สงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ทุบเศรษฐกิจโลกแน่

09 มี.ค. 2565 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2565 | 14:35 น.

คอลัมน์ ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

     ชีพจรของโลกในขณะนี้ล้วนแล้วแต่โฟกัสลงไปในเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังจุดไฟสงครามให้เกิดขึ้น ทุกคนภาวนาให้การเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ข้อยุติ

 

     ฝั่งรัสเซียยื่นเงื่อนไขในการหยุดยิงที่ชัดเจน 4 ข้อ

 

     1. ยูเครนจะต้องยุติปฏิบัติการทางทหาร

 

     2. ยูเครนจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อย้ำจุดยืนความเป็นกลางและไม่เข้าร่วมกับพันธมิตรใดๆ

 

     3. ยูเครนจะต้องยอมรับว่าไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

 

     4. ยูเครนจะต้องยอมรับเอกราชของประเทศเกิดใหม่ในเขตดอนบาสอันประกอบด้วย สาธารณรัฐโดเนตสก์และสาธารณรัฐลูฮันสก์

     แต่ดูเหมือนว่าความหวังในการเจรจาที่ได้ข้อยุติจะห่างไกลจากความจริงไปเรื่อยๆ เมื่อผู้นำของ 2 ประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขซึ่งกันและกันได้เลย

 

     นับตั้งแต่รัสเซียเปิดศึกยิงถล่มและส่งทหารบุกยูเครนจนถึงปัจจุบัน ไม่เพียงแค่เกิดการสูญเสียบ้านเรือน อาคารและชีวิตของผู้คนใน 2 ประเทศเท่านั้น หากแต่ทุกคนทั่วทั้งโลกต่างต้องเผชิญกับ “ต้นทุนแพงขึ้น” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

     บิล แอคแมน มหาเศรษฐีผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ระดับโลกที่บรรดาสถาบันการเงินและนักลงทุนทั้งโลกคาดหมายว่าเขาจะเป็นปรมาจารย์ด้านการลงทุนที่จะเข้ามาแทนที่ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า แม้หลายคนจะมองว่านี่คือความขัดแย้งของ 2 ประเทศของโซเวียตรัสเซียในอดีต แต่ในความจริงความขัดแย้งดังกล่าว ถือเป็นการเปิดศึกสงครามโลกครั้งที่ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

     “คีย์หลักที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สามารถยุติวิกฤตการณ์ในครั้งนี้อยู่ในมือของจีน มิใช่สหรัฐ” บิล แอคแมน ระบุ

 

     “มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะระงับยับยั้ง คลี่คลายวิกฤตการณ์ไฟสงครามในครั้งนี้ได้นั่นคือ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนที่สามารถเป็นคนกลางในการดับไฟสงครามได้ แต่หากโลกดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดแล้วบีบให้จีนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียให้มีความผิดร่วมกันกับรัสเซียเมื่อใด โลกใบนี้พังลงมาในทันใด” สตีเฟ่น โรช นักเศรษศาสตร์ชื่อดังจากมอร์แกน สแตนเล่ย์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC

     ระยะเวลา 14 วันของการเปิดศึกสงครามของ 2 ประเทศ ก่อนรุกลามมาถึงการประกาศคว่ำบาตรทางการค้า การเงิน การลงทุนของพี่ใหญ่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และกลุ่มประเทศพันธมิตรของยูเครนต่อรัสเซีย ประชาชนบนโลกใบนี้ล้วนแบกภาระจากความขัดแย้งอย่างหนักหน่วงแตกต่างกันไป

 

     ต้นทุนแรก ทุกคนต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นแบบพรวดพราดจนเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้า เพราะนั่นหมายถึง การควักเงินทุนรอนในกระเป๋ามาจ่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้เท่าเดิมไม่มีใครเพิ่มขึ้น

 

     ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทะยานตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 137 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 14 ปี หลังจากสหรัฐและชาติยุโรปประกาศจะระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพื่อลงโทษรัสเศียที่ถล่มยูเครน

 

     ขณะที่ อเล็กซานเดอร์ โนวัก รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียส่งสัญญาณเตือนว่า โลกอาจต้องเจอภาวะน้ำมันดิบที่พุ่ขึ้นไปเหนือระดับ 300 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งแพงกว่าต้นปีที่อยู่ในระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลเมื่อช่วงต้นปี 565 ถึง 4 เท่าตัวหากบรรดาประเทศตะวันตกใช้มาตรการระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย

 

     เพราะกว่ายุโรปและชาติตะวันตกจะจัดหาแหล่งวัตถุดิบในแหล่งน้ำมันมาทดแทนรัสเซียอาจต้องใช้เวลาหลายปี นั่นหมายถึงว่าต้นทุนสินค้า ค่าขนส่ง จะแพงขึ้นทันตาเห็น...

