จุดจบ และ ทางออกของปูติน

09 มี.ค. 2565 | 08:20 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2565 | 15:20 น.

จุดจบ และทางออกของปูติน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,764 หน้า 5 วันที่ 10 - 12 มีนาคม 2565

แม้ว่าสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครน จะเป็นผลมาจากการแข่งขันกันในทุกมิติของพลังอำนาจระหว่างรัสเซียและพันธมิตร NATO ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และการปะทะกันก็มีอย่างตลอดต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นของทศวรรษ 2000

 

หากแต่ก็เป็นการปะทะกันในรูปแบบของสงครามผสมผสาน (Hybrid Warfare) ที่เน้นสนับสนุนตัวแทนทางการเมืองของแต่ละฝ่ายในเวทีการเมืองของยูเครน ผ่านมาตรการจิตวิทยาความมั่นคง การแทรกแซงทางการเมืองผ่านปฏิบัติการข่าวสารข้อมูล (Information Operation: IO) และ การสงครามไซเบอร์ หากแต่ฝ่ายที่ความอดทนอดกลั้นตํ่ากว่า และเลือกที่จะใช้การสงครามตามแบบ (Conventional Warfare) โดยการส่งกองกำลังทางการทหารเข้าทำสงครามก่อน ซึ่งคือ รัสเซีย โดยประธานาธิบดีปูติน ก็เป็นฝ่ายผิด ในทุกรูปแบบ

 

คำถามคือ เพราะเหตุใด ปูติน ถึงกล้าที่จะเดินหน้าสงครามในครั้งนี้ คำตอบ เพราะปูตินคงจะประเมินแล้วว่า ในสนามรบ ในพื้นที่ส่วนหน้า รัสเซียสามารถช่วงชิงความได้เปรียบได้ด้วยจำนวนทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า แม้ประชาชนยูเครนจะลุกขึ้นมาต่อสู้ขัดขืน แต่หากตราบใดที่พันธมิตร NATO ยังคงมีจุดยืนที่จะทอดทิ้งยูเครนโดยไม่ส่งกองทัพเข้ามาเช่นนี้

 

ไม่ช้าก็เร็ว กองทัพรัสเซียก็จะสามารถยึดครองเมืองสำคัญ และจุดยุทธศาสตร์ของยูเครนได้ทั้งหมด รวมทั้งยังสามารถแต่งตั้งรัฐบาล ที่มีลักษณะเป็นนายหน้าหรือตัวแทนของรัสเซียเพื่อเข้ามาเจรจาและสร้างพันธะผูกพันว่า ยูเครนจะดำรงนโยบายเป็นเพียงรัฐกันชนระหว่างรัสเซียและพันธมิตร NATO 

 

คำถามที่ 2 ที่คงจะตามมาก็คือ แล้วพันธมิตร NATO ไม่มีอำนาจในการต่อรองที่จะสามารถบีบบังคับรัสเซียภายใต้การนำของปูตินได้เลยหรือ โดยเฉพาะหากพิจารณามาตรการควํ่าบาตรที่รุนแรงของชาติตะวันตกและพันธมิตรต่อรัสเซีย จนปัจจุบันธนาคารกลางและสถาบันการเงินของรัสเซีย ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ เงินทุนสำรองของรัสเซียที่ฝากไว้ก็มีอุปสรรคในการนำออกมาใช้ ภาพลักษณ์ของรัสเซีย และปูตินในสายตาชาวโลกก็ยํ่าแย่ สหประชาชาติก็มีมติประณาม 

 

จุดจบ และ ทางออกของปูติน

 

คำตอบคือ ผู้เขียนเชื่อว่า ก่อนคำสั่งบุกทางการทหาร ปูตินและฝ่ายความมั่นคงของรัสเซียคงประเมินสถานการณ์ความสูญเสียเหล่านี้เอาไว้แล้ว ว่าแม้หากเกิดขึ้น ความเสียหาย ก็จะยังคงอยู่ในระดับที่พอรับได้ พอต้านทานปะทะปทังไปได้

