บรรยากาศหลังฟ้าฝนกระหน่ำในย่างกุ้ง

19 มิ.ย. 2565 | 22:00 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางเข้าไปกรุงย่างกุ้งที่ห่างเหินมานานกว่าสองปีครึ่ง ผมอยากจะนำเอาบรรยากาศต่างๆ ที่มีทั้งในสภาพสังคม สภาพตลาดการค้า-ขาย และความเป็นอยู่ของประชาชนชาวย่างกุ้งมาเล่าและวิเคราะห์ให้อ่านเล่น 


จากมุมมองส่วนตัวของผม ที่สังเกตดูจากสายตาคนที่เคยผ่านช่วงวิกฤติของประเทศเมียนมามาแล้วหลายครั้งนะครับ จะถูกต้องแม่นยำหรือจริงเท็จแค่ไหน ต้องใช้วิจารณญานพิจารณาเอาเองนะครับ
 

สภาพของบรรยากาศในกรุงย่างกุ้งวันนี้ เนื่องจากเป็นด้วยเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาก จากการถูกกระหน่ำจากพิษการระบาดของโรคร้าย COVID-19 และพิษของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งทางการเมียนมา ได้มีการออกกฎระเบียบใหม่ค่อนข้างจะมากมาย 


ทำให้บนท้องถนนรถราค่อนข้างจะว่างมาก การเดินทางไปไหนมาไหนจะรวดเร็วผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน เพราะประชาชนยังคงหวั่นเกรงเรื่องของความปลอดภัย อีกทั้งราคาน้ำมันที่ขึ้นมาแพงเทียบเท่าประเทศไทยเราแล้ว 

จากเดิมราคาน้ำมันจะราคาถูกกว่าประเทศไทยประมาณ 6-9 บาทต่อลิตร ทำให้ผู้คนออกมาใช้รถยนต์กันน้อยลง ก็คงเหมือนที่ผมตั้งหัวเรื่องไว้ว่า บรรยากาศของฟ้าหลังฝนกระหน่ำไม่มีผิดครับ คงต้องรอเพียงต้นไม้หรือดอกเห็ดที่ได้รับอานิสงส์จากน้ำฝน แล้วเติบโตขึ้นนั่นเองครับ นี่น่าจะเป็นการรอคอยมาร่วมสองปีกว่าของชาวเมียนมาละครับ
       

ช่วงที่ไปถึงในคืนวันแรก น้องหอมเครือเลขาผมที่บริษัทส่งรถยนต์มารับ โดยมีคนขับรถมารอรับที่สนามบิน พอขึ้นรถเสร็จ น้องหอมเครือก็โทรศัพพ์เข้ามาบอกว่า คืนนี้ขอให้ผมปล่อยให้คนขับรถ ขับรถยนต์คันที่มารับกลับบ้านด้วยจะได้มั้ย เพราะดึกมากแล้ว 


หากนั่งรถโดยสารทั่วไปกลับบ้านเกรงจะไม่ปลอดภัย ผมก็อนุญาตให้ได้ แต่พอวางสายแล้ว ผมก็บ่นกับอาจารย์ปิติ ศรีแสงนาม ที่ท่านไปกับผมว่า “ทำไมไม่ให้นั่งรถแท็กซี่กลับน้า... พรุ่งนี้เช้าผมจะได้ขับรถพาอาจารย์ไปทานอาหารเช้ากัน” แล้วจึงหันไปบอกคนขับว่า พรุ่งนี้เช้าเจ็ดโมงครึ่งให้มารับผมที่บ้านนะ 
      

วันรุ่งขึ้นคนขับรถมารอแต่เช้า พอผมส่งคนขับรถเข้าบริษัทระหว่างทางเสร็จ ก็ขับรถเลยไปที่ร้าน “ชเวปะซุ่น” ซึ่งเป็นร้านขายชา-กาแฟ และเบเกอรี่ชื่อดังของกรุงย่างกุ้ง เพื่อไปทานอาหารเช้ากัน พอไปถึงปรากฎว่าทางร้านไม่มีบริการให้นั่งทานที่ร้านเสียแล้ว ให้เพียงซื้อเทคโฮมเท่านั้น 


ทำให้วันนั้นอาหารเช้าเลยได้ทานเฉพาะขนมปังกับกาแฟที่บริษัท พอกลับมาถึงที่บริษัท หลังจากทำงานและประชุมกับพนักงานเสร็จ เราก็ออกตลาดไปเยี่ยมชมตลาดกัน ในขณะที่สั่งให้เลขาไปเอากุญแจรถยนต์มาให้ ก็มีน้องที่บริษัทเป็นห่วงผม มาบอกว่า ถ้าเจอตำรวจหรือทหารเรียกให้หยุดรถ ต้องรีบหยุดเลยนะครับ อย่าขับฝ่าวิ่งต่อไปเป็นอันขาด มิเช่นนั้นจะถูกยิงแน่นอน 