 

     “รัสเซียกำลังพิจารณาปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติสายหลัก Nord Stream 1 ที่เชื่อมต่อไปยังเยอรมนีและหลายชาติในยุโรป หากยังคงมีการห้ามนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียอยู่ต่อไป

 

     อเล็กซานเดอร์ โนวัก ระบุว่า “รัสเซียมีสิทธิอย่างเต็มที่ ในการตอบโต้ด้วยการห้ามส่งออกก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อ Nord Stream 1 ไปยังชาติในยุโรป”

 

     เพราะในขณะนี้รัสเซียถูกดำเนินมาตรการคว่ำบาตรในแทบทุกด้านมากที่สุดในโลก แซงหน้าอิหร่านและซีเรีย เพราะถูกคว่ำบาตรจากมาตรการทางการเงิน การค้า การอายัดทรัพย์สิน ทุนสำรองระหว่างประเทศ ตัดการค้าการขาย และระบบการชำระเงินมากถึง 2,754 มาตรการ จากทั่วโลก

 

     บริษัทจำหน่ายสินค้า ผู้ให้บริการ ระดับโลกหลายร้อยราย ตัดสายสัมพันธ์ ถอนตัวออกจากตลาดรัสเซีย สื่อสังคมออนไลน์ ก็คว่ำบาตรรัสเซีย ดังนั้นอย่าแปลกใจที่รัสเซียจะลุกขึ้นมาตอบโต้....

 

     นี่ไม่ใช่คำขู่ของรัสเซีย แต่เป็นความจริงที่ทุกคนต้องเผชิญ แม้ว่าผู้เชียวชาญด้านราคาน้ำมันละนักลงทุนระดับโลกอย่าง รอย ดาโลห์ จะประเมินว่าราคาน้ำมันดิบอาจทะลุ 200 ดอลลาร์/บาร์เรล ก็ตาม แต่ราคาน้ำมันขึ้นทะลุฟ้าแน่นอน

 

     ล่าสุดทางกลุ่มบริษัท เชลล์ออยส์ประกาศกลับหลังหัน 360 องศา เมื่อประกาศขออภัยว่าว่า จะไม่ร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย เพราะพยายามจะหาแหล่งน้ำมันจากที่อื่นแล้ว แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ เชลล์จำเป็นต้องซื้อน้ำมันจากรัสเซีย แต่จะแบ่งกำไรไปช่วยผู้อพยพชาวยูเครน...

สงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ทุบเศรษฐกิจโลกแน่

     ต้นทุนที่สองเป็นต้นทุนที่ส่งผ่านออกมาในเรื่องค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความเสี่ยงจากภาวะสงคราม

 

     ขณะเดียวกัน ผลกระทบของสงครามและมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่อาจกระทบเศรษฐกิจยุโรป ได้กดดันให้ สกุลเงินยูโร (EUR) และสกุลเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงต่อเนื่องแตะระดับ 1.087 ดอลลาร์/ยูโร และ 1.311 ดอลลาร์/ปอนด์ ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 99.24 จุด สำหรับคนที่ปิดรับความเสี่ยงในตลาดการเงิน....หนักหน่วงมากๆ และเป็นระดับที่สูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

     ค่าเงินบาทของไทยขึ้นมายืนเด่นเป็นสง่า 33.05 บาท/ดอลลาร์อ่อนค่าลงเร็วในรอบ 1 เดือน เพราะตลาดวิตกความตึงเครียดจากปัญหารัสเซีย-ยูเครน ค่าเงินบาทของไทยเคยอ่อนค่าไปสูงสุดที่ 33.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือน ต.ค.2561

 

     ต้นทุนทางการเงินนี้สำคัญมาก เพราะใครที่ทำการค้ากับยุโรป และรัสเซียตอนนี้เจอภาวะต้นทางการเงินจ่ายค่า เครดิต ดีฟอล์ต สวอป ซึ่งเป็นการซื้อป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระสูงขึ้นอย่างหนักหน่วงที่สุดราว 60-70% ของราคาหน้าตั๋ว

 

     ฟันด์เมเนเจอร์รายหนึ่งยืนยันกับผมว่า ตอนนี้ค่าประกันพันธบัตรรัฐบาลรัสเซียได้พุ่งสูงต่อเนื่อง ขนาดว่าใครถือครองพันธบัตรรัสเซียไว้ 15 ล้านดอลลาร์จะต้องซื้อป้องกันความเสี่ยงถึง 5 ล้านดอลลาร์เพื่อป้องกันการสูญเสีย เงินทอง

