รถไฟฟ้าสายสีเขียว ปมปัญหาใหญ่ที่กำลังกลายเป็นเผือกร้อน ที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ต้องเข้ามาสะสาง ภาระหนี้ก้อนโตกว่า1แสนล้านบาท เกิดจากการรับโอนค่างานโยธามาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย( รฟม.)ราว6หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกันยังค้างหนี้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี จากการรับจ้างเดินรถและค่าติดตั้งระบบ รถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมกว่า3.8หมื่นล้านบาท จนกลายเป็นคดีที่เอกชนฟ้องร้องอยู่ในศาลปกครอง
สำหรับทางออก พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม.คนเก่า มีนโยบายขยายสัมปทานสายสีเขียว ให้กับ เอกชน โดยยกร่างสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้กับ บีทีเอสซีในฐานะผู้รับสัมปทาน
รถไฟฟ้าBTS (ส่วนกลาง) ออกไปทั้งระบบอีก30ปี หรือปี2602 จากเดิมจะสิ้นสุดอายุสัมปทานส่วนหลักปี2572 แต่ปัจุบันเรื่องยังยืดเยื้อเนื่องจาก กระทรวงคมนาคม และภาคสังคม ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะค่าโดยสารที่ยังมองว่าสูงเกินไป ที่อัตรา65บาทตลอดสาย และอาจกลายเป็นภาระประชาชนผู้ใช้บริการในระยะยาว
ขณะ นโยบายของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม.คนใหม่ ส่วนใหญ่ล้วนให้น้ำหนักไปที่ ราคาค่าโดยสารไม่เกิน 45บาท ไม่ต้องการให้ต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับเอกชน
โดยให้เหตุผลว่า กทม.ควรเป็นผู้ให้บริการเอง เมื่อหมดอายุสัมปทานขณะเดียวกันหนี้จากการก่อสร้างในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวควรเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตามแม้ผู้สมัครผู้ว่ากทม.คนใหม่ จะได้เข้ามาบริหารแต่ ใช่ว่าการปลดล็อครถไฟฟ้าสายสีเขียว จะเดินได้เองตามลำพัง ต้องอาศัยอำนาจจากกระทรวงมหาดไทย ช่วยนำเรื่องเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่การพิจารณาครม. เนื่องจากท้องถิ่นไม่มีอำนาจ และที่ผ่านมาเมื่อมีการนำเรื่องเข้าครม.เรื่องได้ถูกตีกลับทุกครั้ง
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เบอร์ 1 ในนามพรรคก้าวไกล เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า นโยบายสำหรับการปลดล็อคปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว กรณีการต่อสัมปทาน ให้เอกชน ต้องเปิดรายละเอียดที่ชัดเจน
ในร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ทุกฝ่ายรับรู้รับทราบ ขณะเดียวกันประชาชนต้องได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง ที่เท่าเทียม อีกทั้งอัตราค่าโดยสารต้องเป็นธรรมอยู่ระหว่าง15-45บาทตลอดสาย โดยไม่มีค่าแรกเข้าเพราะการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแต่ละสีแต่ละสาย
เชื่อว่าประชาชนมีค่าใช้จ่ายจากค่าโดยสารที่สูงอยู่แล้ว แต่ จะต้องศึกษารายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับ รายได้ เพื่อมาคำนวณค่าโดยสารในอนาคต แต่ทั้งนี้ตามข้อเท็จจริง
หากพรรคก้าวไกลได้เป็นผู้ว่ากทม.จะไม่มีนโยบายต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เอกชน และจะต้องนำตั๋วและส่วนที่เป็นรายได้จากโฆษณากับรถไฟฟ้ามาพิจารณาเป็นรายได้รวมด้วย
“โดยสรุปไม่ต้องการขยายสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียวแต่ต้องดำเนินการให้ชัดเจน และเจรจากับเอกชนเกี่ยวกับภาระหนี้”
ด้านมุมมองของนางรสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระเบอร์7 ยืนยันว่า จะไม่มีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับเอกชน ส่วนค่าโดยสารต้องไม่เกิน 40-45บาท ตลอดสายและไม่มีค่าแรกเข้า ขณะส่วนที่เอกชนลงทุน (รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนตรงกลาง)มองว่ากทม.และเอกชนได้ประโยชน์คืนทุนแล้วเมื่อครบสัญญากทม.ต้องบริหารจัดการเอง
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. เบอร์4พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า อัตรารถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดสายในอัตรา 20-25บาท สามารถ ผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริงได้
โดยออกพันธบัตร โครงสร้างพื้นฐานเพื่อระดมทุนมาแก้ภาระหนี้ รวมทั้งการนำค่าโดยสารมาแก้ปัญหาหนี้ของกทม.ตลอดจนค่าจ้างเดินรถในอนาคต
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ในนามอิสระ เบอร์8ระบุว่า จะไม่มีการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เอกชน แต่ใช้วิธีเจรจากับเอกชน ต่อปัญหาภาระหนี้ค่าจ้างเดือนรถ
ตลอดจนภาระหนี้จากการรับโอนโครงข่าย กว่า1แสนล้านบาท โดย กทม.จะไม่เข้าไปแบกรับภาระการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะที่ผ่านมารถไฟฟ้าเส้นอื่นรัฐบาลเป็นผู้รับภาระ
ส่วนค่าโดยสารต้องทราบรายละเอียดต้นทุน โดยต้องเจรจากับเอกชน เพื่อ นำไปสู่การคำนวณค่าโดยสารที่ถูกต้อง หลังหมดสัญญา สัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสในปี 2572 คาดว่าราคาค่าโดยสารไม่น่าเกิน 25-30 บาท/คน
อย่างไรก็ตามหากพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่ากทม.เบอร์ 6ในนามอิสระ ได้กลับมาเป็นผู้ว่ากทม.เชื่อว่าการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวอาจจะกลับมาเช่นเดิมเพราะเป็นทางออกที่ดีที่สุด