ศรีลังกา คือ 1 ใน 2 ประเทศของภูมิภาคเอเชียใต้ ที่เคยได้รับสถานะ ประเทศรายได้ระดับกลาง-บน (Upper- Middle Income Economy) โดยอีก 1 ประเทศคือ มัลดีฟส์ (ซึ่งนักวิชาการจำนวนมากยังตั้งข้อสงสัย เนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของมัลดีฟส์ อาจไม่ได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรายได้ของประเทศมาจากการท่องเที่ยว ซึ่งเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นโดยเครือโรงแรมและรีสอร์ตซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ)
หากแต่ศรีลังกาใช้เวลายาวนานกว่า 21 ปี ตั้งแต่ปี 1998 ที่ได้รับสถานะ ประเทศรายได้ระดับกลาง-ล่าง (มีรายได้ประชาชาติ(GNI) เฉลี่ยต่อคนต่อปีสูงกว่า 1,036 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี) จนกลายเป็นประเทศรายได้ระดับกลาง-บน (GNI per capita สูงกว่า 4,046 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี) ในปี 2019 ซึ่งแน่นอนว่าตลอดระยะเวลา 21 ปี ศรีลังกาถือเป็นดาวรุ่งที่สามารถฟันฝ่าวิกฤติได้ในหลากหลายสภาวะ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการเมืองความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์สิงหล ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ กับกลุ่มชาติพันธุ์ทมิฬ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศ
แต่หากนับจำนวนชาวทมิฬในภูมิภาคเอเชียใต้ กลับมีจำนวนมากกว่าชาวสิงหล โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ทมิฬในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย ซึ่งหลายๆ วาระก็แทรกแซงกิจการความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ในศรีลังกา ซึ่งวิกฤตินี้ก่อตัวยาวนานมาตั้ง แต่ประเทศได้รับเอกราชในปี 1948 จนสถานการณ์คลี่คลายในปี 2019
รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการรื้อทำลายโครงสร้างพื้นฐานและคร่าชีวิตประชาชนจำนวนมากจากมหาธรณีพิบัติภัย Tsunami ในปี 2004 รวมทั้งวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่ทำให้เกิดอุทกภัยสลับกับความแห้งแล้งที่ทำให้ภาคเกษตรมีอุปสรรคอย่างมาก แต่ศรีลังกาก็สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องจนหลายๆประเทศในเอเชียใต้มองเป็นต้นแบบการพัฒนา
หากแต่สถานะประเทศรายได้ระดับกลาง-บน ของศรีลังกา ก็คงอยู่ได้เพียง 1 ปีเท่านั้น เพราะในปี 2020 และ 2021 GNI per capita ของศรีลังกาก็หดตัวกลับลงมาตํ่ากว่า 4,046 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี อีกครั้ง และปัจจุบันในปี 2022 ศรีลังกาก็เข้าสู่สภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ วิกฤติพลังงาน และวิกฤติการณ์ทางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ
สาเหตุของความถดถอยในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดจาก การบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ซึ่งแน่นอนว่าสาเหตุหลักมาจากฝ่ายการเมือง ที่ถูกผูกขาดมาอย่างต่อเนื่องยาวนานโดย ตระกูลราชปักษา ที่มีพี่ชายคนที่ 2 “Percy” Mahinda Rajapaksa ทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ของประเทศตั้งแต่ปี 2005-2015
ก่อนที่จะเปลี่ยนตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2019 ร่วมกับพี่ชายคนรอง Nandasena “Gotabaya” Rajapaksa ที่เคยเป็น รมต.กลาโหม ในปี 2005-2015 ก่อนที่จะเป็นประธานาธิบดีในปี 2019 แทนที่พี่ชาย และน้องเล็ก “Basil” Rohana Rajapaksa ผู้เคยดำรงตำแหน่ง รมต.กระทรวงการพัฒนาการเศรษฐกิจ และกระทรวงการคลัง เจ้าของฉายา “Mr. 10%” ผสมทัพด้วย พี่ชายคนโตสุด “Chamal” Jayantha Rajapaksa ซึ่งแน่นอนว่าก็ทำหน้าที่เป็น รมต.มาแล้วหลากหลายกระทรวง
เครือข่ายทางการเมืองระดับครอบครัวที่ดูแลประเทศต่อเนื่องยาวนาน จนไม่มีใครกล้าหืออือ ที่เน้นการใช้นโยบาย ชาตินิยม ประชานิยม ลด แลก แจก แถม ในขณะที่ก็มีข้อครหาจำนวนมากเรื่อง คอร์รัปชั่น ทำให้ระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ล่มสลาย ตัวอย่างความผิดพลาดในการดำเนินนโยบาย อาทิ
1. นโยบายหาเสียงโดยการลดภาระภาษี สร้างข้อยกเว้นโดยการปรับขึ้นรายได้พึงประเมินขั้นตํ่าเพื่อให้ฐานเสียงรากหญ้าไม่ต้องจ่ายภาษี การกระทำดังกล่าว ทำให้รายรับของรัฐจากการจัดเก็บภาษีลดลงถึง 35%
รวมทั้งการทำให้หลักการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ที่คนมีรายได้สูงจ่ายภาษีในอัตราสูงกว่าคนมีรายได้ตํ่า ซึ่งศรีลังกาเรียกว่า Pay As You Earn (PAYE) เสียไป และยังลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือเพียง 8% ซึ่งทำให้ได้ฐานเสียงทางการเมืองเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่แลกมาด้วยสถานะทางการคลังที่ง่อนแง่น
2. คำถามคือ เมื่อรายรับภาครัฐจัดเก็บได้ลดลง แต่ฝ่ายการเมืองยังคงต้องการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพื่อดำเนินนโยบายประชานิยม ทางออกของรัฐบาลก็เกิดขึ้น โดยข้อเสนอของ Mr.10% น้องชายคนสุดท้องของตระกูลราชปักษาในฐานะ รมต.คลัง นั่นคือ การพิมพ์เงินเพิ่ม
แน่นอนว่า ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจยังคงโตได้ในระยะสั้น แต่ปริมาณเงินที่มากเกินไป ย่อมทำให้มูลค่าของเงินลดลง และนั่นจึงทำให้ภาวะเงินเฟ้อในศรีลังการเกิดขึ้นอย่างรุนแรงตัวเลขล่าสุด อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2022 อยู่ที่ 18.7% เทียบกับที่ระดับ 3.9% ในเดือนเดียวกันของปี 2021 โดยอัตราเงินเฟ้อระดับนี้ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 13 ปี
3. นอกจากพิมพ์เงินเพิ่ม อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลศรีลังกาทำอย่างต่อเนื่อง คือ การขอกู้เงินก่อหนี้สาธารณะเพื่อมาทำนโยบายประชานิยมในระยะแรก และมากระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะโควิด ทั้งๆ ที่ศรีลังกาได้รับคำเตือนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)
แต่ศรีลังกาก็ยังเดินหน้ากู้เงินเพิ่ม จากอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ระดับ 42% ในปี 2019 เป็น 119% ในปี 2021 และนั่นทำให้ในปลายปี 2022 รัฐบาลศรีลังกา จะมีภาระต้องจ่ายคืนหนี้สาธารณะราว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
และเมื่อรวมหนี้เอกชนเข้าไปด้วย ทั้งประเทศศรีลังกามีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายสูงถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ ณเดือนเมษายน 2022 รัฐบาลมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ระดับ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั่นหมายความ รัฐบาลศรีลังกาถังแตกแล้วนั่นเอง
4. อีกหนึ่งตัวอย่างของการทำนโยบายที่ไม่รอบคอบของรัฐบาลตระกูลราชปักษา นั่นคือ การปฏิรูปภาคเกษตร ที่ต้องการวางตำแหน่งให้ศรีลังกากลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ผลิตเฉพาะผลิตภัณฑ์การเกษตรอินทรีย์(Organic Farm Product) โดยนโยบายแบบสายแข็งของตระกูลราชปักษาคือ การสั่งห้ามใช่ปุ๋ยเคมี (inorganic-fertilizers และ agrochemicals-based fertilizers) ทุกชนิด
นั่นทำให้ภาคเกษตรเกิดความวิบัติขึ้นในทันที ผลผลิตภาคเกษตรลดลงทันที 20% ใน 6 เดือนแรกของปี 2021 มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรอยู่ที่มากกว่า 425 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และทำให้ศรีลังกามีภาระต้องนำเข้า ข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลัก ของประเทศเพิ่มขึ้นอีกกว่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และความวิบัตินี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศกำลังขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ
5. เช่นเดียวกับวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวล่มสลาย รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ในขณะที่คนในประเทศก็ไม่มีจิตใจที่จะเดินทาง
6. เคราะห์ซํ้ากรรมซัดเข้าไปอีก เมื่อวิกฤติโควิด ต่อเนื่องด้วยความไม่มีเสถียรภาพในยุโรป สงครามระหว่างรัสเซีย- ยูเครน อันมีผลมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และพันธมิตร NATO ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยเฉพาะพลังงานปรับตัวสูงขึ้น
เท่านั้นยังไม่พอ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ประกอบกับการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เขื่อนซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานหลักของประเทศไม่มีนํ้าเพียงพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งคนที่ดูแลเรื่องการจัดการทรัพยากรนํ้านี้ก็ไม่ใช่ใครอื่นๆ หากแต่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงชลประทาน พี่ชายคนโตสุด “Chamal” Jayantha Rajapaksa
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นชาวศรีลังกาที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีพลังงาน ไม่มีเงิน ไม่มีงาน ไม่มีอะไรจะกิน และไม่รู้ว่าจะมีอนาคตหรือไม่ ออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลตระกูลราชปักษาออกจากตำแหน่ง
และเมื่อรัฐบาลได้ปลุกกระแสชาตินิยมเอาไว้ นั่นทำให้ความขัดแย้งที่เกิดจากการบริหารจัดการของรัฐที่ล้มเหลว กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ ซํ้าเติมโดยวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองโลก ที่เลวร้ายกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ที่มีความขัดแย้งทางสังคมระหว่างประเทศกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนที่มีฐานะทางสังคมแตกต่างกัน เป็นเสมือนเชื้อเพลิงให้มรสุมทางเศรษฐกิจการเมืองครั้งนี้รุนแรงยิ่งขึ้น
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา” (Developing Expertise in South Asian Studies) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)