เคราะห์ซ้ำกรรมซัด วิบัติภัย “สงคราม” ซ้อน “โควิด”

09 มี.ค. 2565 | 11:45 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2565 | 18:51 น.

คอลัมน์ ฐานโซไซตี โดย...กาแฟขม

*** THAN DIGITAL หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3764 ระหว่างวันที่ 10-12 มีนาคม 2565 โดย ...กาแฟขม

 

*** สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 ยอดผู้ติดเชื้อรวม 446,612,251 ราย อาการรุนแรง 71,228 ราย รักษาหายแล้ว 379,629,953 ราย เสียชีวิต 6,019,441 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด สหรัฐอเมริกาจำนวน 80,917,522 ราย อินเดีย จำนวน 42,967,077 ราย บราซิลจำนวน 29,049,013 ราย ฝรั่งเศสจำนวน 23,057,326 ราย สหราชอาณาจักรจำนวน 19,119,181 ราย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 33 จำนวน 3,047,857 ราย

 

*** ช่วงนี้บรรดาผู้ประกอบการจากหลายองค์กรฝากเตือนรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระวังเทศกาลสงกรานต์นี้ หวั่นใจจะมีแรงงานติดโควิดอีกมาก หากซ้ำรอยแบบปีที่แล้ว อาจทำให้ภาคการผลิตสะดุดลงได้ เพราะขาดแรงงาน ติดโควิดเป็นคลัสเตอร์ บางรายถูกกักตัว ในขณะที่เวลานี้บางอุตสาหกรรมก็ยังขาดแรงงานที่มีฝีมือเฉพาะด้านอยู่อีกหลายกลุ่ม

*** เคราะห์ซ้ำกรรมซัดวิบัติภัย วิกฤติซ้อนวิกฤติจริงๆ สำหรับเศรษฐกิจไทย วิกฤติแรกเจอพิษภัยจากโควิด-19 เล่นงานสะบักสะบอม หน้าแห้งเหี่ยว กระเป๋าแฟบใช้หนี้ไม่ทันหมด ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก เมื่อเจออีกวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีองค์กรนาโต้ของประเทศตะวันตกหนุนหลัง ทุบซ้ำเข้าไปอีก น้ำมันพุ่งปรี๊ด ราคาสินค้าจ่อขยับตามปั๊บ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพพุ่ง จากที่ไม่มีเงินใช้ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ หนี้แต่ละครัวเรือนสะสมประกอบกับโควิดยังไม่ซา คราวที่แล้ว ไม่รู้จะเดินหน้ากันอย่างไร พึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะพอได้ไหม บอกให้ชัดเจนแจ่มแจ้งที จะประคองประเทศ ประชาชนให้รอดได้อย่างไร หรือไม่สนใจขอแค่อยู่ในอำนาจ ขอแค่ได้ฉีกปฏิทินไปวันๆ

 

*** ผลกระทบเกิดขึ้นทันที คนเป็นผู้บริหารต้องหาทางแก้ไข เมื่อ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย สั่งห้ามส่งออกปุยเคมีทั้งหมด อันจะมีผลให้อุปทานปุ๋ยเคมีตึงตัวขึ้นอย่างรุนแรง เพราะรัสเซียและเบรารุสเป็นผู้ผลิตปุ๋ยโปแตสมากเป็นลำดับที่ 2 ของโลก เป็นรองจากแคนาดา ก็ต้องเข้าใจว่าประเทศไทยผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่พอสมควร นำเข้าปุ๋ยเคมีเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อไม่มีของนำเข้า ราคาก็ย่อมพุ่งสูงขึ้น เมื่อพุ่งสูงขึ้นก็กระทบต้นทุนเกษตรกร ไปไล่ดูราคาชาวบ้านร้องเรียนมาพุ่งไปกระสอบละ 1,400 บาทแล้ว เอเย่นต์แจ้งว่าเดือนหน้าปรับราคาขึ้นอีก พระเดช พระคุณทั่นเอาอย่างไรกันดี

*** ว่าก็ว่าปัญหาปุ๋ยเป็นปัญหาคล้ายน้ำมัน แต่ทางแก้อาจไม่เหมือนกัน ที่ว่าคล้ายเพราะนำเข้าเหมือนกัน ผลิตเองไม่ได้ แต่ต่างกันตรงที่ปุ๋ยพอจะมีวัตถุดิบในไทย กรณีโปแตซ ถ้าวิเคราะห์แล้วคุ้มแก้ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ เหมืองโปแตซก็ควรพิจารณาจะได้แก้ปัญหาภาพรวมภาคเกษตรไปเสียทีเดียว ตราบใดที่ไม่สามารถปฏิเสธการเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตร ก็ไม่อาจปฏิเสธเรื่องปุ๋ย ถ้าไม่คิดหาภายในก็ต้องนำเข้ายืมลมหายใจผู้อื่นต่อไป

 

*** ไปที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) วางแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย ให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องกับ BCG Model ของรัฐบาล สร้างโอกาสลงทุนผู้ประกอบการไทย รับความต้องการของตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูง ในอีก 10 ปีข้างหน้า มูลค่าผลิตภัณฑ์ไบโอรีไฟเนอรี่ในตลาดโลก มีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9.41 ต่อปี ในช่วงปี 2561 - 2573 โดยในปี 2564 นั้น ผลิตภัณฑ์ไบโอรีไฟเนอรี่มีมูลค่า 670,840 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2573 คาดว่าผลิตภัณฑ์ไบโอรีไฟเนอรี่จะมีมูลค่าสูงถึง 1,734,510 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ***

 

*** กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งออกมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า หนุนนโยบาย EVล่าสุด บรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งมือจัดทำมาตรฐานอีกจำนวน 19 มาตรฐาน ทั้งเรือไฟฟ้า ชิ้นส่วนสำหรับดัดแปลงรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ระบบจอดอัตโนมัติของรถยนต์ และระบบแบตเตอรี่ของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และอีกหลายๆ มาตรฐานที่จะออกมาต่อเนื่อง มุ่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านอีวีให้เป็นรูปธรรม ทั้งหมดเป็นมาตรฐานที่รองรับเทคโนโลยีวีทูจี (Vehicle to Grid - V2G) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าสำรองไว้ในแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า มีศักยภาพในการควบคุมกระแสไฟฟ้าให้ไหลเข้าออกจากแบตเตอรี่ได้อย่างอิสระ จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้มากขึ้น***