ลูกอิสานแห่งลุ่มน้ำอิยะวดี 16

25 เม.ย. 2565 | 00:30 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ชีวิตของมนุษย์ มีหลายสิ่งหลายอย่างผ่านเข้ามาสู่ชีวิตของตนเอง แต่ทุกคนต่างมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ถ้าหากมองโลกแต่เพียงด้านเดียว ก็มักจะละเลยสิ่งดีๆ ที่ผ่านมาเสมอ หรือบางครั้งอาจจะมองหรือมีคำถามในใจว่า จะมีการเสียเปรียบหรือถูกเอารัดเอาเปรียบหรือไม่  แต่บางคนที่มองโลกในแง่ดี ก็มองว่าเป็นโอกาสที่เข้ามาสู่ชีวิตแล้ว ซึ่งหากมองในแง่ดีมากจนเกินไป ก็อาจจะมีการผิดพลาดได้เช่นกัน หรือบางครั้งคนที่มีความระมัดระวังมากจนเกินไป ก็อาจจะละเลยโอกาสอันดีงามไปได้เช่นกัน ไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่แน่นอนเสมอไป ดังนั้นต้องเดินทางสายกลางจึงจะเหมาะสมที่สุดครับ

คุณศักดิ์เองก็อาจจะมองเห็นแต่สิ่งที่เป็นแง่บวกมาก จนทำให้เกิดปัญหาขึ้นในชีวิตเป็นประจำ แต่ในทางกลับกัน ก็มีสิ่งตอบแทนที่ดีกลับมาสู่ตัวเองได้เช่นกัน ดั่งเช่นการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ หลังจากที่บริษัทเก่าได้ถูกหุ้นส่วนฮุบเอาไป เมื่อเริ่มดำเนินธุรกิจใหม่อีกครั้ง ด้วยความบากบั่นอดทน ทำให้ไม่นานลูกค้าก็เริ่มทยอยเข้ามาสู่บริษัทใหม่อีกครั้ง แต่ด้วยความที่เป็นคนช่างคิด ทำให้คุณศักดิ์มักจะมีกลยุทธ์ที่ดีออกมาให้พนักงานได้เดินตามเสมอ ดั่งเช่นที่กล่าวมาในตอนที่ผ่านมา

 

หลังจากที่คุณศักดิ์ได้เริ่มเรียนภาษาเมียนมา ก็ได้พยายามออกสู่ตลาดและพบปะกับเกษตรกรด้วยตนเอง และพยายามใช้ภาษาเมียนมาในการสื่อสารกับเกษตรกร ซึ่งสิ่งที่จะนำไปพูดคุยกับเกษตรกร ก็คือคำแนะนำในการทำการเกษตร ซึ่งคุณศักดิ์ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนภาษาด้วยการท่องจำ เมื่อได้พุดคุยกับเกษตรกรเหล่านั้น ภาษาที่ใช้มักจะไม่ค่อยคล่องหรือถูกต้องเหมือนคนเมียนมา อีกทั้งยังพูดผิดพูดถูกตลอดเวลา ทำให้เป็นที่ชื่นชอบและเรียกเสียงหัวเราะขบขันของชาวเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ทำให้จดจำคุณศักดิ์ได้เป็นอย่างดี เมื่อทุกครั้งที่เดินทางไปพบเกษตรกร เขาจึงเป็นที่รักใคร่ในเวลาต่อมาครับ
 

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่คุณศักดิ์นำมาใช้ เกิดจากการที่เป็นคนช่างสังเกตของคุณศักดิ์เอง กล่าวคือ เกษตรกรในบางรัฐที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำสายหลัก เช่นแม่น้ำอิยะวดีหรือแม่น้ำสาละวินของประเทศเมียนมา โดยเกษตรกรทั่วไปมักจะนึกว่า ฤดูฝนเป็นฤดูแห่งการเพาะปลูกพืช เพราะมีฝนตกชุกชุม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฤดูหนาวตั้งแต่เดือนกันยายนถึงมกราคมต่างหาก ที่เป็นฤดูการเพาะปลูก พืชผักส่วนใหญ่มักจะไม่ชอบฤดูฝนนัก เพราะที่ประเทศเมียนมามีฝนตกมากกว่าประเทศไทยเราเยอะ ด้วยป่าไม้ของประเทศเมียนมา ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์กว่าประเทศไทยเรา
 

อีกทั้งเวลาที่ลงเมล็ดพันธุ์พืชในฤดูฝน มักจะถูกน้ำท่วมหรือฝนชะล้างทิ้งเสียหายเยอะกว่าฤดูหนาว ซึ่งพื้นที่ที่กล่าวมานี้ มักจะถูกน้ำท่วมทุกๆ ปี แต่ชาวบ้านหรือเกษตรกรก็ไม่ค่อยจะจดจำกัน จึงจำเป็นที่จะต้องไปให้ความรู้และพยายามบอกให้เกษตรกรรอเวลาก่อน ไม่ต้องขยันมากเกินไปในช่วงฤดูฝน ให้ขยันกันในช่วงฤดูเพาะปลูกก็ยังทันเวลา

