ทั้งนี้มีผลจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง จากสินค้าหนึ่งไปอีกสินค้าหนึ่ง เมื่อผลผลิตประเทศหนึ่งส่งออกไม่ได้ ทำให้ผลผลิตขาดในตลาดโลก ประเทศที่ผลิตได้ต้องเก็บไว้ใช้ในประเทศตนเอง สุดท้ายทำให้ราคาสินค้าในตลาดโลก (ที่เป็นอาหารคนและสัตว์) ปรับสูงขึ้น
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าปี 2565 ราคาสินค้าทั่วโลกปรับขึ้น “37%” (Shabtai Gold, 20 April 2022) สูงสุดในรอบ 60 ปี (UN) สินค้าขาดแคลนมาจากรัสเซียและยูเครนที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลก ปี 2564 รัสเซียส่งออกข้าวสาลีอันดับสาม ข้าวโพดอันดับเก้า ข้าวบาร์เลย์อันดับสอง และเมล็ดทานตะวันอันดับสองของโลก
ในขณะที่ยูเครนส่งออกข้าวสาลีอันดับห้า ข้าวโพดอันดับหก ข้าวบาร์เลย์อันดับสี่ และเมล็ดทานตะวันอันดับหนึ่งของโลก ผลผลิตทางการเกษตรของยูเครนส่งออกไม่ได้เพราะ “ท่าเรือ Odessa” ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่สุดของยูเครนถูกทำลาย ท่าเรือนี้ใช้ส่งน้ำมันและสินค้าเกษตรประเภทอาหารไปยังทะเลดำ (Black Sea) ในขณะที่ “ท่าเรือ Mariupol” อยู่ในทะเลอะซอฟ (Sea of Azov) ซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งถ่านหินก็ถูกทำลายเช่นกัน การส่งไปทางรถไฟและรถยนต์ไปยังโปแลนด์ทำได้ลำบาก มีต้นทุนการผลิตสูงและใช้เวลาหลายวัน
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีรัสเซียประกาศเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 ฉบับ 362 “ห้ามส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์” ในประเทศ Eurasian Economic Union (EAEU)
“กรณีถั่วเหลือง” เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 รัฐบาลอาร์เจนตินา “ห้ามส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง” อาร์เจนตินาเป็นผู้ผลิตอันดับสาม (ปีละ 60 ล้านตัน) ของโลก รองจากบราซิลและสหรัฐฯ แต่ส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองมากสุดของโลก 37% และส่งออกกากถั่วเหลืองอันดับหนึ่งโลก 32% เพื่อชะลอการส่งออกรัฐบาลอาร์เจนตินายัง “เก็บภาษีส่งออก 33% จาก 31%”
เหตุผลเพราะปี 2022 1.ผลผลิตลดลง ผลผลิตถั่วเหลืองอเมริกาใต้ปี 2021 กับ 2022 ลดลงมาก โดยบราซิลจาก 5 พันล้านบุชเชล (bushels) เหลือ 4.6 พันล้านบุชเชล อาร์เจนตินาจาก 1.5 พันล้านบุชเชล เหลือ 1.4 พันล้านบุชเชล ผลจากขาดปุ๋ยรัสเซียและยูเครนและภาวะโลกร้อน
2.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ถั่วเหลืองในตลาดโลกขาด จำเป็นต้องใช้ภายในประเทศ อาร์เจนตินาส่งออกเมล็ดถั่วเหลือง 13% ของเมล็ดถั่วเหลืองทั้งหมด (ส่งออกจีน) กากถั่วเหลือง 90% จากกากถั่วเหลืองทั้งหมด (ส่งออกเวียดนาม อินโดฯ) น้ำมันถั่วเหลือง 60% ของน้ำมันถั่วเหลืองทั้งหมด (ส่งออกอินเดีย) และไบโอดีเซล 30% ของไบโอดีเซลทั้งหมด (ส่งออกสหรัฐฯ)
ใน 4 เดือนแรกปี 2565 ราคาสินค้าในอาร์เจนตินาเพิ่มขึ้น 23% ทั้งปีคาดว่า 60% (France24 12/05/2022) ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารคน (19%) สัตว์ (77%) และพลังงานทางเลือก (4%) ผลดังกล่าวทำให้ราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกปรับสูงขึ้นทันที “จาก 1,547 เหรียญต่อตันเป็น 1,880 เหรียญต่อตัน เพิ่มขึ้น 22%” ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารคนและสัตว์ไทย “เต็ม ๆ” เพราะไทยพึ่งพิงถั่วเหลือง (กากถั่วเหลือง และเมล็ดถั่วเหลือง) จากต่างประเทศ 95% (จากบราซิล 70% อาร์เจนตินา 30%) ปี 2564 ไทยผลิตถั่วเหลืองปีละ 3 หมื่นตัน หรือผลิตกากถั่วเหลืองได้ 2 หมื่นตัน แต่ความต้องการกากถั่วเหลืองปีละ 4 ล้านตัน
