 บาท ตลอดสาย



ในที่สุดครม.ก็รับทราบและค้างวาระการพิจารณาในเรื่องนี้ไว้ โดยให้กระทรวงมหาดไทย ไปหารือกับกระทรวงคมนาคมให้เสร็จสิ้น ก่อนจะนำเรื่องเข้าสู่วาระการพิจารณาของครม.ในอีก 2 สัปดาห์นี้
 

ระยะเวลา 2 สัปดาห์นี่แหละจะเป็นตัวชี้วัดว่า รัฐบาลจะแพแตกหรือไม่ เพราะไม่เคยปรากฏว่า “รัฐมนตรี” ที่ร่วมรัฐบาลจะใช้วิธีไม่ร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลที่ตัวเองร่วมคณะ ซึ่งหากมีการเสนอวาระนี้ให้พิจารณาในอีก 2 สัปดาห์ แล้วพรรคภูมิใจไทยคัดค้านไม่เห็นด้วยเหมือนเดิม หมายถึงอาจต้องมีการถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
 

เพื่อให้เห็นภาพชัด ผมขอพาทุกท่านไปพิจารณาปัญหา “การเดินทางผ่านระบบรางแบบไร้รอยต่อจากชายเมืองถึงเมืองหลวง” ที่ทำให้รัฐบาลลุงตู่แพแตก

 


 

ประเด็นที่กระทรวงคมนาคมเห็นแย้ง ได้แก่....

1. การจัดเก็บค่าแรกเข้าระหว่างส่วนหลักและส่วนต่อขยาย ซึ่งผลการเจรจาระหว่าง กทม.กับผู้รับสัมปทานสรุปได้ว่า การยกเว้นค่าแรกเข้า ทำเฉพาะระบบที่ไม่ได้มีการแก้ไขและติดตั้งไว้แล้ว และยกเว้นค่าแรกเข้าให้ผู้โดยสารที่เปลี่ยนถ่ายจากระบบรถไฟฟ้าอื่นๆ ที่เปลี่ยนถ่ายจากโครงการฯ ภายใต้ระบบตั๋วร่วมเท่านั้น
 

2. ประเด็นการต่ออายุสัมปทานกับเอกชนและการบริหารงาน เมื่อพิจารณาจากรายงานการศึกษาของ กทม.ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว บทที่ 5 ข้อที่ 5.2 เรื่องการวิเคราะห์ด้านการเงินของโครงการ พบว่ากรณีที่รัฐดำเนินการเองระหว่างปี 2562-2602 จะมีกระแสเงินสดรวม 1,577,141 ล้านบาท มีรายจ่าย 1,109,312 ล้านบาท มีส่วนต่างรายรับรายจ่ายรวม 467,822 ล้านบาท



 

ขณะที่การให้สัมปทานกับเอกชน รายได้ที่กรุงเทพฯ จะได้รับรวม 230,450 ล้านบาท รายจ่ายของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 197,760 ล้านบาท คิดเป็นส่วนต่างรายรับกับรายจ่าย 32,690 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า หากรัฐดำเนินการเอง จะมีกระแสเงินสดจนถึงปี 2602 มากกว่าการให้สัมปทานมากถึง 435,132 ล้านบาท
 

3. ประเด็นการคิดค่าโดยสาร โดยสูตรที่กทม.คิดค่าโดยสารนั้นสูงกว่าอัตราค่าโดยสารในระบบ MRT Standardization ที่คิดค่าแลกเข้า 12 บาทและสถานีต่อไป สถานีละ 2 บาท แต่กทม. คิดในอัตราแลกเข้า 15 บาท และสถานีต่อไปคิดสถานีละ 3 บาท ซึ่งหากคิดในอัตราเดียวกับ MRT จะทำให้ค่าโดยสารของประชาชนตลอดสายลดลงคนละ 14 บาท/คน/เที่ยว คิดเป็นการลดค่าครองชีพได้ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี รวมตลอดอายุสัญญา 30 ปี กว่า 4.5 แสนล้านบาท


 

4. เรื่องลดค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มเติมในส่วนที่สามารถลดค่าครองชีพได้ คือการกำหนดให้มีบัตรโดยสารระยะเวลา 30 วัน แบบที่เคยมีการออกมาให้ประชาชนที่ใช้รถไฟฟ้าเป็นประจำได้ใช้ แต่ในสัญญาที่จะให้ผู้สัมปทานไม่ได้ระบุในเรื่องนี้ ให้ขึ้นกับการตัดสินใจของผู้รับสัมปทาน ส่วนการออกโปรโมชั่นขึ้นอยู่กับเอกชนผู้รับสัมปทาน ภาครัฐไม่มีส่วนในการกำกับดูแล ซึ่ง กทม. ควรมีมาตรการส่งเสริมสำหรับคนเดินทางประจำเพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าไม่เป็นภาระค่าครองชีพ
 

