การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งที่กำลังมีการรณรงค์หาเสียงกันอยู่อย่างเข้มข้นขณะนี้ ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 11 นับตั้งแต่กรุงเทพมหานคร ได้มีกฎหมายจัดให้เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ และมีการเลือกตั้ง ซึ่งครั้งนี้จะจัดให้ประชาชนคน กทม.ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 พร้อมกับให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ในวันเดียวกัน
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะเกิดขึ้น จึงถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2556 เหตุที่การเลือกตั้งต้องล่าช้าและมิได้เป็นไปตามวาระทุก 4 ปี ก็เพราะเกิดเหตุทางการเมืองมีการรัฐประหารเกิดขึ้นเสียก่อนเมื่อปี 2557 นั่นเอง โดยหลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 85 ให้ระงับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นไว้ชั่วคราว
ต่อมาเมื่อได้มีการประกาศใช้ พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 แล้ว กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงได้ประกาศให้มีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.ขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 พร้อมกับจัดให้มีการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา และการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(สก.) ไปพร้อมๆกัน การเมืองการเลือกตั้งท้องถิ่น จึงกลับคืนสู่สภาพเดิม ตามระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนคุ้นเคย
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆมาเป็นอย่างมาก เพราะสภาพทางการเมืองก็ดี สภาพสังคมเมือง สังคมโลกก็ดี เปลี่ยนแปลงไปมาก รวมถึงสภาพทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสภาพวิกฤติหลังโควิดระบาด ล้วนมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับความคิดจิตสำนึกของผู้คนในสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปมาก การจะรักษาสภาพสังคมไทยตามวิถีดั้งเดิม และปรับตัวเข้ากับโลกยุคปัจจุบัน จึงเป็นปัญหาใหญ่ของผู้นำประเทศ ผู้นำเมือง ที่จะบริหารจัดการอย่างไรให้คนส่วนใหญ่พึงพอใจและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
พิจารณาด้านผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ข้อมูลจากสำนักทะเบียน กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18-100 ปีขึ้นไปมีจำนวน 4,481,068 คน โดยผู้มีอายุ 18-27 ปี (First Time Voter) จำนวน 697,348 คน อายุ 28-40 ปี จำนวน 1,012,386 คน อายุ 41-50 ปี จำนวน 870,437 คน อายุ 51-60 ปีจำนวน 826,745 คน อายุ 61-70 ปีจำนวน 613,342 คน อายุ 71-80 ปี จำนวน 309,959 คน อายุ 81-90 ปี จำนวน125,438 อายุ 91-100 ปีขึ้นไปจำนวน25,413คน
ช่วงวัยที่มีความสำคัญในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง นอกจากคนในช่วงวัยผู้ใหญ่ ระหว่างอายุ 30-80 ปี แล้ว กลุ่ม First Time Voter ก็มีความสำคัญในการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย ซึ่งมีจำนวนร่วมเจ็ดแสนเสียง อันถือเป็นบริบทใหม่ในการเลือกตั้งทางการเมืองใน กทม.และทุกสนาม
เมื่อพิจารณาถึงตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ถือว่ามีผู้สมัครและผู้เสนอตัวให้ประชาชนเลือกที่โดดเด่นมากที่สุด และมีจำนวนผู้สมัครถึง 31 คน มีตัวเลือกมากมายหลายคน ซึ่งคงจะทราบดีทั่วกันแล้วว่ามีใครบ้าง จึงยากแก่การเลือกและการตัดสินใจของประชาชน แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆมา ซึ่งมักจะเป็นการสู้กันและมีตัวเลือกให้ตัดสินใจไม่เกินสองคน อย่างการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อ 3 มีค.2556 ก็เป็นการสู้กันระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ผลคะแนนครั้งนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ฯ ชนะด้วยคะแนนสูงสุด 1,256,349 คะแนน คิดเป็น 47.75% ของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 63.38% มากที่สุดนับแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา
การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ จึงมีผู้คนสับสนกันมากมายว่า คราวนี้จะเลือกใครดี เพราะใก้ลวันเลือกตั้งเข้าไปทุกทียังตัดสินใจไม่ถูก อีกไม่กี่วันคนกรุงเทพฯ ต้องตัดสินใจเลือกบุคคลที่ตนคิดว่าเหมาะสมกับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. คนที่จะมาเป็นผู้นำผู้บริหารเมืองหลวง มหานครขนาดใหญ่ เมืองที่มีตึกระฟ้าอันดับ 11 ของโลก แต่เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลก ซึ่งมีประชากรทั้งที่ลงทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียน รวมปริมณฑล ถึง 15,624,700 คน มีงบประมาณในการบริงานถึงร่วมแปดหมื่นล้านบาท/ปี มีบิ๊กโปรเจ็ค แก้ปัญหาน้ำท่วม มลภาวะ ดูแลสาธารณูประโภค และบริหารจัดการเกี่ยวสัญญาการเดินรถไฟฟ้า แก้ปัญหาจราจร เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หลายหมื่นล้าน
ผมจึงตอบผู้คนที่ถามไปว่า นอกจากผู้ว่าฯกทม.จะเป็นคนดี คนเก่ง ขยัน รู้งานแล้ว ที่สำคัญที่สุดต้องเป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต ไม่โกง ทุกวันนี้คนเก่งหาง่าย แต่คนเก่งแต่ไม่โกงนี่สิ หายากมาก ที่สำคัญคนเก่งรับสมัคร หรือจ้างมาทำงานได้ แต่คนซื่อสัตย์สุจริต ไม่โกง จ้างไม่ได้หาซื้อก็ไม่มี ต้องดูจากประวัติ ความประพฤติ และผลงานของเขาที่ทำมาเป็นสำคัญ และต้องดูหลายปี ย้ำน่ะครับว่าหลายๆปี ไม่ใช่แค่เวลาสั้นๆ
ด้วยเหตุนี้ ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ครั้งนี้ ผมจึงมีวิธีเลือกด้วยเหตุผลดังกล่าว และก็แบ่งผู้สมัครออกเป็นชายกับหญิง เพื่อความง่าย ชัดเจน ในการพิจารณาตัดสินใจ ในกลุ่มผู้สมัครชายใครคือผู้ที่เข้าเกณฑ์ และดีที่สุดก็เลือกคนนั้นไป ในฝ่ายหญิงใครที่เข้าเกณฑ์ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดก็เลือกคนคนนั้น สำหรับผมขอเป็นเจ้าเงาะเลือกคู่ครับ อยากได้ผู้ว่าฯที่เป็นหญิงเก่ง ซื่อสัตย์ และไม่โกงครับ ต้องเป็นคนที่ไม่มีคอก ไม่มีปลอกคอสังกัด ไม่มีพรรคคอยกำกับควบคุม มีความเป็นอิสระ แต่ต้องทำเพื่อประชาชนนั่นแหละ คือผู้ว่าฯกทม.ในฝันของคนกรุงและที่ผมอยากเห็นครับ ซึ่งผู้ว่าฯกทม.อย่างนี้ในอดีตเราเคยมีมาแล้วครับ คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าฯกทม.ที่ทำให้กรุงเทพฯสะอาด เจริญทันสมัยและมีรถไฟฟ้าสายแรกของเมืองไทย คนกรุงได้ใช้ในราคาถูกมาจนทุกวันนี้ เพราะมีผู้ว่าฯที่ซื่อสัตย์ เป็นคนดีและเก่งนั่นเอง
ประเทศไทยวันนี้ เรามีผู้หญิงเก่งเป็นได้ทุกตำแหน่งบริหารกันหมดแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัด,ปลัดกระทรวง,ซี.อี.โอ.ผู้บริหารระดับสูงของกิจการขนาดใหญ่ ,ประธานศาลฎีกา,หรืออัยการสูงสุดก็กำลังจะมี,รวมถึงนายกรัฐมนตรี ก็มีมาแล้ว เหลือแต่ผู้ว่าฯกทม.เท่านั้นที่ยังไม่มี ผมจึงชวนท่านมาเลือกผู้หญิงเป็นผู้ว่าฯกทม.กันดีกว่าครับ ได้ผู้ว่าฯกทม.เป็นหญิงเก่งก็เหมือนมีแม่บ้านที่ไว้วางใจ นอกจากทำบ้านให้น่าอยู่ เธอยังสามารถทำให้บ้านเมืองของเราสะอาดขึ้น ทำ กทม.ให้ปลอดโกง ได้ชื่อว่าเมืองก็เจริญจิตใจคนก็สูงส่ง ดีกว่าย่ำกับที่และเลือกโดยไร้เป้าหมายใดๆครับ ถ้าตัดสินใจไม่ได้ เลือกไม่ถูกว่าจะเลือกใคร ใช้วิธีแบบที่ผมเลือกนี่แหละครับ เลือกแล้วสบายใจว่าท่านได้ใช้สิทธิ์อย่างคุ้มค่าและสุขใจ ได้ทำความดีให้กับบ้านเมือง ส่งเสริมคนดีให้ปกครองบ้านเมือง