1 พ.ค.2565 เป็นอีกหมุดหมายที่ต้องบันทึกของเส้นทางการบริหารจัดการพลังงานเชื้อเพลิงของไทย เมื่อกองทุนน้ำมันอุ้มราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาท ต่อไปอีกไม่ไหว ฐานะกองทุนฯติดลบแล้ว 56,278 ล้านบาท ต้องปรับมาตรการ ปล่อยราคาน้ำมันดีเซล ทะลุระดับราคาเพื่อการบริหารจัดการนี้ ขึ้นไปแบบไม่มีเพดานกำหนด โดยใช้สูตรราคาส่วนเกินจาก 30 บาท รัฐจะอุดหนุนให้ครึ่งหนึ่ง
คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เห็นชอบแนวทางการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล โดยตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้ จะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร และขึ้นอีกสัปดาห์ละ 1 บาทต่อลิตร สู่ราคาเป้าหมายที่ 35 บาทต่อลิตรในสิ้นเดือนพ.ค. เนื่องจากปัจจุบันราคาขายปลีกดีเซลหากไม่อุดหนุนจะอยู่ที่ลิตรละประมาณ 40 บาท ทั้งนี้ขึ้นกับสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกเวลานั้นๆ
ตั้งแต่ก่อนลอยตัวน้ำมันดีเซล กลุ่มองค์กรผู้ประกอบการรถขนส่ง ก็ออกโรงเรียกร้องให้รัฐตรึงราคาดีเซลไว้ที่เดิม โดยระบุค่าขนส่งปัจจุบันคิดจากน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 25 บาท ซึ่งภาคขนส่งต้องแบกภาระอยู่แล้ว หากขึ้นราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปอีก ต้องปรับขึ้นค่าขนส่งอีก 20% ส่งผลให้สินค้าทุกตัวมีต้นทุนเพิ่ม และพาเหรดปรับขึ้นราคากันอีกระลอก จากที่ขึ้นราคามาเป็นระยะอยู่แล้ว อาทิ ไข่ไก่ เนื้อหมู บะหมี่สำเร็จรูป น้ำมันพืช เครื่องดื่ม เป็นต้น
ทางการประเมินว่า ภาวะราคาพลังงานเชื้อเพลิงและสินค้าทั่วไปที่ปรับขึ้นไม่หยุดนี้ กดดันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 อยู่ที่ 4.5-5.5% จากกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ 1-3% และปรับลดเป้าการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงจาก 4% เหลือ 3.5%
ภาวะเงินเฟ้อไม่ได้คุกคามเฉพาะเมืองไทยแต่กดดันไปทั่วโลก รายงานล่าสุดของธนาคารโลกเตือนว่า สถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครนที่ยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาพลังงาน กระทบระบบการค้า ห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการอุปโภคบริโภคทั่วโลก
โดยราคาพลังงานจะพุ่งขึ้นกว่า 50% ในปี 2565 ก่อนที่จะชะลอตัวลงในปี 2566 และ 2567 ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์และโลหะ คาดว่าจะพุ่งขึ้นเกือบ 20% ในปีนี้ ก่อนจะทยอยลดลงในปีต่อ ๆ ไป ขณะที่ราคาข้าวสาลี จะทะยานขึ้นกว่า 40% แตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ในปี 2565
ในยุคผู้คนเผชิญภัยคุกคามต้นทุนการดำรงชีวิตเพิ่ม ต้องปรับตัวทุกทางเพราะเงินในกระเป๋ามีจำกัด แต่ในภาพรวมรัฐต้องเป็นตัวนำการประหยัด ลดการใช้จ่ายของเกินจำเป็น เป็นเจ้าภาพระดมคิดค้นกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อลดต้นทุน ปรับระบบการทำงานใหม่ที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดค่าใช้จ่ายองค์กรและพนักงานลง เช่น WFH ที่เป็นระบบ การทำงานแบบสัญญาจ้างที่มีกลไกดูแลสวัสดิการระยะยาว ส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ให้แข่งขันได้ดีขึ้น เพื่อประคองตัวให้รอดจากยุคแพงทั้งโลก