วัตรปฎิบัติของพระภิกษุสงฆ์ในเมียนมา

15 พ.ค. 2565 | 23:30 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในคอลัมน์ที่ผมเขียนมาตลอดเวลาหลายปี สิ่งที่ผมไม่ค่อยอยากจะแตะต้องมีอยู่สองเรื่อง คือเรื่องของการเมืองกับเรื่องของศาสนาในประเทศเมียนมา เพราะทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก แต่บางครั้งผมก็อดไม่ได้ที่จะแตะต้องไปบ้างนิดๆ หน่อย เพราะเรื่องที่กำลังท๊อปฮิตจริงๆ เท่านั้นครับ อย่างไรก็ตาม ผมก็จะพยายามไม่เอนเอียงไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือไปล่วงเกินใคร หรือแม้กระทั่งศาสนาใดๆ โดยเด็ดขาดนะครับ
 

ที่กล่าวนำมาทั้งหมดนี้ เพราะช่วงนี้ได้มีเรื่องของหลวงปู่แสงที่เป็นเรื่องที่ถูกกล่าวขวัญกันมากในเวลานี้ ผมจึงอยากจะนำมาเปรียบเทียบกับพระภิกษุสงฆ์ในประเทศเมียนมา ให้พวกเราได้อ่านและเข้าใจบ้าง เป็นความรู้เล็กๆ น้อยๆ นะครับ ไม่ได้มีเจตนาที่จะลบหลู่แต่ประการใดครับ (รถทัวร์ไม่ต้องมาลงนะครับ)
 

ที่ประเทศเมียนมา วัตรปฎิบัติตามบทบัญญัติของภิกษุสงฆ์ตามกฎพระวินัย ผมเชื่อว่าไม่ได้แตกต่างกับประเทศไทยเรามากนัก เพราะที่นั่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อีกทั้งพระไตรปิฎก ก็ใช้เล่มเดียวกันกับไทยนี่แหละครับ ซึ่งผู้ที่นำพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศเมียนมา คือพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งประเทศอินเดีย โดยจะเป็นพุทธนิกายหินยานหรือเรียกอีกชื่อว่านิกายเถรวาทครับ

 

โดยปัจุบันนี้ที่ประเทศเมียนมามีผู้นับถือศาสนาพุทธมากถึง 89% ของประชากรทั้งประเทศ  ซึ่งจะนิกายหินยานที่นับถือกันนั้น จะไม่เหมือนของพุทธนิกายมหายาน หรือพุทธนิกายวัชรยาน ดังนั้นพระไตรปิฎกของนิกายหินยานเอง ก็เคยมีการสังคายนากันที่ประเทศเมียนมากันมาแล้วถึง 10 ครั้งแล้ว
 

ครั้งที่สำคัญๆ ก็คือเมื่อปีพ.ศ.2414 ครั้งนั้นได้ทำการสังคายนากันที่เมืองมัณฑะเลย์ ที่วัดที่อยู่ตีนเขามัณฑะเลย์ฮิลล์ ในยุคนั้นได้มีการบันทึกพระไตรปิฎก ลงบนแผ่นหินอ่อน สูงประมาณสองเมตร กว้างประมาณเมตรครึ่ง มีจำนวน 429 แผ่น ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง โดยมีพระมหาเถระ 3 รูปร่วมกับพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรม 2,400 ท่าน ร่วมกันประชุมสังคายนานานถึง 5 เดือนจึงแล้วเสร็จ จากนั้นจึงนำแผ่นหินอ่อนทั้งหมดมาเรียงรายกันอยู่ที่ลานกว้างหน้าวัด จนกลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชอบไปกราบไหว้และถ่ายรูปกันครับ 

