สี่เสาหลักในการสร้างความไว้วางใจ

18 มี.ค. 2565 | 23:30 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ช่วงสองวันนี้ ผมได้มีโอกาสอ่านบทความของผู้วิชาการด้านจิตวิทยาดูแลผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ ดร.ชิแงยามา ท่านเขียนไว้น่าสนใจมากครับ ท่านบอกว่าสี่เสาหลักที่จะสร้างความไว้วางใจในด้านมนุษยธรรมของผู้ดูแลผู้สูงอายุที่พึงจะมีในจิตใจของผู้ให้บริการเสมอ มีดังต่อไปนี้ 


1, การมอง 2, การพูดคุย 3, การสัมผัส 4, การยืน ซึ่งในสี่เสาหลักนี้ จะต้องมีวิธีการในการปฏิบัติที่ให้แก่ผู้รับการดูแล เพื่อที่จะได้สร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้รับการดูแลหรือผู้สูงอายุ ด้วยเทคนิคที่ไม่ยากเลย แต่ดูเหมือนว่าจะถูกมองข้ามไปจากผู้ให้การดูแลเสมอ หากถูกนำมาใช้ให้ถูกวิธีแล้ว จะสามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างมากมายทีเดียวครับ

เสาหลักแรกคือการมอง ซึ่งเทคนิคในการมองที่เป็นการสื่อสารในเชิงบวกผ่านการมองเห็น มีแนวทางในการมองด้วยสายตา หรือมุมมองด้วยกันสามวิธี 


วิธีที่หนึ่งคือมองดูจากมุมมองที่เท่าเทียมกัน เพื่อที่จะสื่อสารให้อีกฝ่ายได้รับรู้ว่า เรามีสถานะที่ไม่ได้แตกต่างกัน หรืออีกนัยยะหนึ่ง คือทั้งผู้มองและผู้ที่กำลังถูกมอง มีความเสมอภาคกัน ไม่ได้มีการเหลื่อมล้ำกันนั่นเอง ซึ่งจะทำให้มีความรู้สึกในการไว้วางใจได้เสมอ 
 

วิธีที่สอง คือมองด้วยสายตาที่สื่อให้เห็นถึงความที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา และความสนิทสนมที่สามารถมองออกในระยะใกล้ชิด ก็จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้จากผู้สูงอายุนั่นเอง วิธีที่สาม ให้ส่งสายตาที่มีความซื่อสัตย์จริงใจ และไว้วางใจ โดยการมองด้านหน้าตรงๆ อย่ามองด้วยหางตา 


ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ถูกมองมีความไม่เชื่อใจได้ นอกจากนี้ การจ้องมองนานๆ ด้วยสายตาที่อ่อนโยน ก็จะกลายเป็นการสร้างมิตรภาพและความเสน่หา ซึ่งวิธีการมองด้วยสายตาของคนแต่ละคน หากเราสังเกตให้ดี เราจะรู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ เพราะดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจนั่นเอง
        

เสาหลักที่สอง คือการพูด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะน้ำเสียงหรือการใช้โทนเสียงในการพูด จะสามารถสร้างความประทับใจหรือความเกลียดชังได้เสมอ หากได้ยินเสียงที่นุ่มนวลและจังหวะจะโคนที่น่าฟัง การพูดด้วยเสียงที่ไม่กรรโชก แผ่วเบาราวกับร้องเพลงจะถ่ายทอดความรู้สึกดีๆ ให้แก่ผู้ฟังได้เสมอ 


แม้กระทั่งการสั่งให้ทำอะไรก็ตาม หากผู้พูดพูดด้วยเทคนิคที่นุ่มนวล ย่อมสร้างความประทับใจที่รู้สึกถึงการอยากที่จะทำตามคำสั่งนั้นๆ ในทางกลับกันหากพูดด้วยน้ำเสียงที่ไม่น่าฟัง ผู้รับฟังหรือผู้สูงอายุก็จะไม่คิดอยากจะทำตามเสมอ 


