ลูกอิสานแห่งลุ่มน้ำอิยะวดี 15

17 เม.ย. 2565 | 22:30 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

     การสร้างธุรกิจใหม่ในแบบของคุณศักดิ์ครั้งนี้ แม้จะเป็นการเอาเหล้าเก่ามาใส่ในขวดใหม่ ก็ใช่ว่าจะง่ายเสมอไป ดีที่ว่าเจ้าของกิจการคือตัวคุณศักดิ์เอง จะลงพื้นที่เพื่อไปเยี่ยมชมตลาดหรือสำรวจตลาดด้วยตนเองตลอด จึงทำให้มีความรู้จักมักคุ้นกับลูกค้ารายย่อย หรือร้านขายสินค้าเกือบจะทั้งหมด จึงมีความสัมพันธ์พิเศษที่ดีกับกลุ่มผู้ค้า ซึ่งในตลาดประเทศด้อยพัฒนา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคอนเน็คชั่น จึงจะสามารถอยู่ยงคงกระพันได้ หากไม่มีความสนิทสนมกันเป็นการส่วนตัว ก็จะเสมือนเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด นั่นจะทำให้มีความยากในการสร้างบริษัทใหม่ได้

 

     ในส่วนนี้คุณศักดิ์เองก็ทราบถึงเหตุผลดังกล่าว เพราะด้วยตนเองเคยเป็นผู้จัดการฝ่ายขายในประเทศไทยมาก่อนนั่นเอง จึงนำเอาประสบการณ์ต่างๆเหล่านั้นมาใช้ในประเทศเมียนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกอย่างหนึ่งที่จะต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่งในประเทศเมียนมา คือเรื่องของการสื่อสาร นั่นหมายถึง “ภาษา”ที่ใช้จะต้องสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ เพราะเคยเห็นความล้มเหลวของสินค้าบางตัว ที่ไม่สามารถเข้าถึงตลาดหรือกลุ่มผู้ขายรายย่อยได้ ก็เนื่องมาจากภาษาที่สื่อสารกัน ต่างคนต่างเข้าใจกันคนละอย่างนั่นเอง บางบริษัทต่างชาติ เข้าใจว่าจะต้องมีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร แต่เขาลืมไปว่า ภาษาอังกฤษที่คนไทยระดับกลางพอพูดได้นั้น ไม่ใช่เต็มร้อยเกือบจะทุกคน บางคนอาจจะมีความสามารถเพียง 50-70% แต่คู่ค้าเอง บางคนที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ก็เข้าใจเพียง 50-70% เช่นกัน ดังนั้นพอรวมกันทั้งไปทั้งกลับก็จะเพียง 100-140% จากเต็ม 200% ดังนั้นความเข้าใจผิดหรือการสื่อสารผิดพลาดจึงบังเกิดครับ

     เรื่องของภาษานั้น ต้องยอมรับบริษัทจากประเทศสิงค์โปร์ ที่คนของเขาส่วนใหญ่จะมีความสามารถพิเศษทางด้านภาษาที่ดีกว่าคนไทยเรามากครับ เขาสามารถใช้ได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีนกลาง ซึ่งคนเมียนมาโดยเฉพาะคนเมียนมาเชื้อสายจีน จะมีเกือบ 60% ที่เป็นคนเมียนมาเชื้อสายจีนยูนนาน ทำให้เขาใช้ภาษาจีนยูนนานและจีนกลางได้เป็นอย่างดี แต่คนไทยเรานั้นจีนทั้งสองภาษา มักจะไม่ค่อยสันทัดกันสักเท่าไหร่ครับ คุณศักดิ์เองเมื่ออยู่ประเทศเมียนมานานวันเข้า ก็เริ่มเข้าใจถึงจุดสกัดดาวรุ่งนี้ จึงพยายามที่จะเรียนรู้ภาษาเมียนมาให้ได้ เพราะถ้าอยากจะเข้าถึงกลุ่มผู้ค้ารายย่อยและเกษตรกร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดภาษาเมียนมาให้ได้ คุณศักดิ์จึงตัดสินใจที่จะเรียนรู้ภาษาเมียนมาให้ได้ ซึ่งก็ใช้เวลานานเกือบ 2-3ปี จึงสามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างสมใจปารถนาครับ

     อีกเรื่องหนึ่งที่คุณศักดิ์มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก คือความอยากรู้อยากเห็นและความชอบในการอ่านหนังสือของตัวเขาเอง เพราะคุณศักดิ์เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง แล้วสามารถนำเอาความรู้ความเข้าใจในหนังสือนั้น  ไปสอนให้คนเมียนมาที่เป็นทั้งเกษตรกรและกลุ่มผู้ค้ารายย่อยได้อย่างดี คือหนังสือเรื่อง “พระมหาชนก” ที่พระองค์ท่านในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงประพันธ์ไว้นั่นเอง โดยมักจะนำเอาบางช่วงบางตอนเช่น ตอนที่พระมหาชนกทรงว่ายน้ำ 7 วัน7 คืนโดยไม่เห็นฝั่งและไม่รู้ชะตากรรมของพระองค์เอง แต่มีความวิริยะอุสาหะเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งคุณศักดิ์ยังสอนให้เกษตรกรทุกคนต้องมีความอดทนในการเพาะปลูกพืชผล แม้จะไม่สามารถรู้ได้ว่าผลผลิตที่ออกมาสู่ตลาด จะมีราคาอย่างไร เพียงแต่ขอให้เกษตรกรทุกคนให้มีความวิริยะอุตสาหะ ในการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ทางคุณศักดิ์เองจะพยายามหาพันธุ์พืชที่ดีที่สุดมาให้ เพื่อที่จะเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรทุกคน ขอเพียงอย่าท้อแท้ เพาะปลูกให้เยอะๆ เมื่อผลผลิตออกมา แม้ราคาจะไม่ได้อย่างที่คาดหวัง แต่ถ้าจำนวนของผลผลิตได้มากกว่าปกติ จำนวนก็สามารถชดเชยราคาที่ขาดหายไปได้นั่นเองครับ

 

     ในขณะที่ตัวคุณศักดิ์เอง ก็จะทำหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ นอกเหนือจากการเสาะหาพันธุ์พืชที่ดีมาให้แล้ว ยังต้องให้ความรู้ในเรื่องของสารเคมีหรือปุ๋ยเคมีต่างๆแก่เกษตรกรด้วย เช่นการใช้ปุ๋ยเคมีต่อพืชแต่ละชนิดมากบ้างน้อยบ้างย่อมแตกต่างกันออกไป หรือแต่ละช่วงเวลาที่ให้ปุ๋ยก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งกลุ่มเกษตรกรที่เมียนมายังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ก็ยังมีอยู่เยอะ ตัวอย่างเช่นในช่วงระยะเวลาบำรุงต้นพืช ก็จะให้ปุ๋ยที่มีสารยูเรียเยอะกว่าฟอสฟอรัสและโปเเตชเซี่ยม ในช่วงพืชเริ่มออกดอก ก็ให้ใช้ปุ๋ยที่มีสารฟอสฟอรัสสูงๆเข้าไว้  หรือในช่วงที่เริ่มออกผล ก็ให้ปุ๋ยที่มีสารโปแตชเซี่ยมสูงๆ ซึ่งหลักการเหล่านี้ ในประเทศไทยเราเกษตรกรจะมีความรู้ขั้นพื้นฐานอย่างดี แตกต่างกับที่ประเทศเมียนมามาก เพราะที่นั่นความรู้ของประชากรในประเทศ ยังมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันอยู่เยอะมาก บางรัฐหรือบางเมืองที่ห่างไกลความเจริญ เด็กๆที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือหรือภาษาเมียนมาจะมีไม่ทั่วถึงทุกแห่ง บางแห่งที่ได้ไปเห็นมา ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ยังมีให้เห็นอยู่ ดังนั้นการให้ความรู้พื้นฐานเหล่านี้ ยังมีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมายนี้อยู่

 

     อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องพยายามถ่ายทอดให้เกษตรกรรับรู้ คือการให้น้ำหรือการรดน้ำต้นไม้ ทีเกษตรกรส่วนใหญ่ของเขา มักจะไม่เข้าใจถึงวิธีการ รวมถึงการระบายน้ำที่มีปัญหาใหญ่ที่เขามักจะเข้าใจผิดๆมาตลอด คุณศักดิ์ก็สอนให้พนักงานขายได้รับความรู้นี้ เพื่อเวลาไปขายสินค้า จะได้อธิบายให้ลูกค้าทราบได้ อีกทั้งเมื่อเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวมาถึง แต่ละช่วงมักจะมีราคาที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นก็จำเป็นที่จะต้องมีแผนกที่คอยส่งข่าวให้ลูกค้าอยู่เป็นประจำเสมอ เรื่องต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นจุดขายของบริษัทใหม่ของคุณศักดิ์ เมื่อลูกค้าปากต่อปากพูดต่อๆกันออกไป ทำให้บริษัทใหม่ของคุณศักดิ์มีลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาไม่ขาดสาย ผลที่ตามมาจึงเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่งครับ

 

     สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากโชคช่วยหรือดวงดี แต่เกิดขึ้นมาจากการที่รู้จริงและรู้จักนำความรู้นั้นไปใช้ และยังต้องใช้ให้ถูกที่ถูกทางอย่างเหมาะสม จึงจะประสบผลสำเร็จได้ อาทิตย์หน้าผมจะนำเอาเกล็ดเล็กๆน้อยๆมาเล่าต่อนะครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