ส่วนข้อห้ามของศีล 227 ข้อนั้นก็จะเหมือนๆของไทยเรานี่แหละครับ เพียงแต่การระมัดระวังหรือการตีความของศีลของทั้งสองประเทศ จะแตกต่างกันออกไป ที่ประเทศเมียนมาเท่าที่ตัวผมเอง ได้สัมผัสมาสามสิบกว่าปี ความเคร่งครัดของพระสงฆ์ จะไม่ได้เข้มงวดเหมือนในประเทศไทยเรา เช่นการสำรวมกริยา วาจา จะไม่ได้เคร่งมากนัก เราจะเห็นพระภิกษุสงฆ์บางรูป นั่งทานอาหารในร้านอาหารหรือไปนั่งดื่มชากับฆราวาสกันหน้าตาเฉย หรือบางครั้งเลยเที่ยงแล้ว เรายังพบเห็นพระภิกษุสงฆ์ยังคงเดินบิณฑบาตกันอยู่เลยครับ ผมเคยถามเพื่อนที่เป็นชาวเมียนมา ถึงเรื่องที่นั่งทานอาหารกันที่ร้านอาหารไม่อาบัติเหรอ เขาก็ตอบว่า ก็ไม่เห็นเป็นไรเลย ก็พระท่านมีปัจจัย ทำไมพระสงฆ์จึงไปนั่งฉันอาหารไม่ได้ละ? เออ.....ก็แปลกดีนะครับ
 

อีกอย่างที่เห็นเป็นประจำคือ พระภิกษุสงฆ์เดินคู่กับสาวๆ เห็นเดินคุยกันกะหนุงกะหนิง ผมก็ถามว่า อ้าว..แล้วอย่างนี้ทำได้ด้วยเหรอ? เขาก็ตอบว่า ก็อยู่ในที่ๆ มีผู้คนอยู่กันหลายคน ไม่ได้อยู่ในที่ลับตาคน แสดงว่าไม่ได้มีเจตนาทางด้านชู้สาวนี่ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนะครับ อ้าว.....งั้นที่หลวงปู่แสง วัดป่าอรัญญาวิเวก ที่จังหวัดอำนาจเจริญ ถ้าหากอยู่ที่ประเทศเมียนมา ก็คงไม่มีใครออกมาทำการใดๆ แน่นอนครับ
 

อีกเรื่องที่เห็นตามท้องตลาดในเมืองย่างกุ้ง คือพระภิกษุสงฆ์เดินเหินแทบจะชนกันกับฆราวาสที่เป็นเพศหญิง หรือจีวรของพระภิกษุสงฆ์จะเฉียดชนผู้หญิงไปบ้าง เขาก็มองว่าไม่แปลก หรือการที่ผู้หญิงจะถวายสิ่งของให้แก่พระภิกษุสงฆ์ ก็ไม่จำเป็นต้องมีผ้ามารองรับสิ่งของนั้น เรียกว่าเอามือยื่นถวายสิ่งของโดยตรงเลยก็ได้ ไม่ถือว่าอาบัติแต่อย่างไร ผมถามมาเยอะหลายเรื่อง จนพอจะเดาได้ว่า เพื่อนเขาจะตอบว่าอย่างไร? ก็คงหนีไม่พ้นที่จะตอบว่า "ไม่ได้มีเจตนาไปในทางชู้สาว" ก็คงไม่ผิดแน่ๆ ครับ
 

ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่ผมเองก็เคยบวชเรียนมานานพอสมควร ที่วัดสระเกศ แม้จะไม่ได้เข้าถึงหรือลึกซึ้งกับพระธรรมวินัยมากนัก แต่ก็จะไม่ค่อยคุ้นเคยวัตรปฎิบัติของพระภิกษุสงฆ์ที่ประเทศเมียนมาสักเท่าไหร่ แต่ก็ดูเหมือนว่าที่ประเทศเมียนมาจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียหมดทุกเรื่อง ดังนั้นการที่จะมองว่าวัตรปฎิบัติอย่างนั้นถูกอย่างนี้ผิด ก็คงจะไม่ได้นะครับ เพราะประเพณีปฎิบัตินิยม ของแต่ละแห่งแต่ละประเทศก็จะไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราต้องเข้าใจทุกอย่างให้ถ่องแท้เสียก่อน จึงจะสามารถวิจารณ์คนอื่นเขาได้นะครับ