ความเห็น-จุดยืนของการไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐมนตรีจากกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับปมสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ออกไปอีก 30 ปี จึงหนักหน่วง หนักใจรัฐบาล
 

ระบบขนส่งมวลชนทางรางใจกลางเมืองเส้นนี้สำคัญอย่างไร ทำไมถึงต้องแตกคอกันของรัฐบาล...
 


 

11 เม.ย.2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยหวังว่าจะทำให้เกิดการบูรณาการในการบริหารโครงการและสัญญาของรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดให้เกิดเอกภาพและเดินรถได้ต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน และสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ประชาชน
 

เหตุผลที่ทำให้ หัวหน้า คสช. จำต้องใช้อำนาจพิเศษเพื่อจัดการเรื่องดังกล่าว ปรากฏในคำชี้แจงภายหลังของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 ว่า ครม. มีมติในปี 2561 เห็นชอบให้โอนส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ก่อสร้าง ให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้จัดการแทน พร้อมกับรับภาระหนี้สิ้นต่าง ๆจาก รฟม.
 


โครงการดังกล่าวมีสัญญาดำเนินงานแตกต่างกันในแต่ละช่วง อาจทำให้มีปัญหาการบูรณาการ การบริหารโครงการและสัญญาที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ ถ้าต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ในการแก้ปัญหา อาจทำให้โครงการนี้ล่าช้าอีก 2-3 ปี ซึ่งรัฐบาลไม่อยากให้เกิดปัญหาการเดินรถที่ไม่มีความต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการออกคำสั่งดังกล่าว โดยให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งที่มีองค์ประกอบเดียวกับคณะกรรมการของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ผลประโยชน์ และค่าโดยสารให้เป็นธรรม
 

13 ส.ค. 2563 กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแล กทม. ที่แบกรับภาระหนี้สินและการบริหารจัดการต่าง ๆ จาก รฟม. ได้เสนอเรื่องการต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ บมจ. บีทีเอสซี เป็นเวลาอีก 30 ปี โดยขอขยายอายุสัมปทานไปถึงปี 2602 จากสัมปทานปัจจุบันที่จะสิ้นสุดลงในปี 2572 ให้ ครม. พิจารณาตามผลการเจรจาของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่า บมจ. บีทีเอสซี จะต้องรับภาระหนี้สินและดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจาก กทม. เป็นเงินมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท และกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 65 บาท
 


นับตั้งแต่นั้นมา การเสนอเรื่องการต่ออายุสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ต้องเลื่อนออกไปทุกครา เพราะพรรคภูมิใจไทยที่เคยทำหนังสือสนับสนุนโครงการนี้มา 3 ครั้ง 3 ครา ในช่วงเข้าใหม่ปลามันของการร่วมรัฐบาล แต่พอมีการ “แตกคอ” จากโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้านบาทเท่านั้น ทุกอย่างกลายเป็นหนังคนละม้วน...
 

ครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค. 2563  กระทรวงมหาดไทยต้องถอนเรื่องออกไป  
 

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563   เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งที่ประชุม ครม. ว่ากระทรวงมหาดไทยขอถอดเรื่องดังกล่าวออกจากวาระการประชุมโดยไม่ระบุสาเหตุ ขณะที่กระทรวงคมนาคมได้ยื่นหนังสือด่วนที่สุด ลงนามโดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คมนาคม ลงวันที่ 16 ต.ค. 2563 ตั้งข้อสังเกต 4 ข้อ จากกรมการขนส่งทางราง ในลักษณะเป็นข้อทักท้วงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 


ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564 กระทรวงมหาดไทยเสนอ ให้พิจารณาเรื่องต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีกครั้ง แต่ต้องถอนเรื่องออกไปอีก เนื่องจากมีข้อทักท้วงจากกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง
 

ครั้งที่ 4 สดๆ ร้อนๆ เมื่อวัน 8 ก.พ. 2565 ครม.ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากพรรคภูมิใจไทยผ่านการบอยคอตของรัฐมนตรี 7 คน ที่ไม่ขอร่วมการประชุม ครม.

อีก 15 วัน คอยลุ้นกันว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะเอาอย่างไร เดินหน้าต่อไป หรือ แพแตก!