ตัวเลขของ "สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย" พบว่าปี 2564 ไทยนำเข้ากากถั่วเหลืองปีละ 2.8 ล้านตัน นำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง 3.4 ล้านตัน (เมล็ดถั่วเหลือง 100% ได้กากถั่วเหลือง 77% น้ำมันถั่วเหลือง 18%) ตลาดน้ำมันพืชบริโภคไทย เป็นน้ำมันปาล์มสัดส่วน 56% น้ำมันถั่วเหลือง 40% ในตลาดอาหารสัตว์ไทย 28% มาจากกากถั่วเหลือง 60% มาจากข้าวโพด มันสำปะหลัง และปลายข้าว
“กรณีน้ำมันปาล์ม” เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2565 อินโดนีเซียประกาศ "ห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มทุกชนิด" ทั้งน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil : CPO ใช้ทำไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มบริสุทธ์ อาหารสัตว์) น้ำมันปาล์มบริสุทธ์ (Refined Palm Oil : RPO ใช้ทำน้ำมันทอด นม สบู่ มาการีน) และน้ำมันปาล์มโอเลอีนผ่านกรรมวิธี (Refined, Bleached and Deodorized :RBD palm olein ใช้ทำน้ำมันทอดและผัด)
การห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดฯ ครั้งนี้ ครอบคลุมทั้งน้ำมันปรุงอาหาร ไบโอดีเซลและสารตั้งต้นโอเลโอเคมีคัล ส่งผลทำให้ราคาในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ดึงราคาน้ำมันในประเทศไทยสูงตามไปด้วย ทำให้ต้นทุนในการผลิตอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทุกชนิดในประเทศไทยมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ไทยต้องปรับลดสัดส่วนการผลิตไบโอดีเซลจาก B7 เหลือ B3 (ล่าสุดอินโดนีเซียได้สั่งยกเลิกการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มแล้วตั้งแต่ 23 พ.ค.หลังอุปทานดีขึ้น)
ปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบตลาดโลกเพิ่ม “จาก 1,503 เหรียญต่อตัน เป็น 1,714 เหรียญต่อตัน เพิ่มขึ้น 14%” ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในไทยเพิ่มขึ้นตามไป อย่างไรก็ตามอินโดนีเซียจะยกเลิกมาตรการนี้ในวันที่ 23 พ.ค. 2565
“กรณีข้าวสาลี” เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2565 รัฐบาลอินเดีย “ห้ามส่งออกข้าวสาลี” ด้วย 2 เหตุผลคือ ผลผลิตขาดเนื่องจากสงครามและผลผลิตลดลงจากโลกร้อน อินเดียเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีอันดับสอง ตามหลังประเทศจีน ในขณะที่รัสเซียผลิตเป็นอันดับสาม ข้าวสาลีเป็นหนึ่งวัตถุดิบที่ใช้แทนข้าวโพดในช่วงที่ข้าวโพดขาดแคลนและปี 2564
สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยรายงานว่าไทยนำเข้าข้าวสาลีเพื่ออาหารสัตว์ปีละ 1.3 ล้านตัน นำเข้าเป็นอาหารคน 1.7 ล้านตัน เพื่อเป็นขนมปัง บะหมี่สำเร็จรูป อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด เป็นต้น ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกเพิ่มจาก เม.ย 2565 “จาก 350 เหรียญต่อตัน เป็น 500 เหรียญต่อตัน เพิ่มขึ้น 40%” (Food Price Monitoring and Analysis, FAO, May 2022)
ทั้ง 3 สินค้าเกษตรข้างต้น ทำให้ต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารคนและสัตว์ของไทยสูงขึ้นมาก และในปี 2565 การนำเข้าสินค้าเกษตรเหล่านี้จะมีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ต้องติดตาม เพราะผลผลิตในตลาดโลกขาดแคลนหนักครับ