ผมจึงถึงบางอ้อว่า ทำไมเมื่อวานนี้ น้องหอมเครือจึงบอกให้ผมให้คนขับรถขับรถยนต์กลับบ้าน เพราะเขารู้ว่าผมมีแขกพิเศษมาด้วย คงเกรงว่าผมจะขับรถพาแขกไปชมเมืองในตอนกลางคืน ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้นั่นเอง จะเห็นว่าในเวลาค่ำคืนทำไมรถราบนท้องถนนจึงน้อยมาก เพราะเราจะไม่รู้เลยว่าอันตรายอาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลานั่นเองครับ 
       

ส่วนบรรยากาศการค้า-ขายของร้านอาหาร ก็ปิดตัวลงค่อนข้างจะเยอะมาก ไม่เฉพาะร้านดังๆ อย่างเช่นร้านชเวปะซุ่นเท่านั้น ร้านอาหารเมียนมาที่ผมชอบพาแขกพิเศษไปทานประจำหลายร้านก็ปิดตัวลงเช่นกัน 


ในขณะที่ร้านอาหารที่ไชน่าทาวน์ หรือแถบถนนมหาบันดูล่า ถนนอนอระธา ถนนโบโช๊ะอองซาน ซึ่งเป็นถนนที่น่าจะหาอาหารทานได้ง่ายที่สุด ก็ปิดร้านไปเยอะทีเดียว เพราะในวันต่อมา ผมได้นับพบกับอาจารย์เปิ้ลที่ใกล้ๆ ไชน่าทาวน์ กลางคืนจะพาอาจารย์เปิ้ลไปเลี้ยงข้าวเย็น 


เราขับรถยนต์วนหาร้านอาหารแถบถนนทั้งสามสาย ผ่านไปสาม-สี่รอบ ก็ยังหาร้านอาหารที่พอดูได้ไม่มีเลยครับ สุดท้ายต้องไปนั่งทานร้านขายปิ้งย่างกัน แต่ภายในร้านมีเราเพียงสามคนเท่านั้น จนกระทั่งจะกลับ จึงมีลูกค้าเข้ามาทานอีกหนึ่งคนเท่านั้น ร้านอาหารคงอยู่กันลำบาก รายได้คงไม่พอรายจ่ายแน่นอนครับ
         

ส่วนร้านขายอาหารข้างทาง เท่าที่สังเกตดูตามถนนหนทาง ก็ยังพอจะมีให้เห็นเยอะพอควร นั่นเป็นเพราะอาหารเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิตก็จริงอยู่ แต่ร้านอาหารที่ราคาสูงกว่าร้านข้างทางทั่วไป จึงทำให้ประชาชนผู้คน หันไปบริโภคสินค้าที่ราคาถูกนั่นเองครับ 


ทางเลือกคงจะต้องหันกลับไปในยุคปี 1990 อีกครั้ง ในยุคนั้นร้านข้างทางจะเยอะมาก แม้กระทั่งร้านเจะโอหรือก๋วยเตี๋ยว ก็จะเป็นการขายภายในบ้านตนเอง ไม่มีใครทำธุรกิจแฟรนไชส์เหมือนปัจุบันนี้ครับ 


ร้านหาบเร่ในยุคนั้นที่ยังหลงเหลือมาถึงปัจุบันนี้ ก็มีหาบเร่อาหารเมียนมาทั่วไปและร้านขายหลู่ๆ ซึ่งเป็นเครื่องในสัตว์(หมู)เสียบไม้ต้มในน้ำพะโล้ และให้คนมานั่งทานข้างถนน ลูกค้าที่มาทานก็หยิบเอาเอง แล้วก็เอาไม้เสียบเครื่องในจุ่มลงไปในกระป๋องน้ำจิ้ม พอทานเสร็จแม่ค้าจะนับไม้เสียบเพื่อคิดเงิน 


ซึ่งผมชอบไปนั่งทานแถบข้างถนนมหาบันดูล่ามาก ผมจำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง เห็นเด็กตัวเล็กๆ ที่นั่งข้างๆ ผม จุ่มน้ำจิ้มไปอมไปรูดไป เนื้อบนไม้เสียบไม่หมดเสียที ผมมองไปก็ขำไม่ออก เราคงจิ้มกระป๋องน้ำจิ้มอมรูดนี้มาไม่รู้นานแค่ไหนแน่ๆ เลยครับ
      

ปัจุบันนี้ร้านข้างถนนกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง คงจะเป็นเพราะพิษเศรษฐกิจ ทำให้ทางเลือกของประชาชนน้อยลง แต่นับจากนี้ไป เราคงไม่สามารถจะทำนายได้ว่า เศรษฐกิจของประเทศเมียนมา จะกลับมาสู่ภาวะปกติได้อีกครั้งเมื่อไร 


ในมุมมองของปรมาจารย์ทางด้านเศรษฐกิจของเมืองไทย อย่างอาจารย์ปิติ ท่านก็มองว่าคงจะเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยกับท่าน ไว้อาทิตย์หน้าผมจะเล่าถึงมุมมองด้านต่างๆ ให้อ่านต่อนะครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