เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เขียนเรื่อง “สัญญาณของสันติภาพเริ่มเกิด” ได้เล่าถึงการเดินทางเข้าไปกรุงเนปิดอร์ของผู้นำกองกำลังรัฐฉานใต้ คือท่านพลเอก เจ้ายอดศึก ที่ได้เข้าไปพบเพื่อเจรจาสันติภาพกับพลเอกอาวุโส เมียน อ่อง หล่าย ซึ่งผมกล่าวไว้ว่า เป็นนิมิตรหมายอันดีของสันติภาพที่กำลังก่อตัวขึ้น และอาจจะเป็นการชักนำเอาผู้นำกองกำลังอื่นๆ ที่จะต้องเดินทางเข้าไปในกรุงเนปิดอร์ ซึ่งผมเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ และให้กลุ่มนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในประเทศเมียนมา ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด อย่ากะพริบตาเลยทีเดียวครับ
ในเวลาต่อมา ในวันอังคารที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา กองกำลังพรรคมอญใหม่ (NMSP) โดยท่าน อ่อง มิน ในฐานะรองประธานพรรค ได้เดินทางเข้าไปสู่กรุงเดปิดอร์ เพื่อเข้าพบกับท่านพลโท หย่า เปี๊ยะ ประธานคณะกรรมการสันติภาพ (NSPNC) เพื่อเจรจาสันติภาพ และก่อตั้งสหพันธรัฐประเทศเมียนมา ซึ่งก็ได้เข้าพบเจรจากันครั้งแรกในวันถัดมา
บรรยากาศเป็นการได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยมอย่างคาดไม่ถึง ทำให้ในวันต่อมา คือวันที่ 26 พฤษภาคม ท่าน ซอ ถ้อ เล ในฐานะผู้นำกองกำลังสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) ก็ได้เดินทางเข้าไปยังกรุงเนปิดอร์เช่นกัน และไม่เหนือความคาดหมายของผม ที่ได้ทำนายไว้ว่า จะต้องมีการเดินทางเข้าไปของผู้นำกองกำลังกลุ่มต่างๆ อีกหลายกลุ่มแน่นอนครับ
ผมเชื่อว่าสัญญาณเห็นเค้าลางของสันติภาพ เริ่มที่จะเด่นชัดขึ้นนี้ เพราะเหตุผลเดียวคือการตอบรับจากรัฐบาลเมียนมาในปัจจุบันนี้ เพราะว่า ณ ปัจจุบันนี้ เราได้เห็นการเริ่มมีความสงบมากขึ้น ซึ่งในช่วงแรกของการเดินขบวนประท้วง ถ้าพวกเรายังจำกันได้ ในระหว่างนั้นกลุ่มกองกำลังต่างๆ ต่างออกมาดาหน้าเข้าไปช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเกือบจะทั้งหมด เพราะมีแรงสนับสนุนจากภายนอกประเทศ
ไม่เฉพาะกลุ่มชาติตะวันตกเท่านั้น ชาติในอาเชียนและเอเชียบางประเทศ ก็ออกมาลอยหน้าเข้าข้างสหรัฐกันหมด ดังนั้นกลุ่มกองกำลังชาติพันธ์เองก็ต้องแสดงออกให้ทุกคนเห็นว่า ไม่สนับสนุนการปกครองโดยรัฐบาลทหาร อีกทั้งบางกลุ่มบางกองกำลัง ยังอ้าแขนรับเอากลุ่มคนเห็นต่างที่เป็นคนรุ่นหนุ่มสาว (PDF) เข้าไปฝึกฝนการทหาร เพื่อจะได้ออกมาทำการในเขตเมืองอีกด้วย ซึ่งก็สร้างความปั่นป่วนกันพอสมควร