ส่วนในพื้นที่ที่แห้งแล้งบางรัฐในเมียนมา เมื่อถึงฤดูร้อนมาเยือน ก็ถูกแสงแดดแผดเผารุนแรงมาก ชาวบ้านก็นิยมปลูกถั่วปลูกงากัน ถั่วก็มีหลากหลายชนิดที่เป็นที่นิยมของตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศอินเดีย ประเทศบังคลาเทศ และประเทศจีน ที่เขาต้องการถั่วหัวช้าง ถั่วแดง ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วลันเตาและถั่วลิสงฅ
 

แต่บางส่วนของถั่วลิสง ก็มีการส่งออกมาสู่ประเทศไทย เพราะพืชประเภทถั่ว มักจะชอบพื้นที่ที่เป็นดินปนทราย ไม่ต้องการน้ำมาก และมีความต้องการของตลาดโลกมาก เมื่อเข้าไปสู่พื้นที่ดังกล่าว การหาเมล็ดพันธุ์พืชที่สนองต่อความต้องการของเกษตรกรก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเทศไทยเราเองไม่มีพันธุ์เมล็ดถั่วที่แปลกใหม่สำหรับตลาดไทย คุณศักดิ์จึงต้องลงทุนว่าจ้างนักวิจัยทางการเกษตรที่เป็นคนท้องถิ่น เข้ามาทำการวิจัยพันธุ์พืช ซึ่งเหล่านักวิจัยชาวเมียนมา ต้องอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว และต้องเอาใจแลกใจ จึงจะคุยกันรู้เรื่อง โดยที่ความลับไม่รั่วไหลไปยังบริษัทคู่แข่งนั่นเอง 
 

อีกปัญหาหนึ่งที่ต้องให้เกษตรกรระมัดระวัง คือเมื่อราคาพืชผลเหล่านี้ราคาสูงมาก ซึ่งราคาเหล่านี้มักจะเป็นราคากลางของตลาดโลก ซึ่งทำให้เกษตรกรทุกบ้าน ก็ต่างเร่งเพาะปลูก และถ้าประเทศอื่นๆ ก็มีความคิดเหมือนกันกับเกษตรกรเมียนมา เมื่อผลผลิตออกมาก็ล้นตลาด ราคาก็เริ่มไหลลง ดังนั้นคุณศักดิ์จะต้องเป็นคนที่หูตาไวกว่าเกษตรกร และต้องทำหน้าที่คอยแจ้งข่าวให้เกษตรกรทราบ ซึ่งข่าวเหล่านี้ก็ไม่ใช่ว่าจะถูกต้องแม่นยำเสมอ ดังนั้นถ้าหากทำนายราคาในฤดูเก็บเกี่ยวได้ถูกต้อง ก็จะได้รับคำชมเชย แต่ถ้าปีไหนทำนายผิด ก็ถูกเกษตรกรด่าว่าก็เป็นธรรมดา นอกจากนี้ ปัญหาการเพาะปลูกเยอะๆ สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือปัญหาโรคพืชและปัญหาแมลงพืช ที่คุณศักดิ์ก็ต้องเตรียมยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งต้องให้ความรู้และเตรียมสินค้าที่จะขายต่อเนื่องต่อไป
 

อีกปัญหาหนึ่งที่ต้องคอยช่วยเหลือเกษตรกร คือเมื่อเกิดราคาพืชผลตกต่ำ ที่เกิดจากการผ่านตัวกลางคนรับซื้อ ก็จะต้องคอยจับจ้องดูอย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อเกิดราคาตกต่ำ ไม่คุ้มกับค่าเก็บเกี่ยว เกษตรกรมักจะถอดใจไม่ดูแลและละทิ้งพืชผล โดยไม่ยอมเก็บเกี่ยว ซึ่งคุณศักดิ์มักจะรู้สึกเสียดายแทนเกษตรกร ที่ต้องลงทุนไถ พรวนดิน และหว่านเมล็ดพืชพันธุ์ บางครั้งยังต้องให้ปุ๋ยไปแล้วด้วย ซึ่งถ้าหากละทิ้งขว้าง ก็จะไม่สามารถเก็บผลผลิตได้เลย เป็นที่น่าเสียดายและน่าสงสาร คุณศักดิ์ต้องคอยเรียกประชุม และหาทางออกให้เกษตรกรเสมอครับ
 

อาทิตย์หน้าเรามาอ่านต่อชีวิตของคุณศักดิ์ใหม่ เพื่อรับรู้ว่าที่มีได้ทุกวันนี้ ใช่ว่าจะนอนมากับโชคช่วยเสมอไปครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