สื่อต่างประเทศรายงานว่า ศรีลังกา กำลังเผชิญ วิกฤตเศรษฐกิจ ที่รุนแรงที่สุด ความเดือดร้อนจากภาวะราคาสินค้าที่ขยับสูง และการตัดกระแสไฟฟ้าวันละกว่า 10 ชั่วโมง ทำให้ประชาชนนับร้อยลุกฮือประท้วงการทำงานและ ขับไล่ประธานาธิบดี นายโคฐาภยะ ราชปักษะ วัย 73 ปี ออกจากตำแหน่ง จากความล้มเหลวในการบริหารประเทศของเขา
ทั้งนี้ ผู้ประท้วงได้ขว้างปาและจุดไฟเผารถบัส 1 ใน 2 คัน ที่ตำรวจนำมาตั้งกีดขวางถนนที่มุ่งหน้าสู่บ้านพักประธานาธิบดีในกรุงโคลอมโบเมื่อคืนวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) ข่าวระบุว่า นี่เป็นการประท้วงด้วยความรุนแรงครั้งแรกหลังจากที่ประชาชนต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ตำรวจฉีดน้ำและยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสที่ขาหนึ่งคน แต่เมื่อผู้ชุมนุมยังไม่ยอมสลายตัว ทำให้ตำรวจต้องประกาศเคอร์ฟิวในหลายพื้นที่ของเมืองหลวง และล่าสุดยกเลิกเคอร์ฟิวแล้วในเช้าวันศุกร์นี้ (1 เม.ย.) ผู้ประท้วงเหล่านี้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ ลาออกในทันที โดยพวกเขาได้ตะโกนขับไล่และประณามการบริหารจัดการเศรษฐกิจ การขาดแคลนไฟฟ้า และการขาดแคลนสินค้าจำเป็นภายในประเทศ
ทั้งนี้ ศรีลังกาซึ่งมีประชากร 22 ล้านคน ประสบปัญหาไม่มีเงินตราต่างประเทศเพียงพอสำหรับการนำเข้าเชื้อเพลิง ทำให้ขาดแคลนเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม จนต้องมีการตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้านานถึงวันละ 13 ชม. เพื่อเป็นการประหยัดไฟ
นอกจากนี้ สภาพอากาศแห้งแล้งก็ส่งผลกระทบต่อศักยภาพการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่การตัดกระแสไฟยิ่งซ้ำเติมความเดือนร้อนของประชาชนที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าจำเป็นและราคาสินค้าพุ่งสูงอยู่แล้ว
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติศรีลังการะบุว่า ราคาอาหารในเดือน มี.ค. เพิ่มสูงขึ้นถึง 30.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (2564)
สถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ยังทำให้ตลาดหลักทรัพย์โคลอมโบต้องลดชั่วโมงการซื้อขายเหลือเพียงวันละ 2 ชม. จากปกติ 4 ชม.ครึ่ง ตามมาตรการตัดไฟตลอดสัปดาห์นี้ ซึ่งทำให้หุ้นร่วงลงทันทีที่เปิดตลาดวันนี้ (1 เม.ย.) ทำให้ต้องหยุดการซื้อขายนานถึง 30 นาที เป็นครั้งที่ 3 ในช่วง 2 วัน
วิกฤตเหล่านี้เป็นผลพวงมาจากมาตรการปรับลดภาษีในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม และผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับเงินคงคลังของรัฐบาลอ่อนแอ ทำให้สำรองเงินตราต่างประเทศร่อยหรอลงถึง 70% ภายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนเหลืออยู่เพียง 2,310 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือน ก.พ. 2565 ทำให้รัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และอีกหลายประเทศรวมถึงอินเดียและจีน