“พญาอินทรี”เปิดสงคราม ให้ยูเครนยืมอาวุธสู้รัสเซีย

10 พ.ค. 2565 | 23:30 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

28 เมษายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติอนุมัติ “กฎหมายให้ยืมและให้เช่าเพื่อการป้องกันประชาธิปไตยยูเครน 2022” ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 417 ต่อ 10 เสียง ไม่มีเสียงคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว 
 

ผลที่ตามมา ทำให้ร่างกฎหมายที่ผ่านการอนุมัติจากทั้ง 2 สภา หรือสภาคองเกรส จะถูกส่งต่อไปยังประธานาธิบดีสหรัฐ “โจ ไบเดน” ลงนามผ่านเป็นกฎหมายมาบังคับใช้โดยสมบูรณ์ และนั่นเท่ากับเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลเร่งการส่งมอบอาวุธไปยังยูเครน เพื่อช่วยเหลือในการสู้รบกับรัสเซียโดยไม่ต้องกลัวอะไรอีกต่อไป

เพียงแค่ “โจ ไบเดน” ลงนามรับรองผมรับประกันว่า “สงครามยูเครน- รัสเซีย” จะยกระดับความรุนแรงขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน ไม่แน่ว่าจะเป็นสงครามที่ขยายวงกว้างในไม่ช้า
 

แน่นอนว่า คราวนี้จะเกิดปฏิบัติการทางสงครามชนิดที่ใครดีใครอยู่ “อาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย ปะทะ อาวุธยุทโธปกรณ์สหรัฐ” เต็มรูปแบบ
 

และแล้วในเช้าวันจันทร์ ที่ 9 พฤษภาคม 2565 โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ตวัดปากกาลงนามกฎหมายที่เคยใช้ในสมัยสงคราม โลกครั้งที่ 2 ที่ “แฟรงคลิน ด. รูสเวลต์” ประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐอเมริกา เคยประกาศใช้สนับสนุนพันธมิตรของอเมริกาในการสู้รบกับนาซี ฝ่ายอักษะ เยอรมนี-ญี่ปุ่น-อิตาลี
 

โดยมีเงื่อนไขว่า อาวุธเครื่องใช้ทั้งหมดเป็นการ “ให้ยืม” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ประเทศที่ได้รับการช่วยเหลือ ควรตอบแทนสหรัฐฯ ในรูปแบบค่าเช่า เชิงนโยบาย การส่งมอบเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ


ผมไปค้นหาความรู้ในวิกิพีเดียพบว่า ในห้วงที่ “แฟรงคลิน ด. รูสเวลต์” ออกกฎหมายให้ยืม-เช่า (Lend-Lease) ซึ่งตอนนั้นมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “รัฐบัญญัติส่งเสริมการป้องกันสหรัฐ” (An Act to Promote the Defense of the United States) เป็นกฎหมายที่เปิดทางให้สหรัฐจัดหาอาหาร น้ำมันและยุทโธปกรณ์แก่ประเทศ ฝรั่งเศสเสรี สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐจีน ต่อมาก็สหภาพโซเวียตและชาติสัมพันธมิตร ระหว่าง ค.ศ. 1941-1945 รวมเรือรบและเครื่องบินรบ อาวุธ 
 

มีการลงนามเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 11 มีนาคม  1941 สิ้นสุดเมื่อเดือนกันยายน 1945 โดยการช่วยเหลือจะไม่คิดราคา แต่จะจ่ายคืนบางอย่างหลังสงคราม เพื่อตอบแทน หลังสงครามสหรัฐได้รับการให้จัดตั้งฐานทัพ ตั้งกองเรือในดินแดนของฝ่ายสัมพันธมิตร 
 

สมัยรูสเวลต์มีการส่งกำลังบำรุงรวม 50,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่า 659,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐปัจจุบัน  คิดเป็น 17% ของรายจ่ายสงครามทั้งหมดของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นราว 31,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกส่งไปบริเตน ราว 11,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกส่งไปสหภาพโซเวียต ราว 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกส่งไปฝรั่งเศส 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกส่งไปจีน และอีก 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกส่งไปฝ่ายสัมพันธมิตรอื่น 
 

ในตอนนั้น นโยบายให้ยืม-เช่า ย้อนกลับมาสู่สหรัฐ ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การเช่าฐานทัพให้แก่สหรัฐ รวมเป็น 7,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ในจำนวนนี้ 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจากบริเตน และเครือจักรภพ เงื่อนไขของความตกลงกำหนดให้ใช้ยุทโธปกรณ์จนคืนหรือถูกทำลาย 
 

มีการคืนยุทโธปกรณ์น้อยมาก มีการขายกำลังบำรุงที่มาถึงหลังวันสิ้นสุดในราคาที่ลดมาก 1,075 ล้านปอนด์ โดยใช้เงินกู้ระยะยาวจากสหรัฐ แคนาดาดำเนินโครงการคล้ายกันที่เรียก ความช่วยเหลือร่วมกัน ซึ่งส่งเงินกู้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังบำรุงและบริการมูลค่า 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่อังกฤษ และฝ่ายสัมพันธมิตรอื่น 
 