 

     นอกจากนี้ ผู้ที่ทำการค้าขายกับรัสเซีย ยูเครน เจอเหตุการณ์เหมือนกันคือ ต้องมีการค้ำประกันจากสถาบันการเงินของจีนประกอบการเปิดแอล/ซี เปิดตั๋วที/อาร์ ในการทำการค้าการขาย การทำดับเบิลการันตีหมายถึงต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น กำไรที่ลดลง

 

     สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไฉไลอยู่กับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ตอนนี้ขอบอกว่า “ทุกคนจนลงในพริบตา” จากราคาสินทรัพย์ที่ร่วงลงแรงและลงเร็วถ้วนหน้า บิตคอยน์ซื้อขายกันที่ 38,237  ดอลลาร์สหรัฐ  อีเธอเรียมลดลงเหลือ 2.515  ดอลลาร์

 

     ผมไม่นับรวมนักลงทุนรุ่นเดอะ ที่ใช้เงินเก็บไปสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้น ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวลดลง 3% ลดลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 16 เดือน ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 797.42 จุด ดัชนี Nasdaq ลดลง 482.48 จุด ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เพราะลดลงถึง 20.1%  ตลาดหุ้นทั่วโลกตอนนี้อยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “ตลาดหมี” เข้าไปแล้ว

 

     ต้นทุนที่สามเป็นต้นทุนที่ส่งผ่านออกมาในรูปของการถือครองทรัพย์สินที่ปลอดภัย นั่นคือทองคำ ระยะเวลา 13-14 วันทองคำทำสถิติมาโดยตลอด ทองคำได้ปรับตัวขึ้นมากทะยานขึ้นมาตั้งแต่ช่วง 1,900 หรือ 1,950 ดอลลาร์/ออนซ์ สูงสุดทะลุ 2,100 ดอลลาร์/ออนซ์ เข้าไปแล้ว

 

     ต้นทุนต่อมาเป็นต้นทุนการขนส่ง โลจิสติกส์ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ อันเป็นผลจากไฟสงคราม

 

     ผู้ส่งออกสินค้าทางเรือรายหนึ่งบอกผมว่า เฉพาะการส่งออกสินค้าทางเรือใครที่ขนสินค้าผ่านทางคลองสุเอชนั้นตอนนี้ต้องจ่ายค่าระวางเรือในการขนถ่ายสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดิม 15-18%

 

     ขณะที่การขนส่งสินค้าทางอากาศนั้น ล่าสุดทางสายการบินระดับโลกประกาศขึ้นค่าขนส่งสินค้าทางอากาศขึ้นมาจากเดิมถ้วนหน้า เดิมใครที่ส่งสินค้าจากฮ่องกงไปแอฟริกา ส่งสินค้าจากฮ่องกงไปตะวันออกกลางนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 50-70 เซนต์ต่อปอนด์ ตอนนี้ขึ้นมาราว 1.5 ดอลลาร์/ปอนด์ และกลุ่มประเทศ 35 ประเทศ ที่รัสเซียประกาศว่าเป็นประเทศ “Unfreindly” นั้นค่าขนส่งขึ้นมาพรวดพราดทั้งสิ้น

 

     ต้นทุนต่อมาที่ทุกคนจะต้องเผชิญร่วมกันหลังจากนี้ไปคือต้นทุนราคาสินค้าที่สะท้อนออกมาจากต้นทุนราคาและอัตราเงินเฟ้อที่จะสูงลิ่วขึ้นมาและลากยาวออกไป เพราะภาวะต้นทุนน้ำมัน ต้นทุนราคาสินค้าจะครอบงำการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกและไทยให้เผชิญภาวะซบเซา อับเฉา ยับเยิน แน่นอน

 

     คนไทยต้องรับมือกับวิกฤติสงครามรอบนี้ให้ดี ตั้งสติ ประหยัด อด อมกันไว้ได้เลย แม้ไทยนั้นจะเป็นคู่ค้ากับรัสเซียทำการค้า การส่งออกและนำเข้าอาจไม่ถึง 1% ของมูลค่าการค้ารวม แต่ไทยมีนักท่องเที่ยวรัสเซียเข้ามาราว 3.7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาในห้วงก่อน

 

     โควิด...แต่นั่นอาจเฉพาะด้าน

 

     แต่ที่กระทบแน่คือราคาสินค้า ของใช้ เครื่องอุปโภคบริโภค ค่าขนส่ง ที่แพงขึ้นทันที แบบไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย!