อินโดฯ ชี้แจง "คำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม" ไม่รวมน้ำมันปาล์มดิบ

25 เม.ย. 2565 | 22:55 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2565 | 06:19 น.

อินโดฯ แจงคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีผลบังคับใช้เฉพาะกับผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มโอเลอิน หรือน้ำมันปาล์มแปรรูป (RBD olein) เท่านั้น ไม่รวมการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบที่พุ่งสูงหลังประกาศ เริ่มปรับลดลงมาแล้ว

เจ้าหน้าที่ อินโดนีเซีย แจ้งต่อ บริษัทน้ำมันปาล์ม วานนี้ (25 เม.ย.) ว่า คำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ที่มีการประกาศโดยรัฐบาลอินโดนีเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะมีผลบังคับใช้เฉพาะกับผลิตภัณฑ์ น้ำมันปาล์มโอเลอิน ซึ่งได้จากการนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มาผ่านกระบวนการฟอกสี ขจัดกลิ่น และลดกรดไขมันอิสระ (RBD olein) เท่านั้น แต่จะไม่รวมถึงการส่งออก น้ำมันปาล์มดิบ แต่อย่างใด

 

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ได้สร้างความตื่นตระหนกต่อผู้บริโภคน้ำมันพืชทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการประกาศว่าอินโดนีเซียจะระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารในประเทศ โดยคำสั่งดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 เม.ย.นี้ และรัฐบาลจะประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกดังกล่าว ก็ต่อเมื่อสถานการณ์การขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารได้บรรเทาลง

คำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ที่มีการประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะมีผลบังคับใช้เฉพาะกับผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มโอเลอิน

ข้อมูลจากสมาคมน้ำมันปาล์มอินโดนีเซีย (GAPKI) ระบุว่า อินโดนีเซียส่งออกน้ำมันปาล์มที่ผ่านกระบวนการแปรรูปจำนวน 25.7 ล้านตันในปีที่แล้ว(2564) คิดเป็นสัดส่วน 75% ของการส่งออกน้ำมันปาล์มทั้งหมด ส่วนการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบมีจำนวน 2.74 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.98%

หลังอินโดนีเซียออกมาชี้แจงคำสั่งห้ามการส่งออกดังกล่าว ทำให้วานนี้ (25 เม.ย.) ราคาน้ำมันปาล์มดิบ รวมทั้งราคาน้ำมันถั่วเหลืองเริ่มปรับลดลงมา ดังนี้

  • ราคาสัญญาน้ำมันปาล์มดิบ ที่มีการซื้อขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์กัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียดิ่งลงกว่า 4% ในการซื้อขายระหว่างวัน มาอยู่ที่ระดับ 6,097 ริงกิต (1,399 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อตัน หลังจากที่ดีดขึ้นไปกว่า 7% ก่อนหน้านี้ และปิดตลาดร่วงลง 2.1% หลังมีข่าวว่าอินโดนีเซียจะยังคงส่งออกน้ำมันปาล์มดิบต่อไป
  • ส่วน ราคาสัญญาน้ำมันถั่วเหลืองสหรัฐ ที่ซื้อขายในตลาดชิคาโกร่วงลง 0.77% หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันศุกร์ (22 เม.ย.) ขานรับข่าวที่ว่าอินโดนีเซียประกาศระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม

          

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือเกือบๆ 60% ของการผลิตทั่วโลก

อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก

ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียเคยประกาศระงับส่งออกน้ำมันปาล์มในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียเป็นสาเหตุทำให้น้ำมันปรุงอาหารเกิดการขาดแคลนภายในประเทศ และมีราคาพุ่งขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้นักศึกษาพากันออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล แต่ต่อมาก็มีการยกเลิกประกาศดังกล่าวในเดือนมี.ค. ก่อนที่ปธน.วิโดโดจะประกาศสั่งห้ามการส่งออกน้ำมันปาล์มอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนในตลาดเป็นอย่างมากก่อนที่จะมีการออกมาอธิบายในภายหลังว่า คำสั่งห้ามส่งออกที่จะมีผลใช้ในวันที่ 28 เม.ย.นี้ ไม่ได้รวมถึงน้ำมันปาล์มดิบ

 

ความเคลื่อนไหวของอินโดนีเซียเป็นไปตามแนวโน้มที่หลายประเทศทั่วโลกหันมาใช้มาตรการคุ้มครองพืชผลภายในประเทศนับตั้งแต่สงครามปะทุขึ้นในยูเครน คาดว่าการที่อินโดนีเซียระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มแปรรูป อาจจะส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกขึ้นได้อันเนื่องมาจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหาร และเพิ่มความเสี่ยงว่าจะเกิดวิกฤตความอดอยากเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม การที่อินโดนีเซียออกมาอธิบายว่า การห้ามส่งออกไม่ได้รวมถึงน้ำมันปาล์มดิบ ทำให้ความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบได้คลี่คลายลดลงในระดับหนึ่ง สะท้อนจากราคาน้ำมันปาล์มที่เริ่มปรับตัวลดลงมา