ต่อมาท่าทีการแซงชั่นของชาติตะวันตกเริ่มจะเบาบางลง ไม่ได้รุนแรงเหมือนช่วงแรกๆ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุผลอาจจะเป็นเพราะสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่กำลังปะทุออกมาในช่วงที่ผ่านมา ประเทศฝั่งยุโรปหลายประเทศและสหรัฐอเมริกาเอง ก็ได้รับผลพวงของสงครามครั้งนี้ไปไม่น้อย ดังนั้นการที่จะข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามายุ่งกับประเทศเล็กๆ อย่างเมียนมา และอาจจะต้องเปิดศึกหลายหน้าอีกด้วย ทำให้พี่เบิ้มต้องคิดมากเป็นเรื่องธรรมดามาก ดังนั้นการที่จะมาออกหน้าออกตาของกลุ่มนี้จึงเพลาๆ ลงไปครับ
อีกอย่างหนึ่งคือ หลังจากสงครามยูเครน-รัสเซียเกิดขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของโลกฝั่งตะวันตกกระทบกระเทือนไม่น้อย เพราะรัสเซียออกมาขู่ตัดพลังงานต่อประเทศที่อยู่ฝั่งตรงข้ามในยุโรป จึงยากที่จะมีแรงหนุนมาให้ประเทศเมียนมาเหมือนเดิม ข้อนี้จะสังเกตุว่า ทางกลุ่มกองกำลังชาติพันธ์ต่างๆ เขาก็มีที่ปรึกษาให้แก่ผู้นำของเขาอยู่แล้วอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นเราจึงได้เห็นปฏิกริยาในช่วงที่ผ่านมานั่นเองครับ
ต้องไม่ลืมว่าช่วงที่กำลังของฝ่ายรัฐบาลทหารกำลังเสียเปรียบ ต่างฝ่ายต่างสร้างเก็บคะแนนตุนไว้กันทุกฝ่าย เพื่อเก็บไว้เป็นอำนาจต่อรองในอนาคต ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว เราจึงเห็นกองกำลังต่างออกมาหนุนหลังกลุ่มฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเกือบทั้งหมด ในช่วงนั้น ต่อให้รัฐบาลทหารจะออกมาป่าวประกาศให้โปรโมชั่นอย่างไร ก็ยากที่จะดึงกลุ่มใดเข้ามาร่วมพัฒนาชาติได้ แต่พอฝ่ายรัฐบาลทหารกำลังมีโอกาสได้เปรียบ หรือฝ่ายต่อต้านกำลังสาระวนกับการแก้ไขปัญหา ก็ยากที่จะเห็นใครเข้ามาช่วยฝ่ายต่อต้านได้ นี่เป็นสัจจธรรมจริงๆครับ ตามคำกล่าวที่บอกว่า “เมื่อน้ำในบ่อเหือดแห้ง ฝูงปลาก็ย่อมตายฉันใด เมื่อต้นไม้ใหญ่ล้ม ฝูงนกกาย่อมบินหนีฉันนั้น”
ถ้าหากถามผมว่า แล้วเหตุการณ์ในภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป ผมต้องบอกว่าให้กลับไปย้อนดูอดีต ตั้งแต่ยุคปี 1962 และในยุคปี 1988 ครับว่าเป็นอย่างไร? ในยุคนั้นๆ ประเทศเมียนมาถูกชาติตะวันตกออกมาบอยคอตเช่นกับปัจุบันนี้ ทำให้ประเทศเมียนมาในยุคนั้น เข้าสู่ยุคที่มืดมนมาก แต่อย่าเปรียบเทียบทั้งหมดว่าจะเหมือนเดิมนะครับ เพราะยุคนั้นกับยุคนี้แตกต่างกันมาก
ยุคนี้เป็นยุคดิจิตอลและยุคไอที การสื่อสารการคมนาคมสะดวกสบายกว่ายุคเก่าเยอะมาก เราอาจจะเทียบเคียงได้ในบางเรื่อง ซึ่งผมเชื่อว่าการที่เขียนหรือการพูดออกมาทางหน้าสื่อต่างๆ ย่อมจะไม่เป็นผลดีเท่าที่ควร หากจะให้ผมเล่าคงต้องมาตั้งต้นด้วยการมาจับเข่าคุยกัน น่าจะปลอดภัยและพูดได้เต็มปากเต็มคำกว่านะครับ เพราะมันอาจจะส่งผลกระทบถึงเรื่องต่างๆ อีกมากครับ เราคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปครับ