*** ใครจะไปเชื่อว่า “แอพพลิเคชั่น” การซื้อขายหลักทรัพย์ที่นักลงทุนรายย่อยใช้มากที่สุดซึ่งมีชื่อว่า Streaming ที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นผู้คิดค้นและเจ้าของ รวมถึงภูมิใจนักหนาว่า Streaming เป็นแอพฯ ที่ครองส่วนแบ่งของการซื้อขายหุ้นได้เกือบ 90% ของการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนรายย่อยในแต่ละวัน
และอย่าได้ลืมไปว่า Streaming ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยเงินค่าสมาชิกที่เก็บกับโบรกเกอร์ในสัดส่วนล้านละ 50 บาท ซึ่งในแต่วันมีการซื้อขายวันละหลายหมื่นล้านบาท ก็คิดเอาก็แล้วกันว่าเงินที่ทาง ตลท. ได้ในแต่ละวันนั้นจะมากขนาดไหน
นี่ยังไม่รวมไปถึงการที่เงินค่าสมาชิกที่โบรกเกอร์จ่ายให้กับ ตลท. ก็คือเงินที่โบรกเกอร์เก็บเงินมาจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุน ซึ่งนั้นก็ไม่ต่างไปจากการที่นักลงทุนไม่ว่าจะรายใหญ่ หรือ รายย่อย คือ เจ้าของ Streaming ตัวจริง เพราะเป็นผู้ที่ต้องจ่ายเงินไปเพื่อการสร้างและพัฒนา Streaming ขึ้นมานั่นเอง
ดังนั้นการที่ Streaming เกิดการแฮงค์จน “ล่มแล้วล่มอีก” แบบที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 20 มีนาคม และก่อนหน้านี้อีกหลายครั้งสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนคิดเป็นเงินจำนวนมหาศาล ขณะเดียวกันก็เกิดขึ้นบ่อยไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบในแต่ละปี และไม่ใช่แค่ที่เกิดกับการซื้อขายหุ้น เพราะความเสียหายยังรวมไปถึงการเทรดฟิวเจอร์ (Futures) เข้าไปอีกด้วย
ขณะเดียวกัน การที่ทาง ตลท. พยายามที่จะยกระดับ Streaming ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มศูนย์กลาง เชื่อมโยงไปสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโตเคอร์เรนซี ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม ก็อาจสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนในแบบที่ประเมินไม่ได้เลยทีเดียว
อย่าลืมว่าแค่เพียงการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหุ้นและฟิวเจอร์ทั้งที่เป็นการซื้อขายแบบไม่เต็มวันยังมีปัญหาได้ขนาดนี้ เช่นนั้นความเสียหายเนื่องจากความ “เสถียรภาพที่อ่อนด้อย” ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความเสียหายหนักไปกว่าเดิม เพราะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล คือ ตลาดที่มีการซื้อขายอยู่ตลอดเวลา
ก็เอาเป็นว่า ตอนนี้ถ้ามีปัญญาทำอะไรให้ดีขึ้นก็ขอให้รีบทำ เพราะถึงกฎหมายจะยังไม่ได้บังคับให้ต้องรับผิดชอบกับความเสียหาย แต่สามัญสำนึกก็ควรจะมีเอาไว้บ้างนะคะ ไม่ใช่ว่าทำผิดแล้วผิดอีก ...ผิดช้ำซากแต่ไม่ยอมสำนึก เพราะถ้าถึงขนาดนี้เจ๊เมาธ์ก็พูดไม่ออกแล้วค่ะ
*** เจ๊เมาธ์เคยบอกมาหลายครั้งแล้วว่า JTS ZIGA BROOK และ TTA ซึ่งอ้างตัวว่าอิงอยู่กับราคาของคริปโตฯ ซึ่งเน้นไปที่ Bitcoin แม้ว่าจะพยายาม “เกาะกระแส” ทำตัวทำราคาหุ้นให้ตอบสนอง กับ ราคาของคริปโตฯ ที่ขยับตัวขึ้นมามาก แต่ถ้าสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่าเป็นไปอย่าง “เต็มฝืน”
ทั้งนี้ก็เป็นเพราะในความเป็นจริงบริษัทเหล่านี้ ได้ถอยออกมาจากธุรกิจ “คริปโตฯ” ออกมาไกลมาก จนบางบริษัทแทบจะไม่เหลือความเกี่ยวโยงเลยสักนิดด้วยซ้ำไป