หลังสงครามโลกจบสิ้นลง สหรัฐฯ ไม่รับคืน “ของหมดอายุที่ส่งไปช่วยเหลือ” ตัดสินใจขายทิ้งแบบเลหลัง 
 

ผลคือ รัฐบาลอังกฤษผู้ยืมมากที่สุด ต้องยอมทำข้อตกลงชำระเงินคืนแบบประจำปี 50 ก้อน ตัดเงินจ่ายในทุก 5 ปี รวมดอกเบี้ยอีก 2%  เห็นว่าจ่ายกันราว 1,350 ล้านดอลลาร์ หรือ 45,900 ล้านบาท
 

รัสเซียนั้นก็เช่นกันสหรัฐฯ เรียกเก็บเงินตกประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 44,500 ล้านบาท บางส่วนต้องจ่ายคืนเป็นทรัพยากร เช่น ไม้ ทองคำ ทองคำขาว เพชร ว่ากันว่าเพิ่งจะจ่ายหมดในปี 2549 นี่เอง
 

91 ปีผ่านไป “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 46 ได้ลงนามในร่างกฎหมายให้ยืม-เช่า (Lend-Lease Act of 2022) ในห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว ก่อนจะระบุว่า สหรัฐฯ จะสนับสนุนชาวยูเครนต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศของพวกเขา และประชาธิปไตยของพวกเขา จากสงครามอันโหดร้ายป่าเถื่อนของ วลาดิเมียร์ ปูติน
 

หลายคนไม่รู้ว่า กฎหมายนี้สำคัญขนาดไหน สำคัญขนาดว่า โจ ไบเดน ส่งสัญญาณไปยังสภาคองเกรสว่า เขาพร้อมอ่อนข้อทางการเมืองในสภาคองเกรส เพื่อที่จะได้รับการเห็นชอบอย่างรวดเร็ว สำหรับการของบประมาณช่วยเหลือยูเครน 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.13 ล้านล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือยูเครนในด้านการทหาร, เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และด้านมนุษยธรรมในการดูแลผู้อพยพ
 

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ โจ ไบเดน ต้องการให้สภาคองเกรสอนุมัติเงินช่วยเหลือยูเครน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนงบประมาณโครงการต่อต้านโควิด-19   แต่ด้วยบรรดาสมาชิกพรรครีพับลิกัน ไม่ยอม ดึงเกมในเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโควิด 
 

แต่ โจ ไบเดน ประกาศรอบนี้ว่า เขาพร้อมถอนข้อเรียกร้องงบประมาณโควิดที่ใช้ดูแลผู้คนในประเทศ ขอแค่สภาคองเกรส เห็นชอบเงินสนับสนุนยูเครน 33,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐก็พอ 
 

ถ้อยแถลงของ โจ ไบเดน ระบุชัดว่า “เราไม่อาจปล่อยให้ความพยายามเกี่ยวกับสงครามสำคัญนี้ ต้องล่าช้าออกไป”
 

สำนักข่าว Reuters วิเคราะห์ว่า การผ่านร่างกฎหมาย “ให้ยืมและให้เช่า” ที่เคยใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเมื่อ 80 ปีก่อน และสามารถช่วยพันธมิตรเอาชนะ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว จะทำให้สหรัฐฯ สามารถให้ยืม หรือ ให้เช่าอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ประเทศพันธมิตรที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครน
 

นอกจากจะช่วยประเทศยูเครนแล้ว ยังสามารถช่วยประเทศโปแลนด์ ประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
 

ฤทธานุภาพของกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นนะครับ เพราะจะทำให้บริษัทขายอาวุธที่ถือว่าทันสมัย ของสหรัฐฯ สามารถจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมให้แก่ประเทศพันธมิตรสู้ศึกสงครามได้รวดเร็ว ไม่ต้องรอขั้นตอนจากทางราชการ
 

ขณะที่สำนักข่าว BBC วิเคราะห์ว่า การที่ โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และสภาคองเกรส อนุมติเงินมหาศาลให้กับยูเครน และออกกฎหมายนี้จะทำให้การจัดหายุทโธปกรณ์ทางทหารและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครนได้รวดเร็วขึ้น 
 

เหนือกว่านั้น นี่คือสัญญาณว่า สหรัฐพร้อมจะตอบโต้ช่วยเหลือยูเครนแบบรวดเร็ว ในสถานการณ์สงครามที่จะดำเนินการไปอย่างรุนแรงยืดเยื้อหลังจากนี้ไป
 

ที่สำคัญเป็นการบ่งบอกว่า สหรัฐ-ยูเครน พร้อมต่อสู้ในการใช้ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง หรือ  อาวุธนิวเคลียร์ ในสงครามครั้งนี้แล้วละครับ
 

รับมือสถานการณ์สงครามที่รุนแรงไว้ให้ดีนะครับพี่น้องไทย นี่ไม่ใช่คำขู่...