ถ้าพูดถึงเรื่อง “กิน” คนไทยจริงจังเสมอ จริงจังถึงขั้นที่ว่าถ้าเกิดอยากจะกินกลางดึกก็ต้องมีให้กิน และต้องเป็นมื้อที่จริงจัง จัดเต็ม ไม่ใช่แค่อาหารสำเร็จรูป ร้านอาหารจำนวนมากรวมไปถึงชาบูและหมูกระทะต้องปรับมาเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนกับร้านสะดวกซื้อ ทั้งที่คนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องกินขนาดนี้ จะดีกว่าไหมหากเราใช้สื่อบันเทิงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมให้ครัวไทยให้เป็นครัวโลกอย่างแท้จริง
“ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” สำนวนโบราณคุ้นหูที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยอยู่คู่กับอาหารมาอย่างช้านาน แม้กระทั่งสำนวนและสุภาษิตสอนใจก็ยังเปรียบเทียบกับอาหารเช่นกัน เพราะของกินเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวจึงง่ายต่อการทำความเข้าใจ การกินในประเทศไทยถูกใช้ในหลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการพบปะสังสรรค์ การเฉลิมฉลองในเทศกาลสำคัญ หรือจะไม่ใช่โอกาสพิเศษอะไรเลย แต่ก็พร้อมที่จะกินมื้อพิเศษได้ทั้งนั้น
การจัดลำดับโดยซีเอ็นเอ็นครั้งล่าสุด (ปี 2564) ประกาศให้ “แกงมัสมั่น” เป็นเมนูอาหารที่อร่อยที่สุดของโลกลำดับที่ 1 ซึ่งครองแชมป์มาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี ด้วยความรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากอาหารชาติอื่น นอกจากนี้ “ต้มยำกุ้ง” และ “ส้มตำ” ยังติดในการจัดลำดับครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าอุตสาหกรรมอาหารทำเงินได้ไม่น้อยไปกว่าการท่องเที่ยวเลยทีเดียว
เป็นที่น่าแปลกใจว่า ระดับดีกรีอาหารไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก กลับไม่ได้ถูกนำเสนอบนหน้าฉากอุตสาหกรรมสื่อหลักมากนัก ทั้งที่เป็นพื้นที่ทรงพลังในการเผยแพร่ สอดแทรก และกระตุ้นต่อมความอยากให้ผู้ชมอยากกินตามมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อยอดขายในธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารทั้งในไทยและต่างประเทศ
โดยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเริ่มมีการส่งออกซีรีส์ไทยสู่ต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี อินโดนีเซีย คงจะดีไม่น้อยหากซีรีส์เหล่านั้นสอดแทรกวัฒนธรรมอาหารไทยควบคู่ไปกับสถานที่ท่องเที่ยวลงไป ก็จะยิ่งช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้งสองสู่สายตานักท่องเที่ยวมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม การพูดถึงอาหารในภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ในไทยยังคงมีจำนวนน้อย และไม่ได้ถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องจนถูกกระแสอื่นกลบและหายไปในที่สุด เราจะเห็นได้ชัดจากสื่อต่างๆ ที่มีฉากกินข้าวแต่กลับไม่พูดถึงและไม่ถ่ายให้เห็นถึงอาหารที่นักแสดงกิน ทั้งที่อาหารไทยอร่อยไม่แพ้ชาติไหนในโลก
ซึ่งผลประกอบการที่เห็นได้ชัดในแวดวงละครไทย ที่สามารถผสมผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเรื่องราวได้อย่างน่าติดตาม เช่น ละครทีวีเรื่อง บุพเพสันนิวาส เป็นหนึ่งในละครที่ย้อนยุคสมัยที่สอดแทรกวัฒนธรรมอาหารไทยด้วยเมนูสุดฮิตหลายอย่าง กุ้งเผา มะม่วงน้ำปลาหวาน และหมูกระทะ ลงไปในละครทำให้คนในประเทศและต่างประเทศแห่กันไปกิน-เที่ยวตามรอยบุพเพสันนิวาส
จนร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ถือเป็นละครอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างกระแส กระตุ้นการบริโภคของคนในประเทศ และกวาดเรตติ้งเฉลี่ยสูงถึง 13.246 ซึ่งเป็นสถิติเรตติ้งละครสูงที่สุดในยุคทีวีดิจิทัลอีกด้วย
หรือประเทศเกาหลีใต้ ที่เรารู้จักกันในฐานะผู้นำด้านส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมอาหารผ่านสื่อบันเทิง รายการทีวี ซีรีส์ และภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง แม้แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือ รามยอน และ จาปากูรี (Chapaguri) จากภาพยนตร์เพชรเม็ดงามที่คว้าออสการ์ 4 สาขาอย่าง “ชนชั้นปรสิต” (Parasite) ก็มีการนำเสนอกรรมวิธีการทำอาหารที่น่าสนใจและการกินอาหารที่น่าเอร็ดอร่อยของนักแสดง
อาจเรียกได้ว่ามันแทรกซึมเข้ามากระตุ้นความอยากกินของเราไปโดยไม่รู้ตัว และพอรู้ตัวอีกทีก็อยากที่จะซื้อมาลองชิมดูบ้างแล้ว ทำให้เมนูเหล่านี้โด่งดังไปไกลระดับโลกจนสามารถสร้างยอดขายจากการส่งออกอาหารอย่างมหาศาล
การร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมอาหาร การท่องเที่ยว และสื่อบันเทิงควบคู่กัน อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้อาหารไทยก้าวไกลสู่ระดับโลก นอกจากจะขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมส่งออกอาหารไทยและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมีจุดมุ่งหมายการเดินทางที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นหลังจากวิกฤตโควิด-19 นี้จบลง
ที่มาของภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=n2CdcB4JGok
อ้างอิง :https://edition.cnn.com/travel/article/world-best-food-dishes/index.html
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,788 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2565