คำพูดบางครั้งในความหมายเดียวกัน แต่คนพูดที่ใส่อารมณ์เข้าไปแตกต่างกัน ก็อาจจะทำให้ผู้รับฟังตีความหมายของคำพูดที่แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังคำพูด ที่จะใช้ในการดูแลผู้สูงวัย จึงต้องมีความใส่ใจเป็นพิเศษอยู่ในคำพูดเสมอ
         

เสาหลักที่สาม คือการสัมผัส ซึ่งจะมีความสำคัญไม่ต่างจากการมองและการพูดดังที่กล่าวมาแล้วเลย บางครั้งการสัมผัสสามารถทำให้ผู้ถูกสัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กำลังต้องการการใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ อาจจะมีความหมายของการสัมผัสที่แตกต่างกันออกไป 


ซึ่งอาจจะสร้างความอึดอัดใจให้แก่ผู้ถูกสัมผัส หรือสร้างความอบอุ่นใจและไว้วางใจให้แก่ผู้ถูกสัมผัสหรือผู้สูงอายุได้ จึงจำเป็นที่จะต้องควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น การสัมผัสอวัยวะบางแห่งของร่างกาย ที่ผู้ถูกสัมผัสหรือผู้สูงอายุอาจจะไม่พึงประสงค์ให้สัมผัสเขา ก็จะทำให้เกิดความประหลาดใจแก่ผู้รับการสัมผัสได้ 


เช่น การคว้าที่รุนแรงไม่นุ่มนวล การเกา การหนีบหรือหยิก ล้วนแล้วแต่จะสร้างปัญหาให้แก่ผู้ถูกสัมผัสได้ทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้าม หากการสัมผัสที่เหมาะสม หรือในส่วนของอวัยวะบางจุด เช่นที่บ่า ไหล่ ต้นแขน มือ หรือแผ่นหลัง หากสัมผัสด้วยความแผ่วเบาละมุนละม่อม แสดงออกถึงความที่เต็มเปี่ยมด้วยความห่วงใย จะสร้างความรู้สึกที่ดี และไว้วางใจจากผู้ที่ถูกสัมผัสได้ไม่ยากครับ 
          

เสาหลักสุดท้ายคือการยืน การยืนนั้นไม่เพียงแต่จะเป็นการกายภาพบำบัดเท่านั้น เพราะการยืนจะทำให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกาย สามารถไหลเวียนได้ดี อีกทั้งป้องกันการเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง และระบบกระดูกและไขข้อจะแข็งแรงดีกว่าการนั่งหรือการนอน 


หากผู้สูงวัยมีการปัญหาเรื่องดังกล่าว ควรจะให้เขาได้มีโอกาสได้ยืนทุกวันๆละ 20 นาที ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้สูงวัยครับ นอกจากนี้การยืนยังสามารถทำให้ผู้สูงอายุผ่อนคลายได้ ในขณะที่ผู้ดูแลหรือคู่สนทนาของผู้สูงอายุ ก็ควรต้องระมัดระวังในการวางตัวในการยืนคู่กันเสมอ 


โดยอย่ายืนค้ำหัวหรือยืนในท่ายืนที่มองดูไม่สุภาพเรียบร้อย หรือยืนในท่าที่สามารถทำให้รู้สึกว่ามีสถานะที่สูงกว่าผู้สูงอายุเป็นต้น อีกทั้งเวลายืนคู่กับผู้สูงอายุควรจะก้มศีรษะเล็กน้อย เพื่อให้มีความรู้สึกถึงการให้เกียรติแก่คู่สนทนาหรือผู้สูงอายุเสมอ
          

จะเห็นว่าการสร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้สูงอายุตามที่ดร.ชิแงยามา ได้เขียนไว้ ผมคิดว่าเราคนไทยทุกคนอาจจะมีอยู่ในกมลนิสัยอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้ใส่ใจเท่านั้น ดังนั้นการปฏิบัติตนง่ายๆ ตามที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ดีอยู่แล้วครับ