 

ทั้งนี้เพราะต้องอย่าลืมว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี รัสเซียก็ถูกสหรัฐและยุโรปตะวันตกควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด และหากไปพิจารณาแหล่งเงินทุนสำคัญของรัสเซียที่จะสร้างเงินตราต่างประเทศเพื่อเป็นรายได้มาหล่อเลี้ยงค่าใช้จ่ายในการทำสงคราม

 

สินค้าส่งออกสำคัญของรัสเซีย คือ พลังงาน (ก๊าซธรรมชาติ นํ้ามันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลี่ยม ถ่านหิน) ที่มีมูลค่าเกินกว่าครึ่งของมูลค่าการส่งออกรวม รองลงมาคือ โลหะ (เหล็ก อลูมิเนียม ทองแดง) และโลหะมีค่า (ทองคำ Platinum) รวมทั้งแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ Palladium  Titanium และแร่ธาตุกลุ่ม Rare Earth ต่างๆ ซึ่งแม้ว่ายุโรป และสหรัฐจะควํ่าบาตร แต่ประเทศอื่นๆ ในโลกอีกจำนวนมากก็ยังมีความต้องการที่จะซื้อสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้จากรัสเซียอยู่ดี 

 

และในความเป็นจริง ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และ NATO เอง ถึงจะควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้น แต่ทุกประเทศก็ยังไม่ยอมหยุดซื้อพลังงานจากรัสเซียอยู่ดี กลายเป็นความร้ายกาจของสถานการณ์อย่างยิ่งที่กลายเป็นว่า หลายๆ ประเทศพันธมิตร NATO ที่พยายามชักจูงยูเครนเข้าเป็นสมาชิกมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องการรุกรานจากรัสเซีย และเมื่อรัสเซียรุกรานยูเครนจริงๆ พวกเขากลับไม่ส่งกองกำลังมาช่วย

 

ซํ้ายังไม่กล้าควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจโดยบีบบังคับที่จุดตาย ของการส่งออกพลังงานของรัสเซีย หากแต่พวกเขากลับกลัวมากกว่าที่ประเทศตนเองจะไฟฟ้าดับ โดยที่ไม่กลัวว่าประชาชนยูเครนจะบาดเจ็บล้มตายขนาดไหน

 

คำถามสุดท้าย คือ แล้วจุดตายของปูตินอยู่ที่ไหนในสถานการณ์เช่นนี้ คำตอบ คือ มหาอำนาจที่เข้าไปรุกรานประเทศอื่นๆ ด้วยแสนยานุภาพที่เหนือกว่า ไม่เคยแพ้ในสนามรบ หากแต่ผู้นำของมหาอำนาจเหล่านั้น ต้องพ่ายแพ้จากสถานการณ์บีบบังคับในบ้านของตนเองด้วยกันทั้งสิ้น

 

ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาที่บุกเข้าไปในเวียดนามตะวันออกกลาง ซีเรีย และ อัฟกานิสถาน ต่างก็พ่ายแพ้เพราะแรงกดดันจากทุกฝ่ายในบ้านของตน ที่ทำให้ต้องถอนทหารพ่ายแพ้ย่อยยับอัปราชัยจากประเทศที่ตนเองส่งกองทัพเข้าไปรุกรานทั้งสิ้น 

 

แล้วปูตินจะถูกบีบเช่นนั้นได้หรือไม่ คำตอบคือ ต้องย้อนกลับไปดูในวันที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย แม้ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อย่าง Mikhail Gorbachev จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อปฏิรูปสหภาพโซเวียตทั้งในมิติการเมืองและมิติเศรษฐกิจ ภายใต้นโยบาย Glasnost (เปิดประเทศ) และ Perestroika (ปฏิรูป) ยอมปล่อยตัวนักโทษการเมือง เลิกควบคุมสื่อ ทำนโยบายปฏิรูปกฎหมายใช้ระบบตลาด ส่งเสริมการลงทุน ฯลฯ

 

แต่ในที่สุดคนที่เสนอตัวเลือกที่ดีกว่า และยิ่งใหญ่กว่าในขณะนั้น ซึ่งก็คือ Boris Yeltsin ที่ผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในรูปแบบสหภาพเศรษฐกิจที่เรียกว่า Commonwealth of Independent States (CIS) ที่ยังสามารถรักษาความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียต ผ่านการที่อดีตประเทศที่แยกตัวเป็นอิสระประกาศแยกตัวออกจากโซเวียต ยังคงสามารถรวมกลุ่ม ทำการค้าขาย ลงทุน และเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตสินค้า และบริการได้โดยสะดวกขึ้น และสร้างความมั่งคั่งให้กับทุกคนได้มากกว่าที่จะอยู่กันเป็นแบบสหภาพโซเวียตเดิม 

 

เมื่อมีตัวเลือกที่ดีกว่าเช่นนี้ ประชาชนคนรัสเซียเองนั่นแหล่ะที่จะเป็นตัวกดดันบีบบังคับให้ในที่สุด ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรค Mikhail Gorbachev ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 25 ธันวาคม 1991 และทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายในวันที่ 26 ธันวาคม 1991 โดยมี Boris Yeltsin ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของรัสเซียไปก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่กรกฎาคม 1991

 

เมื่อพิจารณาถึงประวัติศาสตร์เช่นนี้ เราก็พอจะอนุมานได้ว่า หากจะหาจุดตายของปูติน นั่นก็คือเมื่อใดก็ตามที่การควํ่าบาตรที่รุนแรงเพียงพอ ต่อเนื่องยาวนานเพียงพอจน

 

1) คนรัสเซียเดือดร้อนจนทนอยู่นิ่งไม่ได้ 2) กลุ่มธุรกิจการเมืองที่มีอิทธิพลสูงในรัสเซีย (Oligarch) รู้สึกตนเองสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนเกินกว่าที่จะยอมรับได้ และ 3) หากมีผู้นำฝ่ายตรงข้ามกับปูติน ที่มีมวลชนสนับสนุนมากเพียงพออย่าง Alexei Navalny ผู้นำฝ่ายค้านถ้าทั้ง 3 พลังออกมาร่วมมือกัน เสนอทางออกที่ดีกว่าให้กับประชาชนรัสเซียเมื่อนั้นมวลมหาประชาชนนั่นแหล่ะที่จะกดดันจนกลายเป็นจุดตายของปูติน ที่ต้องแพ้ในบ้านของตนเอง

 

และแน่นอนว่า ในทางตรงกันข้าม หากสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดในรัสเซีย แต่กลับไปเกิดในพันธมิตร NATO ที่ประชาชนของตนก็เดือนร้อนจากมาตรการควํ่าบาตรที่ทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้น จนต้นทุนการผลิตสินค้าในประเทศสูง ประเทศสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน ไม่สามารถส่งออกได้ เศรษฐกิจในประเทศไม่ดี

 

พร้อมๆ กับที่ต้นทุนพลังงานที่แพง และราคาสินค้าต่างๆ ก็ปรับสูงขึ้น จนประชาชนทุกคนเดือดร้อน คำถามในประเทศเหล่านั้นว่า เป็นการคุ้มค่าหรือไม่ที่พวกเราต้องมาแบกรับต้นทุนเพียงเพื่อจะสนับสนุนยูเครน ที่ในความเป็นจริงอาจจะสำคัญกับพวกเราน้อยกว่ารัสเซียด้วยซํ้า เพื่อนั้นเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรปก็อาจจะสูญเสียได้เช่นเดียวกัน และนั่นอาจจะกลายเป็นทางออกของปูติน