อย่างในกรณีของ JTS ซึ่งราคาหุ้นเคยปรับตัวขึ้นไปเกือบจะแตะ 600 บาท/หุ้น เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว หลังจากแจ้งตลาดฯ ว่าได้ลงทุนมหาศาลในธุรกิจ “เหมืองขุดบิตคอยน์” จนทำเอานักลงทุนติดดอยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ภายหลังก็พบว่า JTS ประสบภาวะ “ขาดทุนหนัก” หลังจากที่ราคา Bitcoin ไม่เป็นไปอย่างที่คิด จนท้ายที่สุดต้องยอม “ยกธงขาว” ด้วยการปิดตัว “เหมืองขุดบิตคอยน์” ที่มี โดยเปิดทางถอยว่า JTS ยังเหลือบางส่วนอยู่ในต่างประเทศ...ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่
เช่นเดียวกันกับกรณีของ ZIGA ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยเปิดตัว “เหมืองขุดบิตคอยน์” แต่เมื่อราคา Bitcoin ไม่เป็นไปอย่างที่หวัง ZIGA ก็ได้ยอมรับได้หยุดธุรกิจเหมืองขุดที่ว่าไปแล้วเช่นกัน
ส่วนในกรณีของ BROOK และ TTA ซึ่งแม้จะไม่ได้ทำ “เหมืองขุด” แต่ก็เป็นบริษัทแรกๆ ที่เปิดวิสัยทัศน์ในเรื่องการลงทุนในคริปโตฯ ออกมาก่อนใคร ก่อนที่ในที่สุดก็เจ๊งไปก่อนใครเช่นเดียวกัน และถึงแม้ว่าตอนนี้ BROOK จะกลับมามีผลการดำเนินงานที่เป็นบวก แต่ผลงานที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจคริปโตฯ แต่อย่างใด
ส่วนในกรณีของ TTA รายนี้หนักหน่อย เพราะได้อัดเงินจำนวนมากลงไปที่ Zipmex Pte. แพลตฟอร์มให้บริการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งมีปัญหาสภาพคล่องจนต้องประกาศระงับการถอนเงินของลูกค้า เนื่องจาก Zipmex ได้รับความเสียหายจากการเข้าไปลงทุนใน Babel Finance และ Celsius ซึ่งผู้ให้กู้ Crypto ที่ประสบปัญหาล้มละลาย และต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
จนในที่สุดก็ดูเหมือนว่า TTA ต้องยอมถอย และปล่อยให้ Zipmex เป็นไปตามกรรม ขณะที่ทาง TTA เองก็ต้องรับกรรมจากเงินที่หายไปเหล่านั้นด้วยเช่นกัน
ที่เจ๊เมาธ์ยกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะไม่อยากจะให้กระแสของธุรกิจเหรียญคริปโตฯ ซึ่งกลับมาแรงอีกครั้ง ต้องถูกใคร หรือ บริษัทใดที่ไม่ใช่ “ของจริง” หลอกกินส่วนต่างของราคาหุ้น เพียงอาศัยการ “เกาะกระแส” จากนักลงทุนรายย่อยที่รู้ไม่ทัน เรื่องมันก็มีเท่านั้นเองเจ้าค่ะ
*** กลับไปที่ บมจ. ซาเล็คต้า หรือ ZAA ซึ่งก่อนนี้เคยใช้ชื่อว่า MPIC ก่อนที่จะมาเป็นกระแส หลังจากที่เปลี่ยนมือมาจาก “ชินวัฒน์ อัศวโภคี” ซึ่งตอนนี้ก็ถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษในปัญหาที่เกี่ยวกับ STARK มาเป็น “ขันเงิน เนื้อนวล” แร็ปเปอร์คนดังนั่นเอง
โดยในเรื่องของ ZAA ความน่าสนใจก็อยู่ตรงที่ราคาหุ้นของบริษัท เคยปรับราคาขึ้นไปแตะ 3.18 บาท ก่อนที่จะปรับราคาลงมาเหลือเพียง 1.20-1.30 บาท/หุ้น เนื่องจากบริษัทยังขาดทุน
ขณะเดียวกัน การเข้ามานั่งในตำแหน่งผู้บริหารของ “ขันเงิน” ซึ่งบอกว่าจะมาพร้อมกับธุรกิจใหม่หลายอย่าง แต่จนแล้วจนรอด นอกจากชื่อใหม่ที่เปลี่ยนมาเป็น ZAA เจ๊เมาธ์ก็ยังไม่เห็นว่า มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปอีก
และเอาจริงๆ ก็บอกเลยว่า จนถึงตอนนี้คำครหาที่ว่า “ขันเงิน เนื้อนวล” คือมวยแทนที่ถูกจับมานั่งแทนที่ “ชินวัฒน์ อัศวโภคี” ก็ยังก้องอยู่ในหูของเจ๊เมาธ์อยู่ตลอดมา ดังนั้น สตอรี่เรื่องธุรกิจใหม่หลายอย่าง ก็อาจจะเป็นเพียงน้ำลายก็ได้เช่นกันค่ะ