วันนี้(27 ก.พ.65) รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อเรื่อง “สิ่งที่เราต้องเรียนรู้จากยูเครน” ระบุว่า
1. ความขัดแย้งครั้งนี้ แท้จริง คือ การประลองกำลังระหว่างรัสเซีย และพันธมิตร NATO ซึ่งนำโดยสหรัฐ ยูเครนเป็นเพียงสนามประลองกำลังของพวกเขา
2. ความขัดแย้งเกิดมานานแล้ว แต่ all out war พุ่งเริ่มต้น โดยความขัดแย้งที่ผ่านมาอยู่ในรูป Hybrid Warfare ซึ่งดำเนินการโดยทั้ง 2 ฝ่าย (NATO และ รัสเซีย)
3. ทุกฝ่ายสูญเสีย ยกเว้นเพียง 1 ฝ่ายเท่านั้น
3.1 ยูเครนกลายเป็นเพียงประเทศที่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นดินแดน บูรณภาพแห่งดินแดน ชีวิตผู้คนที่สับสนอลหม่าน แตกฮือย้ายหนีออกจากถิ่นพำนัก พลัดที่นาคาที่อยู่ และต้องเผชิญกับระบบเศรษฐกิจที่ย่อยยับ
3.2 พันธมิตร NATO ในยุโรปได้รับผลกระทบทางลบที่มีต้นทุนสูง ในรูปแบบของโอกาสทางธุรกิจ/เศรษฐกิจที่สูญเสีย เนื่องจากคงไม่สามารถพึ่งพาแหล่งพลังงานราคาถูกจากรัสเซียได้อีกต่อไป
3.3 รัสเซียถึงแม้จะได้ดินแดนในทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ แต่การตัดสินใจเป็นฝ่ายใช้กำลังเข้าห้ำหั่นเสียก่อน ก็ต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และการสูญเสียภาพลักษณ์ในประชาคมโลก
3.4 ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ผ่านหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการสงครามและพลังงาน ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น (อย่าลืมว่าสหรัฐฯ กดดันให้ยุโรปลดการพึ่งพาพลังงานราคาถูกจากรัสเซียมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน) รวมทั้งบารมีและอิทธิพลของตนเองในกลุ่มพันธมิตร NATO ที่กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
คำถามคือ เพราะอะไร ยูเครน จึงตกอยู่ในสถานะเช่นนี้ ที่เลือกข้างมหาอำนาจ แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนประเทศสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
ผมคิดว่าเพราะ 3 ปัจจัย ที่ทำให้มหาอำนาจเข้าแทรกแซง
1. มีปมขัดแย้งในพื้นที่อยู่แล้ว และปมนั้นถูกกดทับมาเป็นเวลายาวนาน
2. อยู่ในทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่มหาอำนาจต้องการขยานอิทธิพล
3. ประชาชนในประเทศพร้อมเลือกข้าง และพร้อมห้ำหั่นกันเอง
คำถามคือ ในไทย และ ในอาเซียน เรามีความสุ่มเสี่ยงเช่นนี้หรือไม่
เชิญชวนอ่านครับ
จากยูเครนสู่ปัตตานี กรณี Gerasimov Doctrine และแผนบันได 7 ขั้น
จากยูเครนสู่อาเซียน: กรณีศึกษา Hybrid Warfare (สงครามผสมผสาน) ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง