50 ปีเศรษฐกิจไทย เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

30 เม.ย. 2565 | 09:40 น.

50 ปีเศรษฐกิจไทย เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,779 หน้า 5 วันที่ 1- 4 พฤษภาคม 2565

ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรได้เผยแพร่หนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยเพื่อเฉลิมฉลอง Golden Jubilee หรือการครบรอบ 50 ปีแห่งการก่อตั้งขององค์กร สิ่งที่น่าสนใจคือหนังสือเล่มนี้มินำเสนอประวัติที่มาและพัฒนาการขององค์กร หากแต่ใช้โอกาสนี้ในการสืบสวนกลับไปถึงการเดินทางของเศรษฐกิจไทยตลอดช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อทำให้เราสามารถเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและสกัดบทเรียนที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ในอนาคต

 

สำหรับที่มาการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยเล่มนี้ (50 Years: The Making of the Modern Thai Economy) ผมได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของทีมบรรณาธิการหลายท่านได้แก่ ศ.ดร.กฤษฎ์เลิศสัมพันธารักษ์ (มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก) ดร. ณชา อนันต์โชติกุล (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย และคุณธนกรจ๋วงพานิช (กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร) ร่วมกับทีมร่างเนื้อหาและจัดทำหนังสือจากบริษัทเดอะสแตนดารด์ 

 

 

50 ปีเศรษฐกิจไทย เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

 

 

จุดเด่นที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้คือการฉายภาพให้เห็นว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยไม่ได้เกิดขึ้นโดยเอกเทศ แต่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองโลกและเศรษฐกิจระหว่างประเทศมาโดยตลอด นอกจากนี้เนื้อหาได้ถูกเติมเต็มด้วยบทสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง อดีตผู้ว่า การธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้บริหารองค์กรใหญ่ๆ จำนวนมาก ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรวบรวมมุมมองและประสบการณ์ที่หาได้ยากจากเอกสารโดยทั่วไป

 

ปฐมบทของเศรษฐกิจไทยสมัยใหม่เริ่มต้นขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ไทยต้องพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังผ่านสงครามซึ่งไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ในโลก ในช่วงเวลานี้เองได้เกิด ‘ชาติมหาอำนาจหน้าใหม่’ คือสหรัฐอเมริกา โดยหัวใจของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามคือการบูรณะระบบเงินตราระหว่างประเทศให้มีเสถียร ภาพเพื่อช่วยฟื้นฟูการค้าระหว่างประเทศ ในช่วงนี้เองที่สหรัฐฯ ซึ่งเศรษฐกิจได้รับความเสียหายจากสงครามน้อยกว่าประเทศฝั่งยุโรป ได้เริ่มต้นเข้ามากำหนดระเบียบการเงินโลก ดังจะเห็นได้จากการประชุม United Nations Monetary and Financial Conference ในปี 1944 ที่เมือง Bretton Woods ทำให้ต่อมานักเศรษฐศาสตร์เรียกกันย่อๆ ว่าข้อตกลงเบรตตันวูดส์ โดยการผูกเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ากับทองคำเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบบการเงินระหว่างประเทศว่ามีทองคำหนุนหลัง โดยเงินตราของชาติอื่นก็จะผูกโยงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอีกทอดหนึ่ง ผลจากการที่มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ได้ทำให้การการค้าระหว่างประเทศเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากและที่สำคัญคือเป็นจุดพลิกผันที่เงินดอลลาร์สหรัฐได้เข้ามาแทนที่เงินปอนด์สเตอร์ลิงในฐานะเงินตราสกุลหลักของโลก

 

 

50 ปีเศรษฐกิจไทย เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

 

 

นอกจากนี้สหรัฐฯยังเริ่มต้นได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับนานาประเทศเพื่อช่วยการพัฒนาเศรษฐกิจโดยมีวาระแอบแฝงเพื่อสกัดกั้นการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต ความขัดแย้งระหว่างผู้นำแนวคิดโลกเสรีนิยมประชาธิปไตยนำโดยสหรัฐฯและฝั่งคอมมิวนิสต์นำไปสู่สงครามเย็นที่กินเวลาถึงหลายทศวรรษ 

 

การให้ความช่วยเหลือทางการเงินของสหรัฐในช่วงเวลาหลังสงครามนี้ได้ประจวบเหมาะสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่กำลังง่อนแง่น โดยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงครามกำลังเผชิญกับเกมช่วงชิงอำนาจจากกลุ่มซอยราชครู นำโดยพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์และพลโท ผิน ชุณหะวัณ และกลุ่มสี่เสาเทเวศร์นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อที่จะเสริมสร้างฐานอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงผูกสัมพันธ์กับสหรัฐฯโดยยอมรับการให้ความช่วยเหลือทั้งการเมืองและการทหารเพื่อให้สหรัฐฯใช้ไทยเป็นฐานตั้งมั่นในการยับยั้งลัทธิคอมมิวนิสต์ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควบคู่การได้รับเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาระบบทุนนิยมยุคใหม่ของไทยซึ่งได้พลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจและสังคมไทยไปโดยสิ้นเชิง

 

ที่สำคัญคือการเข้ามามีบทบาทผ่านธนาคารโลกในการช่วยจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ร่วมกับกลุ่มเทคโนแครตยุคแรกที่นำโดยดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปฐมบทของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มต้นด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศถือได้ว่าประสบผลสำเร็จในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และนำมาซึ่งวิวัฒนาการต่อเนื่องในอีก 5 ทศวรรษถัดมา

 

หนังสือเล่มนี้แบ่งเรื่องราว 50 ปีของเศรษฐกิจไทยสมัยใหม่ออกเป็น 5 ทศวรรษ โดยในช่วงปี 1971-1980 ถือได้ว่าเป็นเวลาที่ไทยเผชิญกับคลื่น ‘มรสุมแห่งการเปลี่ยนแปลง’ ทางการเมืองและเศรษฐกิจจากทั้งในประเทศและจากต่างประเทศเช่น การตัดสินใจถอนทหารของสหรัฐฯจากสมรภูมิสงครามเวียดนามที่จบลงด้วยกองทัพเวียดนามเหนือเข้ายึดกรุงไซง่อนได้สำเร็จ นำไปสู่การแพร่กระจายของคอมมิวนิสต์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศไทยและได้สร้างแรงกดดันให้ไทยต้อง หันไปสร้างความสัมพันธ์กับจีนเพื่อพยายามถ่วงดุลอำนาจจากอิทธิพลของคอมมิวนิสต์จากฝั่งสหภาพโซเวียตที่ต้องการแผ่ ขยายอำนาจเข้ามาในภูมิภาค

 

แม้ว่า จีนจะเป็นคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกันแต่แนวคิดของคอมมิวนิสต์แบ่ง เป็น 2 ค่าย ซึ่งมีแนวทางที่แตกต่างกัน การที่จีนยกเลิกการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทำให้กระแสคอมมิวนิสต์ในไทยเบาบางลงและปิดฉากลงในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ 

 

นอกจากนี้ไทยยังต้องเผชิญกับความปั่นป่วนของระบบการเงินโลกที่เกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯประการยกเลิกการแลกเงินดอลลาร์เป็นทองคำหรือที่เรียกกันว่า Nixon’s shock อันเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐฯที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากจากสงครามเวียดนามที่กินเวลายาวนาน สำหรับการเมืองไทยก็ได้เกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้านเผด็จการจนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 1973 ส่งผลให้รัฐบาลทหารคณะปฏิวัติจำต้องออกจากอำนาจและทำให้ทุนนิยมแบบพวกพ้องภายใต้เผด็จการทหารลดลงเป็นอย่างมาก รวมทั้งเป็นจุดเปลี่ยนให้นักการเมืองเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมากขึ้น ในช่วงทศวรรษนี้ยังได้มีคลื่นมรสุมที่กระทบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายด้านด้วยกัน เช่นวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันถึงสองครั้ง ปัญหาบริษัทเงินทุนที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนผลต่อเสถียรภาพระบบการเงิน แต่ท้ายที่สุดแล้วประเทศไทยก็สามารถเอาตัวรอดจากแรงกดดันต่างๆจนสามารถเดินหน้าเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาลในทศวรรษถัดไป

 

ในช่วงปี 1981-1990 ถือว่าไทยได้รับ ‘โอกาสอันโชติช่วง’ โดยมีสองจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ หนึ่ง การค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในปี 1980 ที่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยจัดการวิกฤตราคาพลังงานได้และที่สำคัญนำไปสู่โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันตกในปี 1982 หรือ Eastern Seaboard และสอง การย้ายฐานการผลิตของญี่ปุ่นออกนอกประเทศ หลังจากที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมากจากข้อตกลง Plaza Accord ในปี 1985 ซึ่งในขณะนั้นประจวบเหมาะที่ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐานและมีแรงงานราคาถูก ทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศและส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปลายทศวรรษสูงถึงกว่า 10% และได้รับการคาดหวังว่าไทยจะเป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย ถัดจากฮ่องกง สิงค์โปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน 

 

เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 1991-2000 ที่นำไปสู่ ‘มหาวิกฤตต้มยำกุ้ง’ ในปี 1997 จากประเทศที่ขึ้นได้รับการชื่นชมว่าเป็น Thailand economic miracle กลับกลายเป็นประเทศแรกที่เป็นชนวนวิกฤตการเงินในระดับภูมิภาคที่เรียกว่า East Asian financial crisis ภายหลังจากการสิ้นสุดลงของสงครามเย็นพร้อมกับชัยชนะระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ในช่วงต้นของทศวรรษนี้ได้เกิดกระแสเสรีนิยมทางเศรษฐกิจด้วย เช่นการเปิดเสรีทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศและการเงินให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้เงินทุนยิ่งไหลเข้ามาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นด้วยความหวังที่ว่าไทยอาจจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค ผลของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980s ได้เริ่มก่อให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลของทั้งระบบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการก่อตัวของฟองสบู่ในราคาหุ้นและราคาที่ดิน การขยายการลงทุนที่มากเกินไปโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นต้น

 

นอกจากนี้การที่ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพสูงมากจากการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ และไม่ได้ปล่อยให้ปรับตัวอย่างเหมาะสมตามสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดเป็นชนวนให้เกิดการโจมตีค่าเงินและทางการต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในปี 1997 ซึ่งการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากที่มีหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศไม่สามารถใช้คืนหนี้ได้ ก่อให้เกิดหนี้เสียต่อระบบสถาบันการเงินอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยในยุควิกฤตต้มยำกุ้งนี้ได้ก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนการปฎิรูปการเมือง จนเกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้น นอกจากนี้บทเรียนของวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่อมามีส่วนช่วยให้ไทยรอดพ้นจากวิกฤตการเงินโลกในเวลาต่อมา

 

ในช่วงปี 2001-2010 เป็นช่วงเวลาแห่ง ‘การกอบกู้และก้าวต่อ’ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดจากวิกฤติต้มยำกุ้งและได้รับบทเรียนสำคัญหลายประการที่นำไปสู่การปรับรูปแบบนโยบายการเงินให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้ยังได้จัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเกิดขึ้นจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาท ส่งผลให้การส่งออกและการท่องเที่ยวได้มาเป็นฟันเฟืองตัวสำคัญของเศรษฐกิจไทย

 

นอกจากนี้ทางด้านการเมืองก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากการที่ พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง โดยเสียงสนับสนุนของทักษิณคือภาพสะท้อนของคะแนนนิยมของประชาชนที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างจากที่ผ่านมา โดยใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบคู่ขนานคือการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรงจากนโยบายกระตุ้นรากหญ้า ไปพร้อมกับการเน้นภาคต่างประเทศคือการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ในช่วงต้นปี 2006 ได้เกิดเหตุการณ์ประท้วงต่อต้าน ดร. ทักษิณ และได้เป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองแบบแบ่งขั้วแยกข้างอย่างต่อเนื่องและหลายระลอกที่นำไปสู่ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่สูงและยาวนาน จนเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษนี้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าการเมืองกับเศรษฐกิจไม่สามารถแยกออกจากกันได้

 

ในช่วงปี 2011-2020 ถือว่าเป็นช่วง ‘ห้วงเวลาแห่งการทดสอบ’ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้เผชิญกับความท้าทายใหม่ๆและมีหลายเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับสูง เช่น การตัดสินใจออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีน-สหรัฐฯ รวมทั้งสถานการณ์ในประเทศ เช่นมหาอุทกภัยในปี 2011 การขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่รัฐประหารในปี 2014 ที่สำคัญคือประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงอย่างต่อเนื่อง เพราะขาดแรงขับเคลื่อนใหม่ๆ ขณะที่ข้อได้เปรียบในอดีตเช่นแรงงานราคาถูกและทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อยๆหมดไป ความท้าทายในปัจจุบันที่มาจากการก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม การปรับสมดุลใหม่ของภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ กำลังเป็นแรงกดดันให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน ในทศวรรษนี้จึงเปรียบเสมือนบททดสอบว่าในทศวรรษถัดจากนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมเพียงใดที่จะก้าวเข้าบริบทโลกใหม่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

สุดท้ายนี้ สำหรับผู้สนใจที่ต้องการอ่านเรื่องราว 50 ปีเศรษฐกิจไทยฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดหนังสือในรูปแบบไฟล์ PDF ได้ที่ https://link.kkpfg.com